xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยร่วมส่งภาพ “Give Me Five” แลกวัคซีนพิษสุนัขบ้าฉีดหมาจรจัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หลังจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประจำประเทศไทย ได้จัดทำแคมเปญ “1 ภาพ = 1 วัคซีน” ในโครงการ Better Lives For Dogs ช่วยป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขจรจัด โดยชวนให้คนไทยโพสต์ภาพคู่จับมือสุนัขสุดรัก หรือการทำ Give Me Five เข้ามายังเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมขององค์กรฯ ซึ่ง 1 ภาพ เท่ากับ 1 วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าที่จะนำไปฉีดให้เหล่าสุนัขจรจัด

ผลปรากฏว่า กิจกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีภาพส่งเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 5,240 ภาพ โดย นางสุภาภรณ์ ลาสต์ ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประจำประเทศไทย เปิดใจว่า กิจกรรมดังกล่าวถือว่าเกินความคาดหมายอย่างมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาในการร่วมกิจกรรมเพียง 1 เดือนคือช่วง มิ.ย.- ก.ค. 2559 ซึ่งเราตั้งเป้าหมายไว้ที่ประมาณ 5,000 ภาพ หรือวัคซีน 5,000 เข็ม แต่กลับมีผู้สนใจร่วมส่งภาพเข้ามาเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้

ที่โครงการประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งมองว่าเพราะประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ คนไทยมีจิตใจเมตตาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งกิจกรรมนี้ถือว่าเป็นการร่วมกันช่วยให้สุนัขจรจัดได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งจำเป็นต้องฉีดทุกปี เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพราะหากไม่ได้รับการดูแล หากสุนัