“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ประโยคที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 เป็นประโยคทองที่ประชาชนชาวไทยได้ยินได้ฟังบ่อยครั้ง และเป็นประโยคที่ประจักษ์ชัดว่าพระองค์ได้ทรงดำรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม ดั่งที่พระองค์ท่านได้มีพระราชกระแสรับสั่งตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันที่ท่านเสด็จสวรรคต
ด้วยพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติมาโดยตลอด เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าพระองค์ท่านทรงอุทิศพระวรกายและพระสติปัญญา ทรงประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างอันประเสริฐ ในการที่จะนำความสุข ความเจริญ และความสงบยั่งยืนมาสู่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า
พระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยมีมากมายเหลือเกิน ประชาชนคนไทยเรียกพระองค์ท่านติดปากว่า “พ่อของแผ่นดิน” ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าล้วนรู้สึกว่าเราได้สูญเสียบุคคลที่เรารักยิ่งประดุจเหมือนพ่อ และนำมาซึ่งความเสียใจและอาลัยไปทั่วทั้งแผ่นดิน
แต่ในความจริงพระองค์ท่านทรงเป็นประหนึ่ง “ครูของแผ่นดิน” ที่ยิ่งใหญ่ของโลกด้วย
สมดังพระราชสมัญญาที่กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมถวาย “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ด้วยทรงมีพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์แก่วงการศึกษาเหลือคณานับ ทรงส่งเสริมการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ รวมทั้งกองทุนที่ก่อประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชน โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่สำคัญยิ่งแก่สังคมไทยและวงการศึกษา
พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านเกี่ยวกับการศึกษาในบ้านเรามีมากมายจริงๆ ที่พระองค์ท่านทรงทำให้กับปวงชนชาวไทยได้เห็นเป็นแบบอย่าง นับเป็นคุณูปการแก่วงการศึกษาในบ้านเราอย่างยิ่ง สมกับเป็น “ครูของแผ่นดิน” ด้วยทรงมีคุณลักษณะดังนี้
ประการแรก - นักการศึกษา
เป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสายตาของชาวโลกว่าพระองค์ท่านทรงเป็นอัจฉริยะ กษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถและมีความรอบรู้ รู้จริง รู้ลึก และรู้รอบ มีความเป็นนักการศึกษาอย่างถ่องแท้ เข้าใจเรื่องการศึกษาของไทยมาก่อนยุคสมัยที่จะมีการปฏิรูปการศึกษาเสียอีก จะเห็นได้จากพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา, วันพระราชทานปริญญาบัตร หรือโอกาสใดๆ ก็ตาม พระองค์ท่านจะทรงให้โอวาทที่เหมาะกับโอกาสต่างๆ ได้อย่างแจ่มชัดและเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้คนนั้นๆ
ประการที่สอง - นักพัฒนา
เป็นคุณลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่งของความเป็นครู มีความรอบรู้ ดังจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และวิสัยทัศน์ ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาในระบบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนจิตรลดา ขึ้นสำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา บุตรข้าราชบริพาร ในพระราชวัง ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้เข้าศึกษาด้วย และต่อมายังทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งโรงเรียนราชวินิต ขึ้นในช่วงปี 2512 รวมทั้งการที่ทรงลงมาพระราชทานสอนนักเรียนในโรงเรียนวังไกลกังวลด้วยพระองค์เองอีกต่างหาก
เมื่อได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบริเวณชายแดนทุรกันดาร ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาของเด็กและเยาวชน จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงเรียนให้แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ฯ นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนที่ทรงจัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ พระราชดำริ และโรงเรียนที่ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
ด้านการศึกษานอกระบบ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพระดาบสขึ้น ด้วยความห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องการแสวงหาความรู้แต่ขาดโอกาสในการศึกษา ให้ได้ศึกษาวิชาชีพแขนงต่างๆ เพื่อให้ผู้ผ่านหลักสูตร สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ตามความถนัดและความสามารถของตน
