xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณเตือน “มะเร็งต่อมลูกหมาก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ถือเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตชายไทยอันดับต้น ๆ เปรียบเสมือนภัยเงียบ และเป็นสาเหตุการตายของชายไทยรองจากมะเร็งปอด แต่ถ้าเรารู้ทันและรู้จักสังเกตตัวเอง มะเร็งต่อมลูกหมากก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป

ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนา “ใส่ใจสักนิด พิชิตมะเร็งต่อมลูกหมาก” จัดโดย เว็บไซต์ มะเร็งต่อมลูกหมาก.com ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันนวัตกรรมในการรักษาโรคมะเร็งยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิธีการรักษาและการคิดค้นยานวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการรักษาโรคนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งลดอาการทรมานจากการเจ็บป่วย ยังรวมไปถึงช่วยฟื้นฟูร่างกายให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น และผู้ป่วยบางรายสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติเหมือนกับคนทั่วไป

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับ 4 ของชายไทย แม้จะพบได้ไม่บ่อยมากแต่อุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะชายไทยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงที่ควรระมัดระวังให้มากขึ้น คือ กลุ่มมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมลูกหมากมีการตรวจคัดกรอง ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็ยังมีผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งที่มาพบแพทย์ในระยะแพร่กระจายก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยนวัตกรรมการรักษาและยาที่มีประสิทธิภาพอีกหลายชนิด ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งอมลูกหมากสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยืนนานมาก และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากด้วย” ผศ.พญ.เอื้อมแข กล่าว

ส่วนสาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก พญ.เอื้อมแข กล่าวว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีความเป็นไปได้ว่า เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ได้แก่ อายุของผู้ป่วย การถ่ายทอดทางพันธุกรรม การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานจำพวกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากกันมากขึ้น

"สำหรับอาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ในระยะแรกเริ่มมักไม่แสดงอาการ จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ละเลยคิดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นธรรมดาของคนสูงอายุ ดังนั้นผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรใส่ใจสุขภาพและควรรับการตรวจเช็กต่อมลูกหมากจากแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะหากตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรก ๆ ยังสามารถรักษาให้หายได้” ผศ.พญ.เอื้อมแข กล่าว

ผศ.พญ.เอื้อมแข กล่าวว่า อาการผิดปกติแรกเริ่มของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก อาการคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือต่อมลูกหมากโต แต่ไม่ใช่อาการของมะเร็ง แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีอาการ อาทิ ปัสสาวะไม่คล่อง ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ มีเลือดหรือหนองปนออกมากับปัสสาวะ ปวดบริเวณหลังส่วนล่างหรือต้นขา เป็นต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและรับรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก โดยในการตรวจค้นหามะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการตรวจทางทวารหนัก ร่วมกับการเจาะเลือดวัดระดับค่า PSA เพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง ซึ่งถ้ามีระดับของ PSA ในเลือดสูงกว่าปกติ จะมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

แนวทางการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ผศ.พญ.เอื้อมแข กล่าวว่า สามารถรักษาให้หายขาดได้มีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี เคมีบำบัด (การทำคีโม) และการบำบัดด้วยฮอร์โมน ซึ่งวิธีการรักษาที่แตกต่างกันเหล่านี้ อาจจะถูกเลือกใช้เพียงวิธีเดียวหรือใช้ร่วมกับวิธีอื่นหนึ่งหรือทั้งสองวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทและระยะของมะเร็ง รวมถึงความแข็งแรงของผู้ป่วยและวิธิการรักษาที่ผู้ป่วยเคยได้รับมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ จากการศึกษาที่เผยแพร่ล่าสุด บ่งชี้ว่า การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยฮอร์โมนนั้น ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และได้รับความนิยมมากขึ้น โดยการใช้ฮอร์โมนที่เรียกว่า “Abriraterone Acetate” ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นยานวัตกรรมใหม่ มักใช้เป็นการรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัด หรือก่อนการให้เคมีบำบัด หรือในรายที่มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย เพื่อช่วยในการลดระดับฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งจะไปทำให้มะเร็งต่อมลูกหมากฝ่อเล็กลง หรือโตช้าลง วิธีนี้ถือเป็นการรักษาที่ปลอดภัย มีอัตราการรอดสูง และเกิดผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น และที่สำคัญ การใช้ยาเพื่อลดระดับฮอร์โมนนี้ยังส่งผลดีด้านจิตใจของผู้ป่วยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นสิ่งจำเป็นมากต่อการรักษา ยิ่งพบโรคมะเร็งและทำการรักษาได้เร็วมากเท่าไร จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น