กาฬสินธุ์ - เครือข่ายวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์-ภาคเอกชนเดินหน้าจี้ คสช.ล้างบางกลุ่มอิทธิพลในสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ล่าสุดยื่นหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรม ลั่นไม่แก้ปัญหาถึงมือปลัดกระทรวงวัฒนธรรมแน่ ด้านผู้ว่าฯ เปิดทาง ชี้ตั้งประธานสภาวัฒนธรรมผิดระเบียบก็ควรเลือกตั้งใหม่
กรณี นายนิมิต รอดภัย นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะ เครือข่ายวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ภาคเอกชน ออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธาน คสช. สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการปราบปรามกลุ่มมาเฟียภายในสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ภายหลังจากที่เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 เกิดความโกลาหลในการปรึกษาหารือเพื่อคัดเลือกประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์คนใหม่ โดยระบุว่าเป็นการจัดตั้ง ไม่เปิดกว้าง และยังได้ทำผิดระเบียบ ซึ่งได้ทำการทักท้วงคักค้านต่อ นางพรพิมล คงตระกูล วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ก็ยังมีการปล่อยให้มีการเลือกตั้ง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้ (15 ก.ย.) เวลา 14.00 น. ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ นายนิมิต รอดภัย นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะเครือข่ายวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ภาคเอกชน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายไชยา เครือหงส์ ตัวแทนหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อร้องขอให้ตรวจสอบและยกเลิกผลการประชุมและให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคัดเลือกดังกล่าว โดยยืนยันว่าเป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ ผิดระเบียบ ตาม พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553
นายนิมิตกล่าวว่า สิ่งที่ผิดระเบียบนั้นถือว่าชัดเจน เป็นการมัดมือชก และปิดหูปิดตาบุคคลผู้มีความสามารถอื่น เนื่องจากตามระเบียบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง คณะทำงานจะต้องเชิญประธานและกรรมการสภาวัฒนธรรม อำเภอทุกอำเภอ ซึ่งเป็นสมาชิกของ สภาวัฒนธรรมจังหวัด ในแต่ละอำเภอซึ่งมีอยู่ 15-39 คน แต่คณะทำงานได้จัดทำหนังสือเชิญเฉพาะประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเพียง 1 คนเท่านั้น มิได้เชิญคณะกรรมการ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาวัฒนธรรมจังหวัด ซึ่งมีสิทธิออกเสียงในการประชุมมาร่วมด้วย
ทั้งนี้ คณะทำงานต้องเชิญประธานและกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรเครือข่ายต่างๆ ที่ได้รับการจดแจ้งในระดับจังหวัด 10 ท่าน ซึ่งมีสิทธิออกเสียงในการประชุมครั้งนี้ แต่ในการปฏิบัติจริง คณะทำงานได้เชิญผู้แทนองค์กรเครือข่ายเพียง 1 คน อีกทั้งคณะทำงานได้เชิญประธานสภาวัฒนธรรมตำบล ตำบลละ 1 คน ซึ่งโดยตำแหน่งตาม พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ตำแหน่งดังกล่าวมิได้เป็นสมาชิกของสภาวัฒนธรรมจังหวัด
อีกทั้งในการแจกแถบสีของผู้มีสิทธิในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมติดเพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงหน่วยงานหรือองค์กรต้นสังกัดของผู้ที่มีสิทธิในการประชุมครั้งนี้ จึงไม่สามารถแสดงสัญลักษณ์หรือทำให้รู้ได้ว่าใครมีสิทธิในการเลือกตั้ง เมื่อมีคนจำนวนมาก จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งแบบยกมือออกเสียง โดยขาดกระบวนการตรวจสอบที่แท้จริง จึงเชื่อว่ากรณีดังกล่าวคณะทำงานโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ไม่บริสุทธิ์โปร่งใส และไม่ได้เป็นไปตามแนวทางการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมตาม พ.ร.บ.นี้
นายนิมิตกล่าวว่า ข้อสังเกตคือการตั้ง นายชาญยุทธ โคตะนนท์ เป็นประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังเป็นการเลือกตั้งคนเก่า ในมุมมองเห็นว่าควรที่จะเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งแบบเปิดเผย เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา เอาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาวัฒนธรรมคนกาฬสินธุ์ได้จริง เพราะที่ผ่านมาถือว่าผลงานด้านวัฒนธรรมไม่มีความโดดเด่น เพราะจะอยู่ในลักษณะเข้าไปร่วมงานมากกว่าที่จะคิดว่าจะทำอะไรให้ชาวกาฬสินธุ์ ที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ดีงาม สูงส่งมากแห่งหนึ่งของประเทศ
“กรณีนี้ผมจะเดินหน้าให้ถึงที่สุด และจะต้องเกิดความโปร่งใส เพราะในฐานะที่ผมเป็นคนกาฬสินธุ์คนหนึ่งก็ต้องการพัฒนาจังหวัด โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม ที่ไม่ว่าจะเป็นสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือแม้แต่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ จะต้องถามว่าบุคคลกลุ่มนี้รู้คำว่าวัฒนธรรมมากน้อยเพียงใด หรือรู้เรื่องเกี่ยวกับรากเหง้าทางวัฒนธรรมมากน้อยเท่าไหร่ เพราะในขณะนี้คนที่เห็นด้วยก็มีมาก
ส่วนจะแก้ไขอย่างไรก็ขอให้มีความชัดแจ้ง หากทางศูนย์ดำรงธรรมไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องตามระเบียบ ผมจะเดินทางไปที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อไปบอกปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่เกิดความเสียหายของจังหวัดกาฬสินธุ์ คือการทำงานเพียงการใส่หน้ากากเข้าหากันและไม่มีความจริงใจต่อพี่น้องประชาชนเท่านั้น” นายนิมิตกล่าว
ด้าน นายวินัย วิทยานุกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เบื้องต้นขณะนี้ได้รับรายงานจากสื่อมวลชน ซึ่งแน่นอนว่าในการคัดเลือกหรือทำอะไรทุกอย่างต้องเกิดความโปร่งใส ในเมื่อมีการโต้แย้งเกิดขึ้นก็จะต้องตรวจสอบ
หากทำผิดระเบียบปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วัฒนธรรม พ.ศ. 2553 ก็จะแนะนำให้ไปจัดการเลือกตั้งประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์คนใหม่ ทั้งนี้ ในส่วนการบริหารภายในต่างๆ นั้นก็จะมีการตรวจสอบเพื่อหารือในเรื่องที่เกิดขึ้นต่อไป