xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยันไม่มี “เชื้อพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่” ห่วงพบคนตายเพิ่มขึ้น เหตุไม่ฉีดวัคซีน เตือนให้ข้าวหมาจรจัดเพิ่มความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค ยันไม่มี “โรคพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่” เร่งสอบสวนกรณีชายชาวปทุมธานีเสียชีวิต ห่วงปี 59 พบคนตายจากพิษสุนัขบ้า 8 ราย เพิ่มขึ้นจากทุกปีที่ผ่านมา เหตุละเลยพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน คนถูกกัดไม่ไปฉีดวัคซีนป้องกัน เตือนให้ข้าวหมาจรจัดเพิ่มการรวมตัว เกิดการขยายพันธุ์ เสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น

จากกรณีข่าวชายหนุ่มชาวปทุมธานีเสียชีวิต โดยมีการระบุว่า อาจเกิดจากเชื้อพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่ แต่มารดาของผู้ตาย ระบุว่า ลูกชายไม่ได้ถูกสุนัขกัดนั้น ส่วนพี่สาวของผู้ตายระบุว่าเป็นเพราะโรคไข้สมองอักเสบ

วันนี้ (8 ก.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ต้องมีการสืบสวนก่อนจึงจะระบุได้ชัดเจน ซึ่งได้ส่งทีมสอบสวนโรคลงไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่มีโรคพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่ โดยโรคพิษสุนัขบ้ามี 2 กลุ่ม คือ 1. ติดเชื้อแล้วมีอาการกลัวน้ำ คอหอยเกร็ง และ 2. เกิดอาการไขสันหลังอักเสบ ทำให้แขน ขา อ่อนแรง ทั้งนี้ เมื่อถูกสุนัขหรือแมวกัด ลำดับแรกควรรีบล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า ฟอกด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ และรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพราะหากมาช้าจะไม่มียารักษา ซึ่งผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้านั้นตายทุกราย ยิ่งหากถูกกัดเข้าที่บริเวณมือที่มีเส้นประสาทเยอะ ใบหน้า หรือเป็นบาดแผลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กต้องรีบไปพบแพทย์และฉีดวัคซีนทันที

“โรคพิษสุนัขบ้าเป็นหนึ่งในโรคตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่จะต้องกำจัดให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา มีการควบคุมโรคได้ดี เนื่องจากมีมาตรการฉีดวัคซีนฟรีให้คนไทยทุกคนเมื่อถูกสุนัขกัด ทำให้แต่ละปีมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนน้อยมากไม่ถึง 10 ราย รวมถึงมี พ.ร.บ. โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ของกรมปศุสัตว์ ทำให้คนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนสูงขึ้น ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีสุนัขทั้งสิ้น 7.4 ล้านตัว อัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ร้อยละ 23 แต่หากเป็นสุนัขมีเจ้าของอัตราการไปฉีดวัคซีนฉีดอยู่ที่ร้อยละ 70 ซึ่งจริง ๆ ต้องให้ได้มากกว่านี้ คือ ร้อยละ 80 - 90 แต่ปัญหาคือ เมื่อพบโรคนี้น้อยลงทำให้คนไม่ตระหนักและละเลยการไปฉีดวัคซีนเมื่อถูกสุนัขกัดหรือไม่พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ขณะที่สุนัขจรจัดนั้นที่ผ่านมาทางท้องถิ่นมีการจัดโครงการฉีดวัคซีนและทำหมันให้ แต่ติดขัดระเบียบเรื่องการใช้งบประมาณ ทำให้หยุดโครงการไป จึงทำให้เจอปัญหาผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น โดยปี 2557 พบ 6 ราย ปี 2558 พบ 5 ราย แต่ปี 2559 ซึ่งยังไม่ครบปีนั้นพบแล้วถึง 7 ราย และยังไม่ได้นับรวมเคสที่เพิ่งเสียชีวิตที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ด้วย” รองอธิบดี คร. กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ประชาชนผู้เลี้ยงต่าง ๆ ต้องตระหนัก และมีความรับผิดชอบต่อการเลี้ยงสัตว์ด้วย เพราะหลายครั้งก็พบว่า มีการทิ้งขว้าง ปล่อยให้เป็นปัญหาต่อสังคม โดยผู้เลี้ยงบางคน ตอนแรกก็อยากเลี้ยงลูกหมา ลูกแมว แต่พอเลี้ยงไปจนโต ไม่อยากเลี้ยงก็ทิ้งขว้าง เอาไปปล่อยตามวัด ตามข้างถนน และยิ่งคนไทยมีน้ำใจสงสารให้ข้าวให้น้ำ แต่ไม่ได้พาไปฉีดวัคซีน ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัดให้มากขึ้น เพราะเกิดการรวมตัวของสุนัขจากการให้ข้าวให้น้ำ และเกิดการผสมพันธุ์ โอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้าก็เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาของโรคพิษสุนัขบ้า ต้องดูภาพรวม ต้องร่วมกันทั้งหมด ไม่ใช่แค่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 7 ส.ค. 2559 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 7 ราย จากฉะเชิงเทรา 2 ราย และ ตาก ระยอง สมุทรปราการ สงขลา และศรีสะเกษ จังหวัดละ 1 ราย ขณะที่เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยว่า มีชายขับรถจักรยานยนต์รับจ้างใน กทม. เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าอีก 1 ราย จากการไปให้อาหารสุนัขจรจัดจนถูกกัด และไม่ได้ไปหาหมอหรือทำแผล

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น