xs
xsm
sm
md
lg

ดันใช้ “ถุงยางอนามัย” วาระชาติ ลดอคติวัยรุ่นพกติดตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรคร่วมกรมอนามัย เร่งส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย ลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ป้องกันท้องไม่พร้อม เน้นสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการใช้ถุงยาง ลดอคติคนพกคอนดอม เข้าถึงง่ายใช้ถูกวิธี ด้านผู้กำกับฮอร์โมนชี้เลิกดราม่า ต้องมองแบบวิทยาศาสตร์ ถุงยางช่วยลูกในวันเกิดเรื่องได้ เลิกมองวัยรุ่นซื้อถุงยางด้วยสายตาตัดสิน

วันนี้ (4 ก.พ.) นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) พร้อมด้วย นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ร่วมแถลงข่าวเรื่อง ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 - 2562 “Public-Private Partnership เพื่อรักปลอดภัย”

นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย พบว่า ในปี 2557 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 445,504 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,816 คน โดยร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ถือว่าประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการส่งเสริมให้ประชากรในวัยเจริญพันธุ์ มีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงพบปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในเยาวชน กรมควบคุมโรค จึงร่วมมือกับกรมอนามัย UNFPA และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 - 2562 เพื่อลดช่องว่างของการทำงานและส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งมี 5 แนวทางในการทำงาน ดังนี้ 1. พกได้ มั่นใจ คือ ยอมรับและลดอคติ 2. หาง่าย ใช้เป็น คือ เข้าถึงสะดวก ใช้ได้ถูกวิธี 3. ทุกชิ้น มีคุณภาพ โดยควบคุมการผลิตได้มาตรฐาน 4. รัฐนำ ทุกฝ่ายหนุน ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ถุงยางอนามัย และ 5. เร่งรัด วัดผล เพื่อมุ่งความสำเร็จ

“สำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม รวมทั้ง นโยบาย กฎหมาย หรือกฎระเบียบ จะมุ่งเน้นสร้างความตระหนักให้ประชาชน มีเจตคติว่าถุงยางอนามัย และถุงอนามัยสตรี เป็นอุปกรณ์สุขอนามัยที่ใช้ในการดำเนินชีวิตตามปกติ การส่งเสริมสุขอนามัยทางเพศที่ดี และการป้องกันปัญหาสุขภาพ เช่น ป้องกันการตั้งครรภ์ ป้องกันโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ลดความเสี่ยงของมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์” นพ.ภาณุมาศ กล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นและอายุน้อยลงเรื่อย ๆ จึงเกิดปัญหาการตั้งครรภ์ตามมา โดยในปี 2557 วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตร 115,491 ราย เฉลี่ยวันละ 316 คน โดยวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตร 3,213 ราย เฉลี่ยวันละ 9 คน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2543 จะเห็นได้ว่าปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติที่ต้องแก้ไข กรมอนามัยได้มีการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศ ดังนี้ 1. ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ... 2. ร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2569) :ส่งเสริมการเกิดคุณภาพ และ 3. ร่างยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2558 - 2567 อย่างไรก็ตาม กรมอนามัยรู้สึกยินดีที่มีส่วนร่วมและพร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 - 2562

ดร.วาสนา กล่าวว่า การร่วมพัฒนาคุณภาพประชากรโดยภาคธุรกิจเอกชนร่วมทำงานกับภาครัฐเพื่อให้สังคมไทย “ยอมรับ ลดอคติ” ให้วัยรุ่นใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ข้อท้าทายคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถเปิดพื้นที่ร่วมงานเป็นภาคีกับภาคธุรกิจเอกชนในงานพัฒนาเรื่อง “เพศสัมพันธ์” ซึ่งยังเป็นเรื่องอ่อนไหวในสังคมไทยได้อย่างไร

นายเกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้กำกับซีรีส์ดังฮอร์โมน 2 และ 3 กล่าวว่า อยากให้ลองเปลี่ยนทัศนคติโดยมองในแนววิทยาศาสตร์กันมากขึ้น ควรตัดเรื่องความรู้สึก ดราม่า ไสยศาสตร์ ความเชื่อออกไป การที่พ่อแม่หลายคนให้ลูกสวดมนต์ พกยันต์ต่าง ๆ เพื่อให้แคล้วคลาดปลอดภัย แต่ไม่ให้พกถุงยาง เราควรจะเปลี่ยนทัศนคติให้ถุงยางเป็นสิ่งที่ “คอมมอน” มากขึ้น ทำให้คนกล้าพกถุงยางและเป็นเรื่องปกติ เพราะในที่สุดแล้วถุงยางคือสิ่งที่ช่วยลูกเราได้จริง ๆ ในวันที่เกิดเรื่องฉุกเฉินกับลูกเรา ตนเห็นว่า วัยรุ่นกับความต้องการเป็นของคู่กัน และมักจะมาในวันและโอกาสที่วัยรุ่นไม่สามารถตั้งตัว แล้วสิ่งที่จะคุ้มครองลูกเราได้ไม่ใช่พระเครื่อง แต่คือ ถุงยางอนามัยที่จะทำให้วัยรุ่นปลอดภัยในวันที่เกิดเรื่อง การที่ให้ลูกนึกถึงหน้าแม่ในวันที่ลูกกำลังจะตัดสินใจทำอะไรลงไปเป็นทัศนคติที่ดี แต่ท้ายที่สุดมันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ วันที่กำลังจะเกิดเรื่องไม่ใช่ทุกครั้งที่วัยรุ่นจะนึกถึงหน้าแม่ได้ทุกครั้ง อยากให้เวลาเด็กเข้าไปซื้อถุงยางจะไม่โดนมองด้วยสายตาตัดสิน สายตาตัดสินสำคัญมากทำให้เด็ก ๆ ไม่กล้าเข้าไปซื้อถุงยาง ซึ่งทัศนคตินี้มีผลมากและทัศคติแบบนี้เปลี่ยนได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น