xs
xsm
sm
md
lg

โรคพิษสุนัขบ้า...อันตรายถึงชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรคพิษสุนัขบ้า...อันตรายถึงชีวิต
นพ. ชัยศิริ ศรีเจริญวิจิตร, รศ.พญ.วนัทปรีบา พงษ์สามารถ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่ทั้งนี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
ในประเทศไทยมีรายงานคนถูกสัตว์กัดหรือข่วนมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี และในปีนี้นับจากต้นปีจนถึงเดือนสิงหาคมมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 7 ราย โรคนี้จึงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีความสำคัญยิ่ง
คนติดโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ชนิดใดบ้าง
โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วนหรือเลียบริเวณที่มีบาดแผลรอยถลอกหรือรอยขีดข่วนบาดแผล หรือเลียถูกบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก เป็นต้น นอกจากนี้การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้
โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ค้างคาว วัว ลิง ชะนี กระรอก กระต่าย รวมถึงหนู เป็นต้น แต่พบว่าสุนัขและแมวเป็นสัตว์ที่นำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้บ่อยที่สุด และยังพบว่าสัตว์ที่ตรวจยืนยันพบเชื้อพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ไม่เคยได้ฉีดหรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ร้อยละ 9.2 ของสัตว์ที่ยืนยันเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามีประวัติการได้รับเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคนเป็นอย่างไร
หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ - 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผล รวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด
ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1.ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศรีษะ เบื่ออาหาร ปวด
เมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการ เจ็บ เสียวแปล๊บคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรค ระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน
2.ระยะที่มีอาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง
กลืนลำบาก รวมถึงกลัวน้ำ อาการจะเป็นมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน
3.ระยะท้าย ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น
ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อถูกสัตว์กัด
1.รีบล้างแผลทุกแฟลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง และล้างให้ลึกถึงก้นแผล
แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน เป็นต้น
2.จดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด รวมทั้งสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีน
ป้องกันพิษสุนัขบ้า และสังเกตอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 10 วัน ถ้าสบายดีไม่น่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าสุนัขตายให้นําซากมาตรวจ
3.ไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้อง ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า เช่น
ถูกกัดหรือข่วน แพทย์จะพิจารณาฉีดวัควัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ในกรณีที่มีโอกาสติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง แพทย์อาจพิจารณาให้อิมมูโนโกลบุลินซึ่งมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะฉีดประมาณ 4-5 ครั้ง เป็นวัคซีนมีความปลอดภัยสูง สามารถฉีดได้ทุกวัย รวมทั้งในเด็กและสตรีมีครรภ์ และควรฉีดวัคซีนให้ตรงตามแพทย์นัดทุกครั้ง
จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร
เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษา และถ้าติดเชื้อจะเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีแนวทางในการป้องกันดังนี้
1.ควบคุมไม่ให้สัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า โดยพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามกำหนด
และฉีดซ้ำทุกปี ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ ทุกครั้งที่จะนำสุนัขออกนอกบ้านควรอยู่ในสายจูง ตลอดจนไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
2.หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัด โดยไม่แหย่หรือรังแกให้สัตว์โมโห รวมทั้งไม่ยุ่งหรือเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่
รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ
3.ถ้าถูกสัตว์กัดแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น
4.พิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สัตว
แพทย์ ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงและขายสัตว์ รวมถึงเด็กที่เลี้ยงสุนัขและแมว เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า โดยฉีด 3 เข็ม ในเวลา 1 เดือน และเมื่อถูกสัตว์กัดจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1-2 เข็ม โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลินซึ่งอาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ และเจ็บปวดเวลาฉีดรอบแผลร่วมด้วย
หากปฏิบัติได้ตามนี้เชื่อว่าทุกคนน่าจะปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า และภายในปี 2563 ประเทศไทยจะเป็น “พื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” ตามเป้าหมายที่กำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น