xs
xsm
sm
md
lg

จากครีมหน้าบางสู่ถุงยางอนามัย โหมโฆษณา “คอนดอม” แก้ปัญหา “ท้องวัยรุ่น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

โฆษณา “ครีมหน้าบาง ลดรอยมนุษย์ป้าอย่างเห็นได้ชัด” กำลังเป็นคลิปโฆษณาที่ถูกพูดถึงและถูกแชร์อย่างมากในขณะนี้ ด้วยการใช้คำพูดจิกกัด เสียดสีสังคมในเรื่องความเห็นแก่ตัวราวกับมนุษย์ป้า ด้วยน้ำเสียงที่นิ่มนวลประหนึ่งโฆษณาสินค้าพรีเมียม อาทิ “กุลสตรีเชิงรุก” “ซ่อมแซมเซลล์ประสาทที่ชำรุดถึงกมลสันดาน” “จากผิวหน้าที่เคยด้านหนากลับมาบอบบางจนรู้สึกได้ถึงความผิดชอบชั่วดีอีกครั้ง” และ “หน้าบางจนปล่อยวางผัวชาวบ้าน” เป็นต้น แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นโฆษณา “ถุงยางอนามัย” โดยเปรียบเทียบในเรื่องของความบางนั่นเอง

คลิปดังกล่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2559 ล่าสุด ณ วันที่ 7 ต.ค. เมื่อเวลา 14.00 น. มีผู้ชมคลิปแล้วกว่า 1.5 ล้านครั้ง ถูกใจกว่า 30,000 ไลก์ และแชร์มากถึง 45,000 ครั้ง ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ภายในคลิประบุว่า การโฆษณาถุงยางอนามัยทำได้ยากมากในปัจจุบัน เพราะมีข้อห้ามหลายสิ่ง ทั้งห้ามโฆษณาโดยพูดถึงเรื่องความเสียว ความอึด และโชว์ตัวผลิตภัณฑ์ไม่ได้ 



ขณะที่ความคิดเห็นต่อโฆษณาดังกล่าว มีความเห็นหนึ่งในทำนองว่า โฆษณาถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติ เด็กวัยรุ่นจะได้กล้าซื้อ ปัญหาท้องไม่พร้อม ท้องในวัยเรียน ส่วนหนึ่งมาจากไม่กล้าซื้อถุงยางอนามัย และปัญหาเรื่องความอายและการถูกหัวเราะจากพนักงานขายที่เห็นคนมาซื้อถุงยางอนามัย ซึ่งไม่เพียงแต่วัยรุ่นเท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็เผชิญปัญหาเหล่านี้ จนไม่กล้าซื้อ หรือรีบซื้อจนไม่ทันได้เลือกดูอย่างละเอียดและได้ถุงยางอนามัยมาผิดไซส์

คำถามคือ การโฆษณา “คอนดอม” หรือถุงยางอนามัย สามารถทำได้แค่ไหน หากโฆษณา “คอนดอม” ให้กลายเป็นเรื่อง “คอมมอน” มากขึ้น ให้คนกล้าพกถุงยางอนามัย จะช่วยเพิ่มการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยของคนไทยได้หรือไม่ จะฝ่าความเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมเยาวชนมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ และจะสามารถช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้จริงหรือไม่

คนไทยยังใช้ “ถุงยางอนามัย” น้อย แต่ท้องไม่พร้อมพุ่ง

จากการศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น (แม่วัยใส) โดยศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านเพศภาวะและสุขภาพสตรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2555 พบว่า แม่วัยใสส่วนใหญ่ไม่คุมกำเนิดในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก 33.9% ส่วนวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้มากที่สุดคือถุงยางอนามัย 27.4%

สอดคล้องกับข้อมูลการป้องกันตนเองโดยใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ของเด็กและเยาวชน โดยกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ปี 2552 ใช้ถุงยางอนามัยร้อยละ 65.27 ปี 2553 ใช้ร้อยละ 66.10 ปี 2554 ใช้ร้อยละ 63.73 ปี 2555 ใช้ร้อยละ 68.55