ส่วนการศึกษาตามอัธยาศัย ทรงพระราชทานความรู้แก่ประชาชนผ่านศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทรงตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวมสรรพวิชา วิชาการ การค้นคว้าทดลอง และการสาธิตด้านเกษตรกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้สำหรับนำไปสู่การปฏิบัติจริงของเกษตรกร
ประการที่สาม - นักปฏิบัติ
พระองค์ท่านทรงมีเทคนิควิธีสอน การถ่ายทอดความรู้ ได้พระราชทานความรู้ในศาสตร์และศิลป์ เพื่อประโยชน์อันแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าอย่างเหมาะสมชัดเจน เช่นเดียวกับครูสั่งสอนศิษย์ ซึ่งพระองค์ท่านก็ได้เคยทรงสอนที่โรงเรียนวังไกลกังวลด้วยพระองค์เองด้วย
จะเห็นได้จากพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชดำริหลากหลายประการ ทรงแนะ ทรงสอน และทรงเป็นแบบอย่างผ่านพระราชกรณียกิจที่ทรงทำเพื่อประโยชน์สุขแก่พสกนิกรทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ทรงให้ความสำคัญแก่ครูและวิชาชีพครู ทรงสั่งสอนให้ครูตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านพระราชทาน แก่ครูอาวุโสในโอกาสที่คณะครูอาวุโสเข้าเฝ้าฯรับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติเมื่อวันอังคารที่ 9 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีสาระสำคัญให้ครูได้ตระหนักในความสำคัญและหน้าที่แห่งตนเพื่อน้อมน้ำใจและยึดถือเป็นแนวปฏิบัติเป็นราชบูชา ดังนี้
“งานของครูเป็นงานพิเศษ ผิดแปลกกว่างานอื่นๆ กล่าวในแง่หนึ่งที่สำคัญก็คือว่า ครูจะหวังผลตอบแทนเป็นยศศักดิ์ความร่ำรวยหรือประโยชน์ทางวัตถุเป็นที่ตั้งไม่ได้ ผลได้ส่วนสำคัญจะเป็นผลทางใจ ซึ่งผู้เป็นครูแท้ก็พึงใจและภูมิใจอยู่แล้วความเป็นครูนั้น ผูกพันใจคนไว้ได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องซื้อหาหรือใช้อำนาจราชศักดิ์ข่มขู่เอามา ขึ้นชื่อว่าครูกับศิษย์แล้วที่จะลืมกันได้นั้นยากนัก ผู้ที่จะไม่รู้จักไม่เอื้อเฟื้อ ครูดูเหมือนจะมีแต่คนที่กำลังลืมตัวมัวเมาในลาภยศอย่างใด อย่างหนึ่งอยู่เท่านั้น ฉะนั้น ครูจึงไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องแสวงหาความพอใจในประโยชน์ทางวัตถุให้มากจนเกินจำเป็น เพราะหากหันมาหาประโยชน์ทางวัตถุเกินไปแล้ว ก็จะทำหน้าที่ ครู หรือเป็นครูได้ไม่เต็มที่”
ประการที่สี่ - นักวิจัย
ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างมีระบบ ด้วยวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ผลงานชิ้นสำคัญ คือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เพื่อการบำบัดน้ำเสีย และทรงตั้งห้องปฏิบัติการด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและการวิจัยด้านอื่นๆ ทั้งยังทรงวิทยาการอย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง ด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยการศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง การสังเกต การทดลอง การวิจัย ทรงแสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจ
อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานแนวพระราชดำริก่อตั้งสถานศึกษาเพื่องานวิจัยขั้นสูง ให้รับนักเรียนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์และพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น โรงเรียนวังไกลกังวล ที่ทรงรับอุปถัมภ์ และทรงเป็นครูในรายการ “ศึกษาทัศน์” ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ทรงสอนด้วยพระองค์เอง ทรงพานักเรียนไปศึกษาในสถานที่จริง
ประการที่ห้า - นักภาษาศาสตร์
ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการใช้ภาษา แม้จะทรงศึกษาในต่างประเทศ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แต่ทรงพระปรีชาสามารถในการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องชัดเจน ลุ่มลึก ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นครูภาษาไทยของแผ่นดิน ด้วยมีพระอัจฉริยภาพทางภาษาไทย และทรงเห็นความสำคัญของภาษาไทยว่าเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ เป็นเครื่องมือสื่อสารให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน เป็นรากฐานทางวัฒนธรรม ดังจะเห็นได้จากงานพระราชนิพนธ์ กระแสพระราชดำรัสต่างๆ ทรงอุปถัมภ์หน่วยงาน องค์กรที่ปฏิบัติงานด้านส่งเสริมภาษาไทยอยู่เสมอ แม้กระทั่งงานเขียน งานแปล ก็ทรงมีพระอัจฉริยภาพอย่างมาก
ทั้งห้าประการเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคุณลักษณะที่สำคัญของคนเป็นครู พระองค์ท่านทรงมีครบทุกประการ และทุกประการที่พระองค์ท่านมี ก็จะทรงยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมเสมอ ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า
“การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล”
พระองค์ทรงเป็น “ครูของแผ่นดิน” อย่างแท้จริง