ยืนยันแล้ว!! ไทยมีทารกหัวเล็กจาก “ซิกา” 2 ราย อีก 1 ราย ยังไม่แน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญแจงซีดีซีห้ามหญิงท้องเหยียบแผ่นดินไทย ชี้สถานการณ์ไม่รุนแรง มีความเสี่ยงเท่ากันทุกประเทศ เผย มะกันเจอทารกหัวเล็กเยอะกว่า แถมห้ามหญิงท้องเดินทางไปฟลอริดา - ไมอามี
ความคืบหน้าการตรวจสอบทารกศีรษะเล็กจำนวน 3 ราย และทารกในครรภ์มารดา 1 ราย ที่อาจมีศีรษะเล็ก ว่า มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น รายงานว่า เด็กทารก 2 คน มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นตัวใด ซึ่งจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
ล่าสุด วันนี้ (30 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่กรมควบคุมโรค คณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ได้มีการประชุมพิจารณาผลการตรวจสอบ ว่า ทารกศีรษะเล็กมีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ โดยภายหลังการประชุมเมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวว่า จากการพิจารณาข้อมูลทั้งหมด คณะกรรมการลงมติว่า ทารกศีรษะเล็กที่เกิดจากเชื้อซิกามีจำนวน 2 ราย โดยรายแรก ตรวจน้ำเหลืองด้วยวิธีตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ (IgM) เป็นบวก โดยติดเชื้อจากมารดา ซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และรายที่สอง ตรวจปัสสาวะด้วยวิธีพีซีอาร์ให้ผลเป็นบวก ซึ่งติดจากมารดาเช่นกัน เพราะมารดามีอาการออกผื่น สำหรับทารกศีรษะเล็กรายที่สาม ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่ชัดเจนได้ ต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ส่วนทารกในครรภ์อีก 1 ราย พบมารดามีการติดเชื้อซิกา แต่ไม่ได้มีอาการแสดงออก ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเด็กจะมีศีรษะเล็กหรือไม่ ต้องติดตามต่อไป
“สำหรับเด็กทั้ง 3 ราย ที่คลอดออกมามีศีรษะเล็ก เบื้องต้นพบว่า มีอาการเกร็ง เรียกไม่ค่อยได้ยินเสียง อย่างไรก็ตาม เด็กยังเล็กเกินกว่าที่จะระบุเรื่องพัฒนาการได้ ซึ่งจะต้องมีการตรวจติดตามต่อไป ทั้งนี้ ยืนยันว่า ทารกศีรษะเล็กไม่ได้เกิดจากเชื้อซิกาอย่างเดียวเท่านั้น ยังเกิดได้จากการติดเชื้อซิฟิลิส หัดเยอรมัน เริม การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และได้รับสารเคมีด้วย ที่สำคัญ ไม่ใช่ทุกรายที่ติดเชื้อซิกาแล้วจะมีศีรษะเล็ก ซึ่งไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใด เด็กจะมีลักษณะศีรษะเล็กและอาการเหมือนกัน ทั้งนี้ ยังได้มีการตั้งคณะกรรมการจัดทำแนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์ และเด็กที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อและสงสัยว่าติดเชื้อซิกา โดยมี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นประธาน” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวและว่า สำหรับมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อซิกา ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันกำจัดยุงลายและลูกน้ำยุงลายภายในบ้าน หญิงตั้งครรภ์ต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด ทายากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด กางมุ้งนอน และหากจะมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ก็ต้องสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อที่ติดต่อทางอสุจิ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ออกประกาศเตือนหญิงตั้งครรภ์ไม่ให้เดินทางมายัง 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซิกา ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วมีความเสี่ยงทุกประเทศทั่วโลก แม้แต่สหรัฐอเมริกาเองก็มีทารกศีรษะเล็กเช่นกันตั้งแต่ 1 ปีที่แล้ว ซึ่งเจอในทุกรัฐ และมีการเตือนไม่ให้หญิงตั้งครรภ์สหรัฐฯ เดินทางไปในบางรัฐ เช่น ฟลอริดา และ ไมอามี จริง ๆ แล้ว ไม่มีที่ไหนเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยไปกว่ากัน เพราะเสี่ยงเท่า ๆ กัน อย่างในสหรัฐฯ มีข้อมูลเด็กทารกศีรษะเล็กอัตรา 2 - 12 รายต่อเด็กที่เกิดมีชีพ 10,000 คน ส่วนประเทศไทยเด็กทารกศีรษะเล็กมี 31 ราย คิดเป็น 4.36 รายต่อเดกเกิดมีชีพแสนคน
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ระบบการติดตามศีรษะเล็กที่เกิดจากซิกา มี 2 ระบบ คือ 1. การติดตามหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ที่มีการพบผู้ป่วยซิกา ว่า มีการติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งขณะนี้พบประมาณ 30 กว่าราย คลอดแล้ว 8 ราย แต่เด็กทารกปกติทุกราย และ 2. เมื่อพบเด็กทารกศีรษะเล็ก จะมีการสอบสวนสาเหตุย้อนหลังว่าเกิดจากอะไร เพราะศีรษะเล็กเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุซึ่งเด็กทารกศีรษะเล็ก 3 ราย ซึ่งอยู่นอกพื้นที่เฝ้าระรังก็ตรวจพบจากระบบนี้
“ยืนยันว่า การพบผู้ป่วยซิกาในไทยถือเป็นสถานการณ์ปกติ ไม่ได้มีการระบาดเพิ่มขึ้น แต่ที่พบผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้ว เพราะมีการตรวจเชื้อจำนวนมากกว่า 10,000 ราย เพื่อป้องกันทารกศีรษะเล็ก ต่างจากปีก่อนที่ตรวจเพียงกว่า 100 ราย ซึ่งหากปีก่อนตรวจในปริมาณเท่ากัน ก็คาดว่า จะพบผู้ป่วยจำนวนเท่า ๆ กัน จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนก หรือกังวลจนเกินไป เพราะเป็นโรคที่มีอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว และพบได้ตามประเทศเขตร้อน ซึ่งบางประเทศก็ไม่ได้มีการเปิดเผย หรือตรวจเชื้อดังกล่าว แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มี ซึ่งก็มีการพบว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับจากประเทศที่ไม่ได้มีรายงานซิกามาก่อน กลับมีการป่วยด้วยโรคซิกา แต่ประเทศไทยมีการเปิดเผยข้อมูล” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า เด็กทารกศีรษะเล็ก 2 ราย ที่ยืนยันว่า เกิดจากเชื้อซิกานั้น ได้จากการตรวจสอบย้อนหลังกลับไป ซึ่งจะเห็นว่า รายแรกแม่เด็กติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ส่วนรายที่สอง แม่เด็กมีอาการออกผื่น ซึ่งโรคติดเชื้อซิกานั้น 80% การติดเชื้อสู่คนมักไม่มีอาการ และ 20% มีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง แต่สามารถหายเองได้ ซึ่งซิกาถือเป็นโรคเก่าที่ทำให้เกิดโรคใหม่ คือ ศีรษะเล็ก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยทราบ จนกระทั่งทราบจากกรณีของบราซิล ทำให้ทางการแพทยืหันมาสนใจในเรื่องนี้
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเสี่ยงการมีศีรษะเล็กของทารกในครรภ์เกิดขึ้นในระยะใดก็ได้ ตั้งแต่ระยะกลางไปจนถึงระยะท้ายของการตั้งครรภ์ ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จึงต้องดูแลและป้องกันตัวเองตลอดตั้งแต่การตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อซิกาบางรายที่โชคร้ายอาจมีอาการทางระบบประสาท ไขสันหลังอักเสบ สมองอักเสบ แขนขาอ่อนแรงได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่