xs
xsm
sm
md
lg

เรียน “โขน” ประโยชน์คูณสอง “ออกกำลังกาย-ได้สืบสานวัฒนธรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์ และปิยะนันท์ ขุนทอง

“โขนไทย” เป็นนาฏยกรรมชั้นสูงของสยามประเทศ ที่มีท่วงท่าการร่ายรำที่อ่อนช้อย งดงาม เครื่องแต่งกายมีความวิจิตรตระการตา จนเป็นที่ยอมรับและชื่นชมในสายตาของคนต่างชาติ นับเป็นศิลปวัฒนธรรมชั้นครูที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน การอนุรักษ์ให้ “โขนไทย” เป็นมรดกของชาติไทยไม่ให้สูญหาย จึงเป็นเรื่องสำคัญ



วิธีการหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ “โขนไทย” ไม่ให้สูญหาย ก็คือ การสอนโขนให้แก่เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่สืบทอดต่อไปอีกยุคหนึ่ง แต่รู้หรือไม่ การเรียนโขนนอกจากจะช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยไม่ให้สูญหายแล้ว ยังได้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพร่างกายด้วย เพราะถือเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง

เป็นที่ทราบกันดีว่าคนที่เรียนโขนจะต้องมีการดัดแขน ดัดข้อมือ ดัดหลัง ทำให้เกิดการยืดเหยียดของข้อ เล้นเอ็น และกล้ามเนื้อ รวมไปถึงการเดิน การย่างเท้า การร่ายรำท่าต่างๆ โดยเฉพาะการยกตัวในฉากสู้รบ เรียกได้ว่าจะต้องใช้พละกำลังอย่างมากเช่นกัน ถือว่าเป็นหนึ่งในการแสดงที่ช่วยให้ผู้เล่นมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงด้วย ที่สำคัญยังมีส่วนช่วยในเรื่องการทำงานของสมองด้วย

นายเจษฎา อานิล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โขน” ไม่เพียงแต่เป็นศิลปะการแสดงประจำชาติไทย แต่ยังเป็นกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ที่ช่วยในการบริหารร่างกาย และกล้ามเนื้อในหลายๆ ส่วนด้วย เพราะเป็นการประยุกต์ใช้ทักษะทั้งทางด้านร่างกาย การรับรู้ และประสาทสัมผัส เห็นได้จากใช้ร่างกายผ่านท่าทางต่างๆ ของ 4 ตัวละคร ทั้งตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง โดยแต่ละท่าจะมีความเคลื่อนไหวร่างกายแตกต่างกัน อย่างตัวลิง เป็นตัวละครที่มีท่าทางและการเคลื่อนไหวมากพอสมควร โดยเฉพาะบริเวณขา เมื่อวัดค่าการเคลื่อนไหวของร่างกาย (PA) ออกมาจึงพบว่า สูงกว่าตัวละครอื่นๆ รวมไปถึงค่าทางสมอง (Brain Activity) ก็พบว่าสูงเช่นกัน

“ทุกตัวละคร ถ้ามีการเคลื่อนไหว 1 ครั้ง มันจะทำให้สมองมีการประสานงานในหลายส่วน หลักๆ ก็จะเป็นสมองที่ควบคุมส่วนเคลื่อนไหว ตามมาด้วยสมองที่ควบคุมการในเรื่องของการฟัง เพราะการแสดงโขนต้องฟัง และจับจังหวะด้วย สุดท้ายคือ สมองที่ควบคุมการทรงตัว ดังนั้น จึงพูดได้ว่า โขนดีต่อกายแล้ว ยังดีต่อการพัฒนาระบบสมองในส่วนต่างๆ ด้วย” นายเจษฎา กล่าว

นางตรีรัตน์ เรียมรักษ์ หัวหน้าสำนักงานสถาบันคึกฤทธิ์ กล่าวว่า ในงานประชุมนานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 16 - 19 พ.ย. 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะมีการนำการแสดงโขนจากสถาบันคึกฤทธิ์ ตอน “ระบำวีระชัยลิง” และตอน “ยกรบ” มาร่วมแสดงเปิดงานด้วย และจะมีการติดตั้งเครื่องวัดค่ากิจกรรมทางกาย (PA) เพื่อจับการเคลื่อนไหวของตัวละครแต่ละตัวให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยว่า มีการเผาผลาญพลังงานมากน้อยเพียงใด และช่วยให้มีกิจกรรมทางกายมากน้อยเพียงใด

“ขณะนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พยายามสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนโขนไทยในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้เกิดการมีกิจกรรมทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งจากการติดสมาร์ทโฟน อย่างสถาบันคึกฤทธิ์ที่มีการเรียนการสอนโขนให้แก่เด็กและเยาวชน ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เพราะถือเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะช่วยสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังช่วยให้ผู้เรียนผู้เล่นมีสุขภาพแข็งแรง เพราะการเรียนหรือเล่นโขนมีการเคลื่อนไหวร่างกาย มีการเสียเหงื่อ ทำให้เกิดการเผาผลาญ นอกจากนี้ ยังได้การออกแรงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ระบบการหายใจทำงานดีขึ้น เป็นต้น” นางตรีรัตน์ กล่าว

ขณะที่ครูโขน ครูจตุพร รัตนวราหะ อายุ 80 ปี ศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์ ปี 2552 หนึ่งในครูผู้สอนโขนให้แก่เยาวชนที่สถาบันคึกฤทธิ์ สะท้อนมุมมองว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนสนใจหันมาเรียนโขนมากขึ้น อย่างสถาบันคึกฤทธิ์เองก็มีเยาวชนสนใจมาเรียนจำนวนมาก เท่าที่เปิดการสอนมามีเด็กมาเรียนแล้ว 600 - 700 คน ซึ่งเดิมทีเราจำกัดอายุให้แค่เด็กและเยาวขน แต่ขณะนี้ไม่ได้จำกัดอายุแล้ว เพียงแต่จากเดิมที่จัดการเรียนการสอนฟรี ก็จะมีค่าสมัครเรียนแรกเข้าคนละ 500 บาท แต่สามารถมาเรียนได้ตลอดไม่มีกำหนดว่าหมดคอร์สเรียนเมื่อไร เพียงแต่ต้องจัดหาผ้าแดงมานุ่งระหว่างเรียนเอง หรือจะให้สถาบันฯ จัดซื้อให้ก็ได้ ทั้งนี้ รู้สึกยินดีและดีใจที่เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจการแสดงโขนมากขึ้น ไม่อยากให้สูญหาย เพราะปัญหาที่น่าห่วงคือ ครูโขนทั้งหลายล้วนเริ่มแก่เฒ่าและล้มหายตายจากกันไปมากแล้ว สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการผลิตครูนาฏศิลป์หรือครูโขนเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับปริมาณเด็กและเยาวชนที่สนใจเรียนเพิ่มขึ้น และเพื่อไม่ให้ความรู้ทางด้านนาฏยกรรมนี้สูญหาย

“การสอนโขน คนเป็นครูไม่ใช่เพียงแค่นั่งดูว่าเด็กทำท่าถูกต้องหรือไม่ แต่จะต้องลงไปจับ ลงไปจัดท่าทาง ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง จึงจะสามารถสอนท่าทางที่ถูกต้องได้ ส่วนที่ปัจจุบันมีการสนับสนุนให้คนหันมาเรียนมาเล่นโขนเพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพถือเป็นเรื่องจริง เพราะดีต่อสุขภาพจริงๆ” ครูจตุพร กล่าว

ด้านกัปตันสินนภ เทพรักษา อายุ 48 ปี กัปตันสายการบินไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เรียนโขนที่สถาบันคึกฤทธิ์ เล่าว่า ที่สนใจเข้ามาเรียนโขน เพราะไปรับส่งลูกเรียนโขนเป็นประจำที่ตำหนักปลายเนิน หรือวังคลองเตย แล้วเกิดความรู้สึกสนใจ อยากที่จะลองเรียนดูบ้างว่าเป็นอย่างไร ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ตำหนักปลายเนินก็ให้โอกาสตนได้เรียน แม้จะอายุมากแล้วก็ตาม จนเมื่อที่นี่ไม่มีการเรียนการสอนอีก ก็ไพาลูกมาสมัครเรียนที่สถาบันคึกฤทธิ์ ก็เข้าไปสมัครด้วย ตอนแรกก็จะไม่ให้เรียน แต่ครูก็ให้โอกาสในการเรียน เพราะมีพื้นฐานบ้างจากที่เก่า ก็เลยเรียนเรื่ยมาจนตอนนี้เรียนได้ประมาณ 2 - 3 ปี โดยตนเลือกเป็นตัวยักษ์ เพราะจากรูปร่างแล้วน่าจะเหมาะกับตัวยักษ์ แต่ตนจะมีปัญหาเพราะตารางการบิน ทำให้ไม่สามารถมาเรียนทุกวันอาทิตย์ได้ ดังนั้น เมื่อวันไหนที่ได้เข้ามาเรียนก็ต้องตั้งใจอย่างเต็มที่ เก็บเกี่ยวให้ได้มากที่สุด

“ในที่ทำงานผมก็ถือว่ามีความอาวุโส แต่พอมาเรียนโขนที่นี่แล้วต้องเรียนร่วมกับเด็กๆ ก็เหมือนกับตัวเองได้กลับมาเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง บางอย่างเราก็ต้องทำเด็กๆ ว่า ท่านี้เป็นอย่างไร ทำถูกหรือไม่ เพราะถือว่าเขาเป็นรุ่นพี่ มีประสบการณ์ในการเรียนมากกว่าเรา ถึงได้มีคำพูดบอกว่า ไม่มีใครแก่เกินเรียนรู้ ซึ่งผมก้ชอบมากที่ได้มาเรียน เพราะถือเป็นการรีแลกซ์ตัวเอง ได้มาอยู่ร่วมกับเด็กๆ ได้ทำตัวเป็นแบบเด็กๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก นอกจากนี้ ผมยังมองว่าการเรียนโขนยังทำให้สุขภาพร่างกายดีด้วย เพราะช่วยให้เกิดการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ที่สำคัญแต่ละท่วงท่าก็มีจังหวะของเขาเอง ซึ่งจะต้องจับจังหวะให้ดี ต้องมีสมาธิและคุมสติให้ดี เพราะหากสมาธิหลุดก็อาจจะทำท่าผิดพลาดไปได้เลย”

เรียกได้ว่า “โขนไทย” มีประโยชน์อย่างมาก ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่ และนำมาเป็นกิจกรรมทางกายที่ช่วยให้ “คนไทย” สุขภาพดีขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น