xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจ “ผัก-ผลไม้” เจอสารพิษตกค้างอื้อ!! “คะน้า-ส้มสายน้ำผึ้ง” เจอมากสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่าย Thai PAN เผย ผลตรวจ “ผัก - ผลไม้” 16 ชนิดช่วงหน้าฝน พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานเพียบ อึ้ง! กลุ่มมีฉลากรับรองมาตรฐานก็ตกค้างมากเช่นกัน เผย “คะน้า” เจอตัวอย่างสารพิษมากสุด ตามด้วยพริกแดง ส่วนผลไม้เจอส้มสายน้ำผึ้งมากสุด ห่วงเจอสารเคมีห้ามใช้ - ห้ามขึ้นทะเบียน

วันนี้ (6 ต.ค.) ที่โรงแรมริชมอนด์ น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai PAN) กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างผัก 10 ชนิด ได้แก่ พริกแดง กะเพรา ถั่วฝักยาว คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเปราะ และมะเขือเทศ ผลไม้ 6 ชนิด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ฝรั่ง และแก้วมังกร รวมทั้งหมด 158 ตัวอย่าง ซึ่งมีทั้งที่มีฉลากรับรองมาตรฐาน อาทิ มาตรฐานปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ ฉลากออร์แกนิกส์ ฉลากมาตรฐานคิว จีเอพี (Q GAP) คิวจีเอ็มพี (Q GMP) และที่ไม่มีฉลากรับรองมาตรฐาน โดยเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 23 - 29 ส.ค. ที่ผ่านมา จากห้างโมเดิร์นเทรด 3 ห้างหลัก และจากตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ 3 แห่งที่ปทุมธานี นครปฐม และ ราชบุรี โดยส่งตรวจห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ประเทศอังกฤษ พบว่า ผักผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 56 โดยส่วนที่จำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดมีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานร้อยละ 70.2 ส่วนตลาดค้าส่งมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ 54.2

“ผลการตรวจทั้งที่มีฉลากรับรองมาตรฐานและไม่มีฉลาก พบว่า ผักคะน้ามีสารเคมีตกค้างมากที่สุด 10 จาก 11 ตัวอย่าง รองลงมาคือ พริกแดง พบ 9 จาก 12 ตัวอย่าง ถั่วฝักยาว และ กะเพรา พบ 8 จาก 12 ตัวอย่าง ผักบุ้ง 7 จาก 12 ตัวอย่าง มะเขือเปราะ 6 จาก 11 ตัวอย่าง แตงกวา 5 จาก 11 ตัวอย่าง มะเขือเทศ 3 จาก 11 ตัวอย่าง กะหล่ำปลี และผักกาดขาวพบ 2 จาก 11 ตัวอย่าง ส่วนผลไม้ที่พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง พบ 8 จาก 8 ตัวอย่าง แก้วมังกร 7 จาก 8 ตัวอย่าง ฝรั่งพบ 6 จาก 7 ตัวอย่าง มะละกอพบ 3 จาก 6 ตัวอย่าง และแตงโมพบ 3 จาก 7 ตัวอย่าง แคนตาลูปพบ 1 จาก 7 ตัวอย่าง” น.ส.ปรกชล กล่าว

น.ส.ปรกชล กล่าวว่า ที่ผ่านมา จากการตรวจผัก - ผลไม้ ที่ผลิตช่วงหน้าแล้ง พบว่า มีสารเคมีตกค้างจำนวนมาก ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการแก้ไข ทราบว่า มีการประชุมกัน แต่ไม่ทราบว่ามีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง แต่เมื่อมาตรวจซ้ำผักผลไม้ชนิดเดิมช่วงผลิตหน้าฝนก็ยังมีสารเคมีตกค้างเหมือนเดิม บางชนิดพบมากขึ้น ที่สำคัญ มีการพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามรายชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในประเทศไทย คือ ไดโครโตฟอส เอ็นโดซัลแฟน เมทามิโดฟอส และโมโนโครโตฟอส รวมทั้งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมวิชาการการเกษตรไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน คือ คาร์โบฟูราน และเมโทมิล ในผักผลไม้ 29 ตัวอย่างจากทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 18.4 จากนี้จะนำข้อมูลส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมวิชาการการเกษตร อย. และกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อดำเนินการต่อไป


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น