สสส. ยันแกว่งแขนลดพุง ไม่อันตราย หากทำถูกวิธี เผย 3 ท่าแกว่งแขนผิด ทำให้บาดเจ็บ แนะวิธีแกว่งแขนที่ถูกต้อง ทำวันละ 30 นาทีช่วย “ลดพุง ลดโรค” ได้ผล
จากกรณีมีการแชร์ข้อมูลเตือนการแกว่งแขนออกกำลังกาย ว่า ไม่ดีต่อกล้ามเนื้อบ่าไหล่ อาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาด มีผลกระทบถึงกระดูกและเส้นเลือด โดยเฉพาะผู้สูงอายุไม่ควรทำ เพราะเป็นสาเหตุให้เจ็บป่วย ระยะสั้นจะยังไม่เห็นอาการ แต่ถ้าทำติดต่อนาน ๆ จะมีผลเสียมากขึ้นนั้น
รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูก ข้อ และวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวว่า สสส. รณรงค์ เรื่องการแกว่งแขน ผ่านแคมเปญ “ลดพุง ลดโรค” มาตั้งปี 2556 โดยมีผู้สนใจนำวิธีการนี้ไปใช้ออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก การแกว่งแขนถือเป็นศาสตร์ที่มีองค์ความรู้ถ่ายทอดมานานหลายร้อยปี เป็นกิจกรรมทางกายอย่างง่ายที่เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย แต่ต้องมีการปฏิบัติอย่างถูกวิธีจึงจะได้ประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บ จากการวิจัย พบว่า การแกว่งแขนสามารถเผาผลาญได้ถึง 230 แคลอรี่ต่อชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับเดิน และไม่เกิดผลเสียใด ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หลักการแกว่งแขนที่ถูกต้อง คือ แกว่งแขนให้ถูกวิธีต่อเนื่องสะสมอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน จะช่วยพัฒนาระบบไหลเวียนโลหิตของร่ายกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรง หรือแกว่งแขนสะสมครั้งละ 10 นาที รวม 30 นาทีต่อวัน เป็นประจำทุกวันสม่ำเสมอควบคู่กับการควบคุมอาหารจะช่วยให้สามารถลดพุง ลดโรคได้สำเร็จ
“พอบอกแกว่งแขนลดพุง ลดโรค หลายคนอยากให้เกิดผลทันตา เลยทำแรง ๆ โดยแกว่งแขนแรงกระชากกล้ามเนื้อแขน หวังเผาผลาญให้ได้มาก ๆ จนอาจเกิดอาการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นของไหล่ได้ ขณะเดียวกัน การอักเสบที่หัวไหล่หรือบ่า ถือเป็นโรคฮิตที่มีผู้มารับการรักษาจากแพทย์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้อายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากร่างกายมีความเสื่อมโทรมตามเวลา มีการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวหนักเกินไป ดังนั้น ปัญหาการเจ็บไหล่จึงมักจะมาจากสาเหตุอื่น ๆ ไม่ได้เกิดจากการแกว่งแขน หรือกรณีที่มีอาการบาดเจ็บอยู่แล้วพอมาแกว่งแขนด้วยท่าทางผิด ๆ หรือทำแรง ๆ ก็ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ ซึ่งการแกว่งแขนผิดวิธีที่พบบ่อยมี 3 ประเภท คือ 1. แกว่งแขนแรงเกินไป 2. คว่ำหรือหงายมือ ไม่ปล่อยมือทั้งสองข้างลงตามธรรมชาติ 3. แกว่งแขนพร้อมกับย่อเข่าและมีการขย่มตัวขึ้นลงเบา ๆ ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บของข้อเข่าได้ ขอย้ำว่า การบริหารร่างกายด้วยการแกว่งแขนเป็นกิจกรรมที่ปฏิบัติได้ง่าย ทำได้ทุกสถานที่ สะดวก ปลอดภัย โดยไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บแก่ร่างกายหากปฏิบัติอย่างถูกวิธี แต่หากปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะมีผลเช่นเดียวกับการออกกำลังกายทุกประเภทคือทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้เช่นกัน” รศ.นพ.ปัญญา กล่าว
รศ.นพ.ปัญญา กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการแกว่งแขนที่ถูกวิธีทำได้ง่าย ๆ โดยการยืนตรง งอเข่าเล็กน้อยเพื่อการทรงตัว เท้าสองข้างแยกออกจากกันให้มีระยะห่างเท่ากับหัวไหล่, ปล่อยมือทั้งสองข้างลงตามธรรมชาติไม่คว่ำหรือหงายมือ, จากนั้นแกว่งแขนเบา ๆ เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา เมื่อแกว่งไปข้างหน้าจะรู้สึกลำตัวเซไปข้างหน้าเล็กน้อยใช้ฝ่าเท้ารับน้ำหนักถ่ายน้ำหนักไปที่ปลายเท้าเพื่อสร้างสมดุลกับลำตัวที่เซไปข้างหน้า เมื่อแกว่งไปข้างหลังก็ถ่ายน้ำหนักมาที่ส้นเท้าเพื่อสมดุลกับน้ำหนักลำตัวที่เซไปข้างหลัง ซึ่งการเซไปข้างหน้าและหลังนั้น เป็นผลจากการแกว่งแขนนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การแกว่งแขนเป็นภาพลวงตาว่าใช้กำลังแขน แต่ที่จริงเราได้ออกกำลังโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ด้านล่างถึง 12 มัด เช่น กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นข้าด้านหน้าและด้านหลัง กล้ามเนื้อส่วนน่องด้านสันหน้าแข้งและน่องด้านหลัง กล้ามเนื้อที่ฝ่าเท้า ดังนั้น การแกว่งแขนจะเหมือนกับการออกกำลังกายโดยการเดิน เพียงแต่การเดินร่างกายมีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าแกว่งแขนสลับซ้ายขวา ส่วนการแกว่งแขนนั้นร่างกายอยู่กับที่แกว่งแขนซ้ายและขวาไปข้างหน้าและข้างหลังพร้อมกัน เมื่อคนเห็นประโยชน์จากการแกว่งแขนซึ่งเป็นกุศโลบายให้ขยับร่างกายแทนการเนือยนิ่งก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่