xs
xsm
sm
md
lg

30% รักษาทุกโรค ภาค 2 : สุขภาพคือสิทธิหรือสงเคราะห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ในฉบับเดือนที่แล้ว ผมได้เขียนถึงสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้ นั่นคือ การเปลี่ยนนโยบายจาก 30 บาทรักษาทุกโรค มาเป็นนโยบาย 30% รักษาทุกโรค ตามที่เอกสารขององค์กรนโยบายระดับชาติได้แสดงปรากฏให้เห็น อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างแข็งขัน รับลูกกันอย่างคึกคักจะดันให้ผ่าน ท่ามกลางการไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งจากภาคประชาชน

หัวใจประการสำคัญของการต่อสู้ในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ สุขภาพ หรือการที่จะมีสุขภาพที่ดีนั้น ควรเป็นสิทธิหรือเป็นเพียงการสงเคราะห์ สุขภาพในที่นี้หมายถึงการได้รับการดูแลในยามป่วย การได้รับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคล่วงหน้า รวมทั้งการฟื้นฟูสุขภาพหลังเกิดความพิการแล้วนั้น ควรเป็นสิทธิพลเมืองของทุกคน หรือเป็นการสงเคราะห์สำหรับประชาชนที่ยากจน นี่จึงเป็นการต่อสู้เพื่อสถาปนาหลักปรัชญาด้านสุขภาพให้เหาะสมกับสังคมไทย

ความหมายของคำว่า “เป็นการสงเคราะห์” หมายความว่า การรักษาโรคนั้นที่เมื่อมีค่าใช้จ่าย สังคม และรัฐ รู้ดีว่า คนจนนั้นลำบาก คนไม่มีเงินหรือมีรายได้น้อยนั้นมีมาก คนพิการคนชราและเด็กก็ควรได้ฟรีค่ารักษา ซึ่งทั้งหมดนี้ เขาสามารถได้รับสงเคราะห์ได้ แต่ต้องไปแสดงตนทำบัตรเด็ก บัตรคนพิการ บัตรคนชรา หรือบัตรคนจน หากมีบัตรก็จะฟรี การได้ฟรีไม่ใช่สิทธิ แต่ต้องมาขอมาลงทะเบียน มีการตรวจสอบคุณสมบัติ บางทีก็ต้องผ่านระบบอุปถัมภ์ให้ช่วยรับรองว่าจนจริง ผ่านการมอบความเมตตาจากผู้มีอำนาจให้แก่เขาคนนั้น เขาก็จะได้บัตรทอง แต่เป็นบัตรทองที่แฝงด้วยหลักปรัชญาการสงเคราะห์เพราะความอนาถา

แต่ระบบสงเคราะห์ก็ไม่ได้ใจดำ ด้วยความเมตตาของระบบ แม้ไม่ลงทะเบียน ไม่มีบัตร แต่หากคนนั้นจนมาก ไม่มีจะจ่ายค่ารักษาก็สามารถขอให้โรงพยาบาลเซ็นต์ฟรีสงเคราะห์ค่ารักษาแก่คนอนาถาได้ นี่คือ ระบบการสงเคราะห์ในอดีต คนจนคนลำบากได้รับการดูแลเมื่อร้องขอ และเมื่อร้องขอลดหย่อนผ่อนหนี้แล้ว โรงพยาบาลจะสงเคราะห์ให้แค่ไหน จะรีดเลือดจากปูกี่มากน้อยก็ค่อยมาพิจารณา นี่คือระบบสงเคราะห์ ระบบนี้ช่วยคนจนคนลำบากแบบสงเคราะห์ เพราะเชื่อว่าสุขภาพไม่ใช่สิทธิ การดูแลสุขภาพและการรักษาโรคเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องรับผิดชอบตนเอง

อีกนิยามความหมายคือคำว่า “สุขภาพคือสิทธิ” นั่นความหมายว่า ทันทีที่เกิดมา ก็จะได้รับสิทธิที่จะได้รับการดูแลสุขภาพ มีสิทธิได้รับการรักษาโรคโดยไม่ต้องร้องขอ พลเมืองทุกคนต่างก็ได้สิทธินี้เท่ากัน อาจต้องทำบัตรโน่นนี่ แต่ก็เพื่อความสะดวกในการค้นประวัติ ไม่ใช่ทำบัตรเพื่อการจำกัดสิทธิ จะมีบัตรหรือไม่มีบัตรแต่สิทธิก็ยังอยู่ และที่สำคัญ ความหมายของคำว่า “สิทธิ” หมายความว่า คนทุกคน ไม่ว่าจะรวยจน ดำขาว ไทยกลางไทยอีสาน เหลืองหรือแดง ต่างศาสนาหรือต่างชาติพันธุ์ ต่างก็มีสิทธิเหมือนกันโดยไม่มีการกีดกั้นและได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานเดียวกัน คนรวยจะยอมมาต่อคิวใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐก็เป็นสิทธิที่เขาพึงมี เราจะตัดสิทธิเขาหรือไปห้ามเขาไม่ได้ แต่หากเขาไม่มาใช้บริการเลย อันนั้นก็เป็นสิทธิของเขา งบนั้นในส่วนนั้นของเขาก็จะถูกนำไปช่วยเหลือคนอื่นที่มีความจำเป็นต่อไป เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันไป

การให้ประชาชนทุกคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนคนจน ไม่ใช่เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ต้องร่วมจ่ายเงิน 30% ของค่ารักษาพยาบาลนั้น จะทำให้คนที่ไม่ถึงกับมีเงินเก็บมากนักลำบากแน่ เพราะยากที่ใครจะรู้อนาคตได้ว่า เราจะป่วยหนักไหม ต้องร่วมจ่ายเป็นเงินเท่าไร แม้ว่าพอจ่ายจนหมดตัวแล้ว ทางโรงพยาบาลจะมีแผนกสังเคราะห์ให้คุยประนอมหนี้ได้ แต่นั่นก็เมื่อหมดตัวแล้ว นี่จึงสะท้อนแนวคิดสุขภาพที่ไม่ได้เป็นสิทธิ การเปิดช่องการสงเคราะห์ด้วยความเมตตาเป็นเพียงช่องทางบรรเทาทุกข์พยุงระบบเท่านั้น ระบบเช่นนี้ คนจนย่อมมีโอกาสที่ได้รับการดูแลในมาตรฐานที่ต่ำกว่าปกติเป็นธรรมดา เพราะสุขภาพไม่ใช่สิทธิ โรงพยาบาลรับภาระรักษาให้เท่านี้ก็บุญแล้ว เป็นต้น

ส่วนความเห็นที่ว่า ต้องมีการร่วมจ่ายเพื่อแก้ปัญหางบไม่พอนั้น ก็ต้องไม่มาทำลายหลักการสำคัญนี้ เมื่องบไม่พอก็ให้ไปแก้ที่งบไม่พอ จะเก็บภาษีตรงไหนเพิ่มก็ว่ามา ซึ่งไม่ยาก แต่ต้องไม่มาทำลายหลักการที่ว่า “สุขภาพคือสิทธิพลเมือง”

การมีสุขภาพดี การรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยควรเป็นสิทธิของพลเมืองหรือไม่ หรือควรเป็นการสงเคราะห์ด้วยความเมตตา คนไทยต้องช่วยกันตอบ อย่าปล่อยให้ผู้มีอำนาจที่เบิกค่ารักษาได้อย่างไม่มีเพดาน และใส่สูทวนเวียนแต่ห้องประชุมเป็นคนเลือกให้เรา

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น