กรมควบคุมโรค ตามตัววัยรุ่นขุดซาก “หมาบ้า” ชำแหละกินแบบสุก ๆ ดิบ ๆ มาฉีดวัคซีนครบทุกคน พร้อมติดตามดูอาการต่อ เตือนกิน “เนื้อหมา” เสี่ยงติดเชื้อและตายจากเชื้อพิษสุนัขบ้าได้
จากกรณีปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร ทำการฆ่าสุนัขจรจัดที่มีอาการคล้ายติดเชื้อพิษสุนัขบ้า เนื่องจากมีอาการดุร้ายและกัดสุนัขด้วยกัน เมื่อตัดหัวไปตรวจสอบพบว่า มีเชื้อพิษสุนัขบ้าจริง ๆ และได้นำซากสุนัขฝังกลบเรียบร้อย แต่มีกลุ่มวัยรุ่นประมาณ 10 ราย ขุดซากสุนัขไปประกอบอาหารกิน
วันนี้ (28 ต.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เหตุเกิดในพื้นที่ จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีสุนัขจรจัดไม่มีเจ้าของ อาการดุร้าย และกัดสุนัขด้วยกัน ซึ่งอาการคล้ายติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ผู้ใหญ่บ้านจึงได้แจ้งปศุสัตว์ ทางเจ้าหน้าที่ได้ส่งหัวสุนัขไปตรวจเชื้อโรคทางห้องปฏิบัติการ และทราบผลในวันที่ 21 ต.ค. ว่า ยืนยันพบเชื้อโรคพิษสุขบ้าในหัวสุนัขดังกล่าว ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ในพื้นที่ ได้ออกสอบสวนโรค ค้นหาผู้สัมผัสโรค พบว่า วัยรุ่นในหมู่บ้านที่พากันไปขุดเอาซากสุนัขที่ฝังไว้ไปประกอบอาหารกินกัน โดยวิธีย่าง ลาบ สุก ๆ ดิบ ๆ ใส่เลือดด้วย และตุ๋น มีจำนวน 12 คน และนำผู้สัมผัสโรคมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่โรงพยาบาลมุกดาหาร ครบทุกราย ซึ่งทีม SRRT จะติดตามผู้สัมผัสโรค และสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ โรคพิษสุนัขบ้านั้น ผู้ติดเชื้อ และแสดงอาการแล้ว จะเสียชีวิตทุกราย จึงขอแนะนำประชาชนว่าไม่ควรนำเนื้อสุนัข หรือแมว ที่ป่วยหรือตาย มาประกอบอาหารกิน เพราะเสี่ยงจะติดเชื้อและอาจเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ หรือแม้แต่สงสัยว่าติดเชื้อโรค ก็ไม่ควรนำมากินเด็ดขาด ซึ่งที่ผ่านมาเคยพบว่ามีผู้ติดโรคนี้จากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยหรือที่ตาย
“สำหรับสถานการณ์โรคในสัตว์ของ จ.มุกดาหาร พบหัวสุนัขยืนยันโรคพิษสุนัขบ้าต่อเนื่องทุกปี โดย 3 ปีย้อนหลัง พบว่า ในปี 2557 มีรายงานพบเชื้อในหัวสุนัข 1 หัว ที่ อ.ดอนตาล ปี 2558 มีรายงานพบเชื้อในหัวสุนัข 1 หัว ที่ อ.นิคมคำสร้อย และปี 2559 มีรายงานยืนยันในหัวสุนัข 1 ตัวที่ อ.หว้านใหญ่ และที่ อ.เมือง รายล่าสุดนี้ ส่วนในคนพบว่า จ.มุกดาหาร มีผู้ป่วยยืนยันโรคพิษสุนัขบ้าเสียชีวิตล่าสุดในปี 2552 จากนั้นไม่มีรายงานพบผู้ป่วยเลย แต่ในปี 2559 พบผู้ป่วยยืนยันโรคพิษสุขบ้าเสียชีวิตเป็นผู้ป่วยชาวลาว ข้ามมารับการรักษาที่ รพ.มุกดาหาร 1 ราย” อธิบดี คร. กล่าว
นพ.เจษฎา กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมของประเทศไทย พบว่า ยังมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ทุกปี โดยในปี 2559 นี้ มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว จำนวน 8 ราย จาก จ.ฉะเชิงเทรา 2 ราย และ จ.ตาก ระยอง สระแก้ว สมุทรปราการ สงขลา ศรีสะเกษ จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2559 เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา มาตรการสำคัญในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า กรมฯ ได้ระบุให้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นหนึ่งในโรคที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที และได้วางแนวทางการป้องกันโรค 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ป้องกันการถูกกัด โดยให้ยึดหลักว่า อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ
2. กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัดสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์ตัวนั้นมีอาการปกติ แสดงว่าไม่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากสุนัขหรือแมวตาย ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์ หรือสถานเสาวภา เพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และ 3. หลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด