xs
xsm
sm
md
lg

คลอดเกณฑ์ดูแลหญิงท้อง สงสัยติดเชื่อไวรัสซิกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วางกรอบแนวทางการดูแล "หญิงท้อง" สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา หากมีอาการเร่งตรวจยืนยันเชื้อ ก่อนอัลตราซาวนด์ติดตามจนคลอด พบ "เด็กหัวเล็ก" หรือไม่ ขณะที่กลุ่มไม่มีอาการ เพิ่มอัลตราซาวนด์เป็น 2 ครั้ง เผยทารกผิดปกติก่อน 24 สัปดาห์ หารือยุติทำแท้งได้ตามเงื่อนไขกฎหมาย

วานนี้ (5 ต.ค.) ที่กรมการแพทย์ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานการประชุมพิจารณาแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย และดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา เปิดเผย ภายหลังการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชจากโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลของรัฐ และเอกชน ว่า ไวรัสซิกาเป็นเชื้อเก่ากว่า 60 ปี แต่ทำให้ทารกศีรษะเล็กถือเป็นกลุ่มอาการใหม่ที่เพิ่งเจอ เนื่องจากอาจไม่มีการระบาด ทำให้ไม่พบปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาในเอเชียยังไม่เห็นมีการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกามาก่อน

โดยประเทศไทยชัดเจนแล้วว่า พบทารกศีรษะเล็กจากซิกา 2 ราย จึงต้องหาแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา เพราะเมื่อติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วร้อยละ 80 มักไม่มีอาการ จะมีอาการเพียงร้อยละ 20 คือ เป็นไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ และเมื่อติดเชื้อแล้วไม่ได้ทำให้ทารกในครรภ์ศีรษะเล็กหรือมีหินปูนจับสมองทุกราย เห็นได้ชัดจากการติดตามหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิกาในไทย 39 ราย พบว่า 23 รายไม่แสดงอาการ มีอาการเพียง 16 ราย และที่คลอดออกมาแล้ว 9 ราย เด็กก็ปกติดี ส่วนทารกศีรษะเล็กจากซิกา 2 รายนั้นเป็นเคสที่พบทารกศีรษะเล็กก่อนที่จะวินิจฉัยได้ว่ามารดาเคยติดเชื้อซิกา

"ประเทศไทยมีการตรวจหาเชื้อซิกาเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ตรวจ 10 กว่าราย พบติดเชื้อ 5 ราย เพิ่มเป็นตรวจ 10,000 กว่ารายปี 2559 พบติดเชื้อ 392 ราย ซึ่งการตรวจเยอะย่อมเจอเยอะ ส่วนที่บางประเทศรายงานพบเพียง 1-2 ราย เชื่อว่าประเทศใดที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ ย่อมต้องมีเชื้อซิกาด้วย แต่อยู่ที่ว่าจะมีการตรวจหาเชื้อหรือไม่" นพ.ทวี กล่าว

นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และคณะทำงานด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันแล้วได้มีข้อสรุปแนวทางปฏิบัติฯ โดยจะมีการแบ่งหญิงตั้งครรภ์ออกเป็น 2 กลุ่ม 1.กลุ่มที่มีอาการของโรคซิกา อาทิ ไข้ ออกผื่น ตาแดง อักเสบ เป็นต้น จะต้องตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่ามีการติดเชื้อซิกาจริงหรือไม่ หากพบว่ามีการติดเชื้อจริงจะส่งผู้เชี่ยวชาญดูแล โดยต้องทำการอัลตร้าซาวด์เพื่อดูพัฒนาการของทารกในครรภ์ตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์เป็นต้นไป และอัลตร้าซาวด์ทุกเดือนจนกว่าจะคลอด

2. กลุ่มที่ไม่มีอาการต้องตรวจอัลตร้าซาวด์ช่วงอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์เช่นกัน และตรวจอัลตร้าซาวด์ซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุครรภ์ได้ 28-30 สัปดาห์ ทั้งนี้ในการตรวจจะดูว่าเด็กมีศีรษะเล็กกว่ามาตรฐานหรือไม่ มีหินปูนเกาะที่เนื้อสมองหรือไม่ และมาคำนวณทางสถิติ และแต่จะตรวจเจอความผิดปกติเมื่ออายุครรภ์มากแล้ว การจะยุติการตั้งครรภ์ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 2 คนให้หรือร่วมกับแม่ที่อุ้มท้อง พ่อ และครอบครัวเพื่อตัดสินใจร่วมกัน อย่างไรก็ตามการยุติการตั้งครรภ์ได้ยอมรับกันที่อายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ มากกว่านี้เด็กจะมีชีวิตแล้ว

“ภาวะศีรษะเล็กเกิดได้ในทุกช่วงอายุครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาศ 1 และ 2 ของการตั้งครรภ์ถือเป็นช่วงทองในการพัฒนาการทางสมอง ดังนั้นจึงขอให้รีบมาฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อติดตามและดูแลพัฒนาการของทารก แต่ที่ผ่านมาเราพบว่าอัตราการฝากครรภ์ของหญิงไทย บางพื้นที่พบว่าร้อยละ 30 มาฝากครรภ์หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ไปแล้ว เลยเสียโอกาสในช่วงสำคัญในการพัฒนาสมองของทารกไป” นพ.ภิเศก กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น