xs
xsm
sm
md
lg

คนรับรู้-กลัว “ซิกา” แต่ช่วย “กำจัดลูกน้ำยุงลาย” น้อย ชี้ วัด-ร.ร.-โรงงานแหล่งแพร่พันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เผย คนรับรู้ - ตื่นกลัว “ซิกา” กว่า 80% แต่ช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลายแค่ 60% ขอความร่วมมือร่วมกันแก้ปัญหาช่วยควบคุมโรคได้ ชี้ วัด โรงเรียน โรงงาน พบดัชนีลูกน้ำยุงลายมาก ในบ้านแหล่งเก็บน้ำ ขยะรอบบ้านพบเป็นที่วางไข่สูงสุด ย้ำ ตรวจซิกาหญิงตั้งครรภ์พื้นที่พบผู้ป่วยฟรี

วันนี้ (3 ต.ค.) ที่กรมควบคุมโรค (คร.) ในการประชุมเตรียมความพร้อมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดี คร. และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ไวรัสวิทยา เข้าร่วมประชุม หลังกรณีพบเด็กทารกศีรษะเล็ก 2 ราย จากเชื้อซิกา พร้อมทั้งหารือมาตรการเฝ้าระวัง และแนวทางป้องกันหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิกา

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับเด็กทารกศีรษะเล็ก 2 ราย ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า เป็นเคสที่พบน้อยมาก ไม่ใช่ว่าหญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะคลอดเด็กศีรษะเล็กทุกคน เพราะสาเหตุไม่ใช่เพียงเชื้อซิกา แต่ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก อาทิ หัดเยอรมัน เป็นต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การป้องกันยุง ไม่ให้ยุงกัด โดยการกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย และกำจัดยุงตัวแก่ จึงควรถือวิกฤตเป็นโอกาสในการร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย พร้อมทั้งภาครัฐก็จะไปช่วยในเรื่องพ่นหมอกควันยุงตัวแก่ โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ซึ่งการกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย ไม่ใช่แค่ในบ้าน แต่ในโรงเรียน วัด สถานที่ต่าง ๆ ต้องร่วมด้วยกันช่วย ซึ่งขณะนี้น่าตกใจว่ากลับพบลูกน้ำยุงลายมากในวัด ซึ่งก็ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ และช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายอยู่

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากการประชุมทำให้ทราบว่า ที่ผ่านมา มีมาตรการในการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อซิกาอย่างเข้มงวด และละเอียดมาก โดยได้มีการตรวจเชื้อผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยจำนวน 10,000 คน ในพื้นที่เสี่ยง 16 จังหวัด ซึ่งเป็นที่ทราบว่าเจอผู้ป่วยกว่า 300 คน ตั้งแต่ต้นปี แต่ทุกวันนี้หายดีแล้ว เนื่องจากมีการติดตามอาการ 28 วัน ทำให้ในรอบสัปดาห์พบผู้ป่วย 40 ราย จังหวัดที่พบโรคก็ลดน้อยลง ไม่ได้จำเพาะอีก ซึ่งในคนทั่วไปไม่ต้องกังวล เพราะโรคซิกาไม่ได้รุนแรง หายเองได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับหญิงตั้งครรรภ์ที่ผ่านมาในพื้นที่เสี่ยง ได้มีการตรวจหาเชื้อซิกาประมาณ 1,000 คน พบ 39 คน ในจำนวนนี้มีเด็กคลอดแล้ว 9 คน ซึ่งปกติดี ไม่มีภาวะหัวเล็ก

“การจะพบว่าเด็กทารกมีภาวะศีรษะเล็กหรือไม่ ขณะนี้จะพบได้ในอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ซึ่งถือว่ามากเกินไปที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น ต้องป้องกัน และต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายในการตรวจหาเชื้อซิกาในหญิงตั้งครรภ์ จะดำเนินการเฉพาะพื้นที่เสี่ยงที่พบเชื้อซิกา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการตรวจมาต่อเนื่อง แต่จากนี้จะเข้มกว่าที่ผ่านมาอีก ซึ่งหญิงตั้งครรภ์คนไหนอยู่พื้นที่เสี่ยงมาก ๆ และมีความจำเป็นต้องตรวจเชื้อซิกา ก็ต้องตรวจให้ฟรี ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ยังไม่ต้องตรวจ รวมทั้งหญิงที่ตั้งใจจะท้อง ก็ยังไม่ต้องไปตรวจหาเชื้อซิกา เพราะไม่มีความจำเป็น สิ่งสำคัญคือป้องกันตัวเองดีที่สุด” รมว.สธ. กล่าว

ต่อมาเวลา 11.00 น. นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดยกำชับให้มีการเฝ้าระวังและป้องกันโรคซิกาอย่างเข้มข้น ทั้งเรื่องของการกำจัดลูกน้ำยุงลาย และเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยซิกาเป็นพิเศษ โดย นพ.โสภณ กล่าวว่า ดัชนีลูกน้ำยุงลายบางสถานที่ถือว่าน่าเป็นห่วง โดยศาสนสถานพบร้อยละ 60.47 โรงเรียนร้อยละ 41.40 โรงงานร้อยละ 38.10 และโรงพยาบาลร้อยละ 27.59 ส่วนในบ้านประชาชนแหล่งที่พบลูกน้ำยุงลายในภาชนะมากที่สุด คือ ภาชนะที่เก็บน้ำใช้พบถึงร้อยละ 70 รวมทั้งในภาชนะที่ไม่ใช้ประโยชน์ และยางรถเก่า นอกจากนี้ จากการทำโพลเกี่ยวกับการรับรู้ซิกาของประชาชน พบว่า ประชาชนรับรู้และตื่นกลัวต่อโรคซิกาถึง 80% แต่พฤติกรรมการจัดการกับปัญหายังไม่ดี คือ มีการลงมือปฏิบัติเพื่อป้องกันเชื้อซิกา เช่น กำจัดลูกน้ำยุงลาย เพียง 50 - 60% เท่านั้น ซึ่งย้ำว่าการจะควบคุมโรคนี้ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน อย่างบางแห่งสอบสวนโรคพบผู้ป่วยแต่ละแวกบ้านแถวนั้นไม่ยอมให้เข้าไปกำจัดยุง

“การดูแลบ้าน รอบบ้าน และสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยป้องกันได้ แม้บ้านตัวเองจะไม่มีเด็ก ไม่มีคนท้อง แต่หากไม่ดูแลปล่อยบ้านเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ยุงลายก็อาจบินไปกัดแลแพร่เชื่อใส่บ้านใกล้เคียง ซึ่งอาจมีเด็ก มีคนท้องอยู่ นำมาซึ่งโรคไข้เลือดออก และซิกาได้ ซึ่งอย่างนี้จะเป็นบาปเปล่า ๆ สำหรับมาตรการทางกฎหมายย้ำว่าลูกน้ำยุงลายถือเป็นเหตุรำคาญที่แต่ละเทศบาล หรือ อบต. สามารถดำเนินการอย่างจริงจังได้” ปลัด สธ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น