xs
xsm
sm
md
lg

อย.สาวไม่ถึงแหล่งผลิตอาหารเสริม “หมามุ่ย” เล็งฟัน “บริษัท-คนขายตรง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. ลุยตรวจอาหารเสริมหมามุ่ย “รีเซ็ต” พบที่จำหน่าย ไม่พบโรงงานผลิต จ่อเอาผิดทั้งบริษัทและคนขายตรงหลายข้อหา เหตุใช้เลข อย. ปลอม โฆษณาเกินจริง โทษทั้งจำทั้งปรับ พร้อมนำตัวอย่างส่งกรมวิทย์ตรวจวิเคราะห์ เผยห้ามใส่ “หมามุ่ย” ในอาหาร เหตุข้อมูลวิชาการไม่ชัด หวั่นกินมากอันตราย แต่ใช้เป็นยาได้ มียาแผนโบราณนำเข้าจากอินเดียขึ้นทะเบียน 2 ตำรับ

จากกรณี น.ส.ศตพร พันทอง หรือ น้องมิลค์ อายุ 21 ปี ชาว จ.ตรัง ที่เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงภายหลังรับประทานอาหารเสริมจากหมามุ่ยอินเดียชนิดแคปซูล และเสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าน้องมิลค์แพ้สารใดกันแน่ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เข้าตรวจโรงงานผู้ผลิตอาหารเสริมดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ล่าสุด วันนี้ (21 มิ.ย.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตรัง ได้สอบถามมารดาของผู้เสียชีวิต พบว่า ทั้งมารดาและผู้เสียชีวิตได้สมัครเป็นสมาชิกขายตรง และได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวที่มีชื่อว่า รีเซ็ต (Reset) มารับประทาน 1 แผง ซึ่งทั้งสองคนได้รับประทานไปคนละ 4 แคปซูล จากนั้นผู้เป็นลูกซึ่งมีประวัติเป็นโรคลมชัก และรับประทานยารักษาด้วยนั้น จึงเกิดอาการแพ้และเสียชีวิตในที่สุด จากการตรวจสอบแผงอาหารเสริมดังกล่าว ระบุข้อความ MUBEAN RESET BODY BALANCE ไม่มีกล่องบรรจุ และไม่มีเลข อย. 13 หลัก ส่วนเบอร์โทรศัพท์ผู้แทนขายตรงก็ไม่สามารถติดต่อได้ แต่จากการตรวจสอบเพิ่มเติมจากแผ่นพับโฆษณาที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับมา ระบุชื่อผลิตภัณฑ์ตรงกัน มีเลขสารบบอาหาร 13-1-02954-1-0546 จำหน่ายโดยบริษัท เดอะ เบสท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และโฆษณาอ้างสรรพคุณกระตุ้นฮอร์โมน ลดไขมันในร่างกาย ขับสารพิษออกจากตับ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ และระบุว่า มีส่วนประกอบสำคัญของหมามุ่ยอินเดีย ได้แก่ แอลโดปา (L-dopa) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญในหมามุ่ย

นพ.ไพศาล กล่าวว่า วันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ อย. จึงร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นำหมายค้นตรวจสอบสถานที่จำหน่ายดังกล่าว เลขที่ 555 ซ.ประเสริฐมนูกิจ แขวงบึงกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. พบกล่องผลิตภัณฑ์สีน้ำเงินระบุชื่อ MUBEAN RESET BODY BALANCE ตรงกัน แต่ไม่มีเลขสารบบอาหาร บรรจุ 4 แผง รวม 40 แคปซูล ลักษณะเหมือนกับแผงตัวอย่างจาก จ.ตรัง และเป็นรุ่นหมดอายุรุ่นเดียวกัน คือ 01/04/2018 จึงส่งตรวจวิเคราะห์สารที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดทราบผลใน 15 วัน นอกจากนี้ ยังพบสติกเกอร์ติดข้างขวด ระบุชื่อผลิตภัณฑืและเลข อย. เดียวกัน ผลิตโดยบริษัท เดอะ เบสท์ อินเตอร์เนชั่นแนล และระบุมีส่วนประกอบของหมามุ่ยอินเดีย ซึ่งจากการตรวจสอบเลข อย. ในระบบ ไม่พบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด ขณะที่ทางบริษัท เดอะ เบสท์ ให้ข้อมูลว่าแค่รับจ้างผลิต ซึ่งหลังจากได้รับเลขสารบบมา แต่ยังไม่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ บก.ปคบ. ได้ล่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย โดยได้มาเป็นขวดบรรจุแคปซูล มีฉลากสติกเกอร์ติดอยู่ระบุชื่อผลิตภัณฑ์ เลขสารบบอาหาร เหมือนกับที่ อย. ตรวจพบ จึงส่งกรมวิทย์ตรวจสอบเช่นกัน

ขณะนี้การตรวจสอบจึงพบแต่สถานที่จำหน่าย ซึ่งเป็นบริษัทขายตรง แต่ยังไม่พบสถานที่ผลิตแต่อย่างใด ซึ่งจะต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ยังต้องดำเนินคดีกับผู้ขายทั้งบริษัทและผู้ขายตรง แต่ในส่วนของคนขายตรงอาจจับยาก เพราะต้องมีของกลางพร้อม แต่โดยสรุปแล้วมีความผิดดังนี้ 1. โฆษณาสรรพคุณอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท 2. โฆษณาสรรพคุณอาหารโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3. จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท นอกจากนี้ หากผลตรวจวิเคราะห์พบใส่ยาในผลิตภัณฑ์อาหาร จะจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบสถานที่ผลิตก็จะเอาผิดผู้ผลิตด้วยในข้อหาแสดงเลขสารบบอาหารของผู้อื่น เข้าข่ายเป็นการผลิตอาหารที่มีฉลากเพื่อลวง จัดเป็นอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 - 100,000 บาท” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นเป็นอาหาร ไม่ใช่ยา จึงไม่สามารถอ้างบรรเทาการรักษาโรคได้ จึงอยากให้ผู้บริโภคระมัดระวัง ตรวจสอบเลข อย. ก่อน ซึ่งตรวจสอบได้ผ่าน อย. สมาร์ท แอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ อย. สำหรับสาเหตุที่ไม่อนุญาตให้ใช้หมามุ่ยในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะข้อมูลทางวิชาการของหมามุ่ยยังไม่ชัดเจน แต่ทราบว่ามีสารแอลโดปา ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ “โดปามีน” ที่ใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสัน และมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งหากนำมาใช้เป็นยานั้นสามารถควบคุมได้ เพราะต้องสั่งโดยแพทย์และมีการกำหนดโดสที่ชัดเจน อย. จึงอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน ซึ่งมียาแผนโบราณสูตรผสมนำเข้าจากอินเดีย ซึ่งมีส่วนประกอบจากหมามุ่ยอินเดีย เป็นส่วนประกอบหนึ่ง ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ อย. 2 ตำรับ โดยระบุสรรพคุณกว้าง ๆ เพียงว่า ใช้ในการบำรุงร่างกาย แต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นสามารถหาซื้อมารับประทานได้ตลอด จึงไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น