xs
xsm
sm
md
lg

คลอดแล้ว!! แนวทางดูแล “หญิงท้อง” สงสัยซิกา เพิ่มอัลตราซาวนด์หา “เด็กหัวเล็ก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์
เคาะแนวทางดูแล “หญิงท้อง” สงสัยติดเชื้อซิกา หากมีอาการเร่งตรวจยืนยันเชื้อ ก่อนอัลตราซาวนด์ติดตามจนคลอด พบ “เด็กหัวเล็ก” หรือไม่ ชี้ กลุ่มไม่มีอาการ เพิ่มอัลตราซาวนด์เป็น 2 ครั้ง เผย ทารกผิดปกติก่อน 24 สัปดาห์ หารือยุติทำแท้งได้ตามเงื่อนไข กม. ส่วนเด็กหัวเล็กหลังคลอด ต้องติดตามการมองเห็น ได้ยิน และสมองจนถึง 2 ขวบ

วันนี้ (5 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กรมการแพทย์ มีการประชุมคณะกรรมการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา โดยมี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นประธาน พร้อมด้วย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก รพ.ราชวิถี รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี และ รพ.เอกชน เข้าร่วม

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า ไวรัสซิกาเป็นเชื้อเก่ากว่า 60 ปี แต่ทำให้ทารกศีรษะเล็กถือเป็นกลุ่มอาการใหม่ที่เพิ่งเจอ เนื่องจากอาจไม่มีการระบาด ทำให้ไม่พบปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาในเอเชียยังไม่เห็นมีการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกามาก่อน แต่ประเทศไทยชัดเจนแล้วว่าพบทารกศีรษะเล็กจากซิกา 2 ราย จึงต้องหาแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา เพราะเมื่อติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วร้อยละ 80 มักไม่มีอาการ จะมีอาการเพียงร้อยละ 20 คือ เป็นไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ และเมื่อติดเชื้อแล้วไม่ได้ทำให้ทารกในครรภ์ศีรษะเล็กหรือมีหินปูนจับสมองทุกราย เห็นได้ชัดจากการติดตามหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิกาในไทย 39 ราย พบว่า 23 รายไม่แสดงอาการ มีอาการเพียง 16 ราย และที่คลอดออกมาแล้ว 9 ราย เด็กก็ปกติดี ส่วนทารกศีรษะเล็กจากซิกา 2 รายนั้นเป็นเคสที่พบทารกศีรษะเล็กก่อนที่จะวินิจฉัยได้ว่ามารดาเคยติดเชื้อซิกา

“ประเทศไทยมีการตรวจหาเชื้อซิกาเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ตรวจ 10 กว่าราย พบติดเชื้อ 5 ราย เพิ่มเป็นตรวจ 10,000 กว่ารายปี 2559 พบติดเชื้อ 392 ราย ซึ่งการตรวจเยอะย่อมเจอเยอะ ส่วนที่บางประเทศรายงานพบเพียง 1 - 2 ราย เชื่อว่า ประเทศใดที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ ย่อมต้องมีเชื้อซิกาด้วย แต่อยู่ที่ว่าจะมีการตรวจหาเชื้อหรือไม่” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์
ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า ไทยมีแนวทางเวชปฏิบัติดูแลหญิงตั้งครรภ์อยู่แล้ว คือ จะต้องมาฝากครรภ์ 5 ครั้ง เพื่อตรวจเลือดและปัสสาวะดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และทำอัลตราซาวนด์ 1 ครั้ง ช่วงอายุครรภ์ 18 - 20 สัปดาห์ แต่สำหรับการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อซิกาจะมีการดูแลเพิ่มขึ้น เพราะเชื้อซิกาส่งผลให้ทารกในครรภ์ศีรษะเล็กหรือมีหินปูนจับสมอง แต่ปัญหาคือไม่ได้พบทุกรายที่ติดเชื้อ โดยการดูแลจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการของเชื้อซิกา เช่น เป็นไข้ ออกผื่น ตาอักเสบ ปวดข้อ จะต้องรีบตรวจเลือดและปัสสาวะส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่าติดเชื้อจริงหรือไม่ และทำอัลตราซาวนด์ทันที เพื่อดูความผิดปกติของทารก และอัลตราซาวนด์ติดตามไปจนกว่าจะคลอด เพื่อดูว่ามีศีรษะเล็กจริงหรือไม่ และหากพบว่าศีรษะเล็กจริง จะมีการส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลต่อ และ 2. กลุ่มที่ไม่มีอาการ จะมีการอัลตราซาวนด์ 2 ครั้ง คือ ช่วงอายุครรภ์ที่ 18 - 20 สัปดาห์ และ 28 - 30 สัปดาห์

ยืนยันว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิกาไม่ได้แปลว่าทารกในครรภ์จะผิดปกติทุกราย แต่จะต้องมีการอัลตราซาวนด์ติดตามต่อเนื่องว่ามีความผิดปกติจริงหรือไม่ ซึ่งต้องตรวจให้พบเร็วที่สุด เพราะปัจจุบันยังบอกได้ยากว่าจะตรวจพบเจอทารกในครรภ์ศีรษะเล็กที่อายุครรภ์เท่าใด โดยแต่ละช่วงอายุครรภ์จะมีเกณฑ์มาตรฐานเส้นรอบวงศีรษะของทารกอยู่แล้วว่าเป็นเท่าใด แต่หากพบว่าทารกศีรษะเล็กจริง การจะยุติการตั้งครรภ์ก็จะใช้แนวทางเช่นเดียวกับการยุติการตั้งครรภ์จากสาเหตุอื่น คือ เด็กพิการจริงหรือไม่ กระทบกับสุขภาพของแม่ทั้งร่างกายและจิตใจหรือไม่ ต้องมีการปรึกษาหารือระหว่างแพทย์อย่างน้อย 2 คน และครอบครัวคือหญิงตั้งครรภ์และสามีก่อน และต้องทำก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ เพราะยิ่งอายุครรภ์มากภาวะแทรกซ้อนก็จะยิ่งมาก แต่หากอายุครรภ์เกิน 24 สัปดาห์จะถือเป็นการคลอด” ศ.นพ.ภิเศก กล่าวและว่า ทารกศีรษะเล็กในไทยทุกสาเหตุรวมกันถือว่าเกิดน้อยมาก ไม่ถึง 1% และเกิดจากซิกายิ่งน้อย เพราะส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอื่น ที่น่ากังวลคือ หัดเยอรมัน เพราะหากติดเชื้อคือทำให้ทารกมีความผิดปกติเกือบ 100% เลย ซึ่งต้องยุติการตั้งครรภ์ แต่ซิกานั้นไม่ได้ทุกรายที่จะเกิดความผิดปกติมีโอกาสเพียง 1 - 30% เท่านั้น

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า หากพบทารกศีรษะเล็กหลังอายุครรภ์เกิน 24 สัปดาห์ หากจะทำการคลอดเอาเด็กออกถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยจะต้องมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อสแกนสมองให้ชัดว่ามีศีรษะเล็กจริง ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นราย ๆ ไป โดยสูติแพทย์จะมีการหารือเพื่อวางแนวทางเรื่องนี้ต่อ ทั้งนี้ ยืนยันว่า หญิงตั้งครรภ์ที่แสดงอาการและไม่ได้แสดงอาการ ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มไหนจะเสี่ยงทารกศีรษะเล็กมากกว่ากัน แต่แบ่งเป็นสองกลุ่มเพื่อให้ง่ายต่อการดูแล ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ที่แสดงอาการจะทำให้การทำงานเร็วขึ้น เพราะจะเข้าสู่ระบบในการตรวจติดตามเด็กศีรษะเล็กอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถามถึงการดูแลเด็กทารกศีรษะเล็กที่คลอดออกมา รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า ขณะนี้จัดทำแนวทางการดูแลเด็กศีรษะเล็กเรียบร้อยแล้ว เตรียมที่จะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยทารกศีรษะเล็กจะต้องอยู่ในความดูแลของกุมารแพทย์ มีการตรวจติดตามเรื่องสายตา การได้ยิน และสมองไปจนถึงอายุ 2 ขวบ และมีการให้ยากันชักสำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องชักด้วย เพื่อให้คุณภาพชีวิตของเด็กที่ดีสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะต้องยอมรับว่าคงไม่กลับมาเป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไป เพราะเนื้อสมองมีน้อยกว่า

ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า ขอให้หญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ เพื่อได้รับการติดตามดูแล และขอให้ระวังในการไปในที่ที่มียุง และมีการป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัด รวมถึงหากมีเพศสัมพันธ์ก็ควรป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น