xs
xsm
sm
md
lg

โรคพิษสุนัขบ้า...อันตรายถึงชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.ชัยศิริ ศรีเจริญวิจิตร, รศ.พญ.วนัทปรีบา พงษ์สามารถ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร
โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่ทั้งนี้ เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

ในประเทศไทยมีรายงานคนถูกสัตว์กัด หรือ ข่วน มากกว่า 1 ล้านคนต่อปี และในปีนี้นับจากต้นปีจนถึงเดือนสิงหาคม มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 7 ราย โรคนี้จึงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีความสำคัญยิ่ง

คนติดโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ชนิดใดบ้าง
โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วน หรือ เลีย บริเวณที่มีบาดแผลรอยถลอก หรือ รอยขีดข่วนบาดแผล หรือ เลียถูกบริเวณเยื่อบุตา หรือ ปาก เป็นต้น นอกจากนี้ การชำแหละซากสัตว์ หรือ รับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้

โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ค้างคาว วัว ลิง ชะนี กระรอก กระต่าย รวมถึงหนู เป็นต้น แต่พบว่าสุนัขและแมวเป็นสัตว์ที่นำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้บ่อยที่สุด และยังพบว่าสัตว์ที่ตรวจยืนยันพบเชื้อพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ไม่เคยได้ฉีด หรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ร้อยละ 9.2 ของสัตว์ที่ยืนยันเป็นโรคพิษสุนัขบ้า มีประวัติการได้รับเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคนเป็นอย่างไร
หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ - 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวน และความลึกของบาดแผล รวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด

ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1.ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวด
เมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการ เจ็บ เสียวแปล๊บคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรค ระยะนี้มีเวลาประมาณ 2 - 10 วัน

2.ระยะที่มีอาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง
กลืนลำบาก รวมถึงกลัวน้ำ อาการจะเป็นมากขึ้น หากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2 - 7 วัน

3.ระยะท้าย ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคมา และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อถูกสัตว์กัด
1.รีบล้างแผลทุกแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง และล้างให้ลึกถึงก้นแผล แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน เป็นต้น

2.จดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด รวมทั้งสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และสังเกตอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 10 วัน ถ้าสบายดีไม่น่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าสุนัขตายให้นําซากมาตรวจ

3.ไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้อง ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า เช่น ถูกกัด หรือ ข่วน แพทย์จะพิจารณาฉีดวัควัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และ ยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ ในกรณีที่มีโอกาสติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง แพทย์อาจพิจารณาให้อิมมูโนโกลบุลิน ซึ่งมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะฉีดประมาณ 4 - 5 ครั้ง เป็นวัคซีนมีความปลอดภัยสูง สามารถฉีดได้ทุกวัย รวมทั้งในเด็กและสตรีมีครรภ์ และควรฉีดวัคซีนให้ตรงตามแพทย์นัดทุกครั้ง

จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร
เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษา และถ้าติดเชื้อจะเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีแนวทางในการป้องกันดังนี้

1.ควบคุมไม่ให้สัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า โดยพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามกำหนด และฉีดซ้ำทุกปี ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ ทุกครั้งที่จะนำสุนัขออกนอกบ้านควรอยู่ในสายจูง ตลอดจนไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง

2.หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัด โดยไม่แหย่หรือรังแกให้สัตว์โมโห รวมทั้งไม่ยุ่งหรือเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ

3.ถ้าถูกสัตว์กัดแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น

4.พิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สัตวแพทย์ ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงและขายสัตว์ รวมถึงเด็กที่เลี้ยงสุนัขและแมว เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า โดยฉีด 3 เข็ม ในเวลา 1 เดือน และเมื่อถูกสัตว์กัดจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1 - 2 เข็ม โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน ซึ่งอาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ และเจ็บปวดเวลาฉีดรอบแผลร่วมด้วย

หากปฏิบัติได้ตามนี้เชื่อว่าทุกคนน่าจะปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า และภายในปี 2563 ประเทศไทยจะเป็น “พื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” ตามเป้าหมายที่กำหนด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น