“อภินันท์” เร่งหาทางออก MV ทศกัณฐ์ยกทัพยักษ์เที่ยวทั่วไทย ให้พบกันครึ่งทาง ย้ำไม่ได้แบน ด้าน ผช. อธิการบดี สบศ. ชี้ เข้าข่ายไม่เหมาะ แจงนำชุดโขนมาแสดงอากัปกิริยามนุษย์
จากกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ MV เรื่อง ทศกัณฐ์ยกทัพยักษ์เที่ยวทั่วไทย ความยาวประมาณ 4 นาที ที่ นางสาวลัดดา ตั้งศุภาชัย อดีตผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม บอกว่า มีบางฉากบางตอนไม่เหมาะสม เช่น ทศกัณฐ์แคะขนมครก ขี่บานานาโบ๊ต ขี่ม้า ขับรถโกคาร์ต เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในขณะนี้กระแสวิพากษ์วิจารณ์มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ล่าสุด วันนี้ (22 ก.ย.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด วธ. ทั้ง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) และผู้บริหาร วธ. เข้าร่วมหารือกรณีดังกล่าว โดยมี ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน ซึ่งใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้น ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวว่า MV เรื่อง ทศกัณฐ์ยกทัพยักษ์เที่ยวทั่วไทย เป็นกระแสที่หลายคนกำลังติดตาม
ทั้งนี้ จากการประชุมได้ข้อสรุปว่า ให้พบกันครึ่งทาง และเห็นควรให้ปรับปรุงแก้ไขภาพ และเนื้อหาบางส่วนให้เหมาะสมมากขึ้น เพราะเชื่อว่า เมื่อแก้ไขแล้ว MV น่าจะออกมาดียิ่งขึ้น โดย วธ. จะเชิญ นายบัณฑิต ทองดี ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ททท. และผู้รู้เรื่องโขนจาก วธ. มาหารือกันว่า มิวสิกวิดีโอที่ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ควรปรับปรุงแก้ไขส่วนใดบ้าง
ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่า ประชาชนที่ได้ชมมิวสิกวิดีโอดังกล่าวแล้ว น่าจะรู้สึกสนุกเพลิดเพลิน เพราะนำเสน่ห์ไทยมานำเสนอได้เป็นอย่างดีในเวลา 4 นาที อย่างไรก็ตาม จากการหารือในวันนี้ และได้รับทราบจากผู้รู้จากกรมศิลปากร และ สบศ. นั้น ยังพบว่า มีบางฉากที่ไม่เหมาะสม เช่น ทศกัณฐ์ไปหยอดขนมครก ขับโกคาร์ต ถ่ายเซลฟี ขี่ม้าบนชายหาดหัวหิน เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่า ทศกัณฐ์ ถือว่าเป็นราชาแห่งยักษ์ และเป็นตัวละครในวรรณคดีที่สง่างาม น่าเกรงขาม ไม่ควรจับมาทำกิจกรรมลักษณะเช่นนี้ ประกอบกับโขนเป็นศิลปะชั้นสูง มีครูบาอาจารย์ ต้องมีความเคารพ แต่คนทั่วไปอาจมองว่าเป็นเรื่องวรรณกรรมจินตนาการ และคนรุ่นใหม่ก็อาจมองว่าทำไมถึงทำไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ได้ลบหลู่ ดูแค่เพลิน ๆ อมยิ้มไม่ได้ตลกขบขัน แต่เมื่อมีผู้รู้มองว่า การนำทศกัณฐ์มาอยู่ในฉาก ควรจัดให้พอเหมาะพอควร และมีกาลเทศะ ขณะที่ ผู้ผลิตอาจมองว่า เป็นเรื่องร่วมสมัยและต่อยอดมรดกวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความน่าสนใจในเรื่องของโฆษณา ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับ นายบัณฑิต นอกรอบ ซึ่งยินดีจะแก้ไขให้ดีขึ้น
“เชื่อว่า ททท. ไม่คิดไปทำลายวัฒนธรรม และมีเจตนารมณ์ดีอยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการท่องเที่ยวในเชิงมิติวัฒนธรรม เพียงแต่อาจไม่เข้าใจการนำศิลปวัฒนธรรมมาใช้ทั้งหมด เราต้องให้โอกาส ททท. และคงไม่สามารถห้ามเผยแพร่มิวสิกวิดีโอนี้ได้ เพราะโลกดิจิทัลควบคุมค่อนข้างยาก แต่สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ก็คือ ปรับปรุงมิวสิกให้เหมาะสมโดยเร็ว ผมเน้นย้ำว่า ภาครัฐควรต้องคุยกัน แต่ที่สำคัญ ภาคเอกชนที่เป็นบริษัทโฆษณาจะได้รับทราบถึงสิ่งที่ทำลงไปว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นบทเรียน ผมจึงเห็นว่า ในอนาคตควรมีการจัดทำคู่มือเกี่ยวกับการนำศิลปวัฒนธรรมไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมโดยเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ เพราะบางเรื่องมีผู้ที่ไม่รู้ แต่ไม่รู้จะถามใคร และในอนาคตบริษัทโฆษณา หรือกระทรวงต่าง ๆ ที่จะทำมิวสิกวิดีโอลักษณะนี้สามารถที่จะมาขอหารือกับผู้รู้ของ วธ. ได้ เพื่อจะได้ขับเคลื่อนร่วมกัน”
ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวต่อว่า วันที่ 23 ก.ย. นี้ ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดี สบศ. จะเชิญศิลปินแห่งชาติ ด้านโขน และนาฏศิลป์ มาให้องค์ความรู้และข้อมูลด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ วันที่ 29 ก.ย. สวธ. จะเปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เน้นสื่อโฆษณาด้านศิลปวัฒนธรรม
ด้าน นายธีรภัทร์ ทองนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดี สบศ. กล่าวว่า โขนเป็นมรดกของชาติ เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูง ที่สำคัญ มีจารีต มีขนบในการแสดง ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่ วธ. กรมศิลปากร หรือ สบศ. ไม่เห็นด้วยกับมิวสิกวิดีโอ ทั้งหมด เพียงแต่มีบางตอนไม่เหมาะสม เป็นอากัปกิริยาของมนุษย์ โดยนำเครื่องแต่งกายโขนไปใช้เท่านั้น ตรงนี้อาจทำให้คนทั่วไปมองว่าโขนเล่นอะไรก็ได้ รูปแบบจารีต และขนบที่แท้จริงก็จะหายไป ซึ่งเรื่องนี้เหมือนดาบสองคม ดังนั้น เมื่อผู้ผลิตไม่มาปรึกษาหน่วยงานที่ดูแลมรดกของชาติอย่างเรา ทำให้โดนร้องเรียน แต่ผู้ผลิตก็อ้างว่าได้ปรึกษาก่อนผลิตแล้ว แต่ก็หาตัวคนนั้นไม่ได้ กล้าพูดหรือไม่ว่าปรึกษาใคร
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่