ขณะเดียวกัน สถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกลับสูงอย่างมาก โดย นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย สธ. ระบุว่า จำนวนทารกที่คลอดในแต่ละปีลดลง จากเดิม 8 แสนกว่าคนต่อปี ขณะนี้เหลือประมาณ 7 แสนคน ซึ่งจำนวนนี้เกิดจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นคือ แม่อายุต่ำกว่า 20 ปี ถึง 120,000 คน เกิดจากแม่อายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 3,500 คน อัตราการเกิดจากแม่วัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี อยู่ที่ 44.3 ต่อ 1,000 คนที่ตั้งครรภ์ ถือว่าสูงมาก

“ถุงยางอนามัย” โฆษณาได้ แต่ห้ามผิดจารีต

ถุงยางอนามัยถือเป็น “เครื่องมือแพทย์” ตาม พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเรื่องของการโฆษณามีการกำหนดไว้ในมาตรา 57 ว่า การโฆษณาเครื่องมือแพทย์ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อน โดยใบอนุญาตโฆษณาให้มีอายุไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต และมาตรา 59 ระบุว่า การโฆษณาเครื่องมือแพทย์ต้อง 1. ไม่แสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ ปริมาณ มาตรฐาน ส่วนประกอบ หรือแหล่งกำเนิดของเครื่องมือแพทย์อันเป็นเท็จหรือเกินความจริง 2. ไม่แสดงการรับรอง หรือยกย่องคุณประโยชน์ของเครื่องมือแพทย์ โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง 3. ไม่จัดให้มีรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคด้วยวิธีใด ๆ 4. ไม่แสดงคุณประโยชน์ว่าสามารถป้องกัน บำบัด บรรเทา รักษาโรคหรืออาการของโรคที่ห้ามโฆษณาตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และ 5. ไม่แสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญที่เกี่ยวกับเครื่องมือ

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ถุงยางอนามัยสามารถโฆษณาได้ แต่เครื่องมือแพทย์การโฆษณานั้นจะต้องขออนุญาตการโฆษณาจาก อย. ก่อน ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ ที่สำคัญคือ จะพิจารณาเรื่องการโฆษณาที่ต้องอิงบนพื้นฐานของการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย คือ ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่โอ้อวดเกินจริง ไม่กระทบต่อวัฒนธรรมจารีตประเพณีของประเทศไทย ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่า “เรื่องเพศ” ในวัฒนธรรมตะวันออก หรือวัฒนธรรมไทยไม่ใช่เรื่องที่เปิดเผย สามารถพูดกันได้ในที่สาธารณะตามปกติเหมือนวัฒนธรรมตะวันตก ความเชื่อในบ้านเรายังเป็นเช่นนี้อยู่ ฉะนั้น การโฆษณาถุงยางอนามัยคือโฆษณาได้ แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการในเรื่องเหล่านี้ คือ ไม่สามารถโฆษณาที่ทำให้เกิดการตีความแล้วกระทบต่อวัฒนธรรมจารีตประเพณีของไทยได้ อย่างที่โฆษณาดังกล่าวบอกว่าพูดเรื่องเสียว เรื่องอึด ไม่ได้นั่นเอง

“ยืนยันว่า ถุงยางอนามัย สามารถช่วยป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์และป้องกันการตั้งครรภ์ได้ เพียงแต่เรื่องเพศในประเทศไทยยังเป็นเรื่องที่สมควรพูดในที่จำกัด ไม่ถึงกับยอมรับได้อย่างเสรี ตรงนี้ก็ต้องค่อย ๆ สอดแทรกปรับเปลี่ยนกันไป ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็กำลังมีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 - 2562 ที่พยายามทำให้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยป้องกันเรื่องโรคทางเพศสัมพันธ์และปัญหาท้องในวัยรุ่นหรือท้องไม่พร้อม ทั้งนี้ การพิจารณาโฆษณาถุงยางอนามัย ซึ่ง อย. จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา อักษรศาสตร์ และด้านสังคมมาช่วยกันพิจารณาดูว่าก่อให้เกิดปัญหาทางด้านวัฒนธรรมหรือไม่ การพิจารณาก็จะมีการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดด้วย” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

โฆษณา “ถุงยางอนามัย” แบบโลกสวย ไม่ช่วยป้องกันท้องไม่พร้อม

นายภูวบดินทร์ พราหมพันธุ์ ผู้จัดการแผนกการตลาด ซีพีเอฟ กล่าวว่า ความยากของการโฆษณาถุงยางอนามัย คือ จะต้องมีการเซนเซอร์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน คือ อย. ก็จะคล้ายกับการโฆษณาอาหารบางอย่างที่ไม่สามารถพูดตรง ๆ ได้ ประเด็นสำคัญคือ การโฆษณาถุงยางอนามัยที่ผ่านมา หากลองย้อนกลับไปดูที่เผยแพร่ตามสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ช่องต่าง ๆ จะพบว่าจะเล็งกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างผู้ใหญ่ ไม่ใช่กลุ่มเด็กและเยาวชน แต่ปัญหาในปัจจุบันคือ พบการตั้งท้องในคนที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการสื่อสารเพื่อโฆษณาตัวสินค้าเท่านั้น เช่น รส กลิ่น ไซส์ ความบางของผลิตภัณฑ์ แต่ไม่เคยสื่อสารออกไปว่า ใช้สิ ใช้เพื่อป้องกันโรค ป้องกันการท้อง เพราะมันพูดตรง ๆ แบบนั้นไม่ได้

“อย่างโฆษณาที่เป็นข่าว คือ พูดถึงครีมทาช่วยให้ความหน้าด้าน หน้าหนา มีความบางลง แล้วไปโยงกับความบางของถุงยางอนามัย ตรงนี้ก็เป็นการโฆษณาที่บอกว่าผลิตภัณฑ์เขามีความบาง เป็นแบบใหม่ สัมผัสได้ดีกว่า ซึ่งจริง ๆ แล้วคนที่คิดจะมีเพศสัมพันธ์แล้วเลือกใช้ถุงยางอนามัย เขาก็เลือกซื้อเพราะต้องการป้องกันโรคและการท้อง ไม่ได้ซื้อเพราะว่ามีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ กลิ่นใหม่ รสใหม่ ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อย่างพวกครีมอาบน้ำที่มีความแปลกใหม่เหล่านี้ออกมาแล้วต้องลองใช้ แต่ถุงยางอนามัย คือ ผลิตภัณฑ์เฉพาะกิจ ที่เวลาอยากใช้คงไม่เลือกมาก นอกจากเลือกไซส์ให้ตรงขนาด แต่คงไม่ได้จะเลือกซื้อเพราะแบบมีปุ่ม บางกี่มิลลิเมตร ขอแค่มีติดตัวเพื่อป้องกันก็เพียงพอ ซึ่งการโฆษณาปัจจุบันยังไปไม่ถูกจุด ยังใช้ภาษาที่สวยงาม ไม่ได้สื่อสารตรง ๆ มันเลยไม่ได้เข้าไปช่วยรณรงค์ป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดต่อหรือการท้องได้ ทั้งที่จริงแล้วก็เป็นเลเวลสองที่ผลิตภัณฑ์อยากสื่อสาร แต่สื่อสารตรง ๆ ไม่ได้” นายภูวบดินทร์ กล่าว

นายภูวบดินทร์ กล่าวว่า หากจะโฆษณาถุงยางอนามัยเพื่อสื่อสารให้วัยรุ่นรู้จักป้องกันตัวเอง ลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา ก็ต้องมีการเลือกช่องทางให้ถูกต้อง และใช้ภาษาที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย อย่างปัจจุบันวัยรุ่นไปอยู่ในช่องทางของโลกออนไลน์กันมาก ไม่ใช่โทรทัศน์แบบสมัยก่อน รวมถึงหากใช้คำพูดที่เป็นภาษาเดียวกับเขาก็จะช่วยสื่อสารตรงไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เหมือนอย่างซีรีส์ฮอร์โมนทำไมถึงดัง ก็เพราะใช้ภาษาที่ตรงกับพวกเขา ทั้งที่จริงแล้วซีรีส์แนวฮอร์โมนก็มีมานาน ทั้งกลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ หรือ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ แต่ก็เป็นการสื่อสารแบบภาษาดอกไม้ แต่ฮอร์โมนสื่อสารภาษาเดียวกับวัยรุ่นเลยทำให้ดัง สื่อสารไปได้ถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถุงยางอนามัยหากจะสื่อสารในเรื่องเหล่านี้ก็ต้องเลือกช่องทาง เลือกภาษาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย แต่อย่างที่บอกคือการควบคุมการโฆษณา ซึ่งวัฒนธรรมไทยยังไม่เปิดเรื่องเพศนัก การสื่อสารลักษณะนี้ จะขายสินค้าเพื่อให้คนใช้เพื่อป้องกันโรคและการท้องคงเป็นเรื่องยาก เพราะส่วนใหญ่ที่ออกมาพูดได้ก็จะเป็นหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น แต่หากสามารถสื่อสารตรง ๆ ได้ ก็เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม โรคทางเพศสัมพันธ์เช่นกัน

พก “ถุงยางอนามัย” ควรเป็นเรื่องปกติ

นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมอนามัยมีการผลักดันยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 - 2562 คือ พยายามทำให้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการช่วยป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยเน้นเรื่องมาตรฐานของถุงยางอนามัย การเข้าถึงถุงยางอนามัย สอนเพศวิถีปรับทัศนคติทุกภาคส่วน พ่อแม่ ครู กลุ่มเป้าหมาย เกี่ยวกับเรื่องถุงยางอนามัย ซึ่งปัญหาเรื่องของการโฆษณาถุงยางอนามัยที่ยังมีข้อจำกัดบางประการ เพราะต้องคำนึงเรื่องของจารีตประเพณี เพราะไทยเป็นสังคมปิดเรื่องเพศ ตรงนี้ก็คงต้องมีการหารือทั้ง คร. และ อย. ในฐานะคณะกรรมการ ว่าจะมีการปลดล็อกเรื่องนี้อย่างไร

“ทุกวันนี้คนยังประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงถุงยางอนามัย เพราะอย่างเด็กที่จะไปซื้อถุงยางอนามัย ก็จะถูกพนักงานขายมองตั้งแต่หัวจรดเท้า หรือไปรับบริการถุงยางอนามัยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ก็กังวลว่าเพื่อนพ่อเพื่อนแม่จะไปบอกพ่อแม่ของตัวเอง ตรงนี้ถือเป็นช่องว่างสำคัญ ที่ผ่านมา กรมฯ พยายามจัดบริการที่เป็นมิตรต่อวัยรุ่น คือมองวัยรุ่นอย่างเป็นมิตร มองเชิงบวกว่าเขามีการป้องกัน ซึ่งการพกถุงยางอนามัยควรเป็นเรื่องปกติที่หากจะมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันโรคและการตั้งครรภ์” นพ.กิตติพงศ์ กล่าว

ทะลวงความเชื่อ “เรื่องเพศ” ส่งเสริมเด็กมีเซ็กซ์ไว

นพ.กิตติพงศ์ กล่าวว่า สังคมไทยยังคงปิดกั้นเรื่องทางเพศอยู่ และเมื่อมีการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ก็มองว่าเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ การแก้ปัญหาเรื่องเพศของสังคมไทย คือต้องทำงานเชิงรุก โดยทำให้ทุกภาคส่วนเข้าใจว่าปัญหาปัจจุบันคืออะไร การติดโรคทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่เพิ่มมากขึ้น แล้วในระดับสากลเขามีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร เช่น การให้ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องของเพศวิถี ซึ่งจะเน้นเรื่องการป้องกันก่อน และหากเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยควรทำอย่างไร เพื่อป้องกันปัญหาตามมาในอนาคต รวมถึงการจัดให้เข้าถึงบริการคุมกำเนิด ซึ่งตรงนี้จะเป็นการช่วยปรับทัศนคติคนในสังคม หากสามารถโฆษณาถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติได้ ตรงนี้มองว่าจะสามารถช่วยเพิ่มการเข้าถึงถุงยางอนามัยได้มากขึ้น ส่งเสริมให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยได้มากขึ้น

หากทำให้การโฆษณาถุงยางอนามัยและการพูดคุยเรื่องเพศ เป็นเรื่องปกติในสังคมไทยได้ คงแก้ปัญหาเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยเฉพาะในวัยรุ่น ไปได้มาก เพียงแต่ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจและพร้อมที่จะเปิดใจและเรียนรู้เรื่อง “เพศวิถี” แล้วหรือยัง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น