กาฬสินธุ์ - จี้ “บิ๊กตู่” สั่งล้างบางเครือข่ายในองค์กรสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ระบุเลือกแต่คนเก่าติดต่อกัน 15 ปี ทำภารกิจส่งเสริมพัฒนารากเหง้าวัฒนธรรมกาฬสินธุ์เสียหาย แฉ จนท.รู้เห็นเป็นใจ เหตุมัดมือชกจัดเลือกตั้งกันใหม่ ลั่นท้าพิสูจน์วัดใจ คสช.ส่งยอดฝีมือปราบคอร์รัปชันหยุดมาเฟีย ใช้กฎหมาย 7 ชั่วโคตรล้างบาง
วันนี้ (14 ก.ย.) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม 1 โรงแรมชาร์ลองบูทรีค จ.กาฬสินธุ์ ได้มีการประชุมเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีองค์กรเครือข่ายวัฒนธรรมภาคเอกชน และส่วนราชการเข้าร่วม มีนายสุรพจน์ รัชชุศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธาน และมีนางพรพิมล คงตระกูล วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแม่งานและชี้แจงบทบาทหน้าที่และความเป็นมาของสภาวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่หมดวาระทำหน้าที่ในการรายงานผลการดำเนินงานสภาวัฒนธรรมในรอบปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหัวข้อที่กำหนดเป็นการประชุมปรึกษาหารือการให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่สมาชิกส่วนใหญ่เชื่อว่าจะเป็นการหารือเพื่อเตรียมการจะเลือกตั้งประธานสภาวัฒนธรรมคนใหม่ในภายหลังเท่านั้น แต่ในที่ประชุมโดยนางพรพิมล คงตระกูล วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ กลับเปิดให้มีการเลือกตั้งประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์คนใหม่ โดยให้นายอุทัย เวียงวะลัย เครือข่ายวัฒนธรรมอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่ ส่งผลให้สมาชิกภาคเอกชนที่ส่วนใหญ่เป็นองค์กรเครือข่ายพากันโต้แย้งต่อการกระทำที่เกิดขึ้น โดยชี้ให้เห็นถึงกลุ่มบุคคลที่อยู่ในที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกและองค์กรเครือข่ายที่มีสิทธิในการเลือกตั้งไม่ได้รับเชิญ จนทำให้เชื่อว่ามีการล็อบบี้ยิสต์จัดตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาเลือกตั้ง แต่ก็ได้ให้มีการเลือกตั้งโดยอ้างมติการยกมือในที่ประชุม จนได้นายชาญยุทธ โคตะนนท์ เป็นประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ติดต่อกันเป็นสมัยที่ 6
นายนิมิต รอดภัย นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะเครือข่ายวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ภาคเอกชน กล่าวว่า ตนขอแย้งและยืนยันว่าจะร้องไปถึง คสช. และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม รวมไปถึงศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้ตรวจสอบผลการเลือกตั้งครั้งนี้เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่โปร่งใส ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เพราะการปรึกษาหารือ ยังไม่ใช่การเลือกตั้ง
ทั้งนี้ การเลือกตั้งจะต้องมีการประกาศอย่างเปิดเผย วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ในฐานะผู้รับผิดชอบจะต้องแจ้งไปยังองค์กรเครือข่ายที่มีอยู่จริง รวมถึงจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติจริงตามรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่การมัดมือชก โดยเฉพาะนายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ นั้นได้เป็นประธานสภาวัฒนธรรมมาแล้วถึง 5 สมัย ตกสมัยละ 3 ปี รวมก็ 15 ปี และในฐานะที่อยู่ในเครือข่ายส่วนตัวมองว่าไม่มีการพัฒนาผลงานหรืออาชีพในด้านวัฒนธรรมให้แก่คนกาฬสินธุ์ ทั้งที่จังหวัดกาฬสินธุ์มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่สูงส่ง กลับไม่ได้รับการสนับสนุน การเลือกตั้งหลายครั้งจำกัดสิทธิโดยกลุ่มบุคคลไม่กี่กลุ่ม ไม่เคยมีนักวิชาการที่รู้เรื่องวัฒนธรรมจริงๆ เข้ามาร่วมพัฒนา
“สิ่งนี้เคยได้ปรึกษาไปยังวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะตามหลักการนั้นใน พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 สำหรับผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์นั้นก็จะต้องออกจากวาระตามกติกา แต่กลับปล่อยให้มีการเลือกตั้ง แต่งตั้งอย่างไม่คำนึงถึงความถูกต้องโปร่งใส” นายนิมิตกล่าว และว่า นอกจากนี้ นายชาญยุทธยังมีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ขึ้นกับ สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณ ดูแลเรื่องความโปร่งใสของรัฐทั้งหมด แต่กลับมีตำแหน่งเป็นประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งจะต้องบริหารงบประมาณหลายสิบล้านบาท เมื่อมีตำแหน่งพ่วงเช่นนี้ใครจะเป็นคนตรวจสอบ ถือได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนและประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำลังรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว”
นายนิมิตกล่าวอีกว่า ตนจะทำหนังสือรายงานชี้แจงพฤติการณ์รวมถึงพฤติกรรมทั้งหมดไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือประธาน คสช. รวมไปถึงกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ และจะให้ตรวจสอบภายในสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะถือได้ว่ามีพฤติกรรมรู้เห็นเป็นใจ รวมทั้งมีเจตนาที่เล็งเห็นผลสนับสนุนให้กระทำผิด ที่ต้องขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ กวาดล้างปัดบ้านให้สะอาด เพราะเชื่อว่ามีกลุ่มอิทธิพลเข้าครอบงำการทำงานของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ จนทำให้จังหวัดกาฬสินธุ์ไม่พัฒนาในเรื่องของคุณภาพที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ที่แท้จริงเพราะยังคงเลือกเอาคนที่ไม่รู้เรื่องวัฒนธรรมเข้ามาทำงาน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้พยามติดต่อนางพรพิมล คงตระกูล วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ทางโทรศัพท์ เพื่อให้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้