“มุกดาหาร” พื้นที่เสี่ยงพิษสุนัขบ้า พบวัวถูกสุนัขกัดตายแล้วเจอพิษสุนัขบ้า เร่งฉีดวัคซีนป้องกันในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรัศมี 3 - 5 กิโลเมตร
จากกรณีวัยรุ่นจังหวัดมุกดาหาร ขุดซากเนื้อสุนัขที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามารับประทาน ซึ่งได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าไปแล้วนั้น
วันนี้ (2 พ.ย.) นสพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จ.มุกดาหาร มีการตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสัตว์เฉลี่ยสัปดาห์ละ 3 ตัว จึงถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยง และมีการเข้าไปตรวจสอบแบบเชิงรุก จึงพบเป็นจำนวนค่อนข้างสูง ล่าสุด พบกรณีแม่วัวถูกสุนัขกัดเสียชีวิต ซึ่งจากการที่ปศุสัตว์ส่งชิ้นส่วนสมองตรวจสอบก็พบเชื้อพิษสุนัขบ้า จากนี้จะมีการดำเนินการฉีดวัคซีนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในพื้นที่รัศมี 3 - 5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันโรคต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลที่ว่าผู้สัมผัสกับวัวจะติดเชื้อได้หรือไม่ ต้องยึดตามหลักการเดียวกับสุนัข หรือแมว คือ 1. มาจากการถูกกัด หรือข่วน เชื้อไวรัสจะติดต่อทางน้ำลายลุกลามไปทางกระแสเลือด 2. การรับประทานเนื้อที่ติดพิษสุนัขบ้า เช่น กรณีวัยรุ่นขุดซากสุนัขที่ติดเชื้อมากิน ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ก็สามารถติดต่อได้จากการรับประทานเช่นกัน จึงอยากให้ผู้ที่นิยมซื้อเนื้อวัวมารับประทานสังเกตดี ๆ และปรุงอาหารให้สุกทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะโรงฆ่าสัตว์อาจจะนำสัตว์ที่ติดเชื้อแล้วมาชำแหละขายได้
“สำหรับสถานการณ์พิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พบว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อดังกล่าวน้อยกว่า 10 ราย ติดต่อกันมา 5 ปีแล้ว ซึ่งเป็นจำนวนไม่สูงมาก ทั้งนี้ เป็นเพราะหากมีการพบเชื้อในพื้นที่ หรือจังหวัดใดจะมีการเข้าตรวจสอบกันอย่างเชิงรุก ซึ่งในปีนี้พบว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 9 ราย โดยพบเคสแรกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และพบผู้ป่วยจังหวัดละ 1 ราย ดังนี้ พื้นที่ จ.สงขลา จ.สมุทรปราการ จ.ระยอง จ.ฉะเชิงเทรา จ.นครราชสีมา จ.ตาก จ.ปราจันบุรี จ.สระแก้ว และ จ.ศรีสะเกษ” นสพ.พรพิทักษ์ กล่าว
นสพ.พรพิทักษ์ กล่าวว่า อยากให้ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดในเขตชายแดนระมัดระวังและป้องกันการติดเชื้อสุนัขบ้า โดยการนำสุนัข หรือแมวไปฉีดวัคซีนป้องกัน ทั้งนี้ ในพื้นที่ควรได้รับการฉัดวัคซีนป้องกันอย่างน้อยร้อยละ 80 ของประชากรสุนัขหรือแมวในพื้นที่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม อยากให้ระมัดระวังกัน เพราะเชื้อดังกล่าวหากไม่ได้รับวัคซีนติดแล้วยากที่จะรักษาให้หาย ส่วนมากเสียชีวิต 100% ซึ่งสามารถแก้ด้วยด้วย 2 วิธีการดังนี้ 1. หมากัดต้องรีบแก้ ล้างแผล ใส่ยา ตักหมา หาหมอ และ 2. สามารถป้องกันได้ตามหลัก 5ย. 1. อย่าหยิบ 2. อย่าแหย่ 3. อย่าแยก 4. อย่าเหยียบ และ 5. อย่ายุ่ง ก็จะสามารถป้องกันตัวเองจากการถูกสุนัขกัดได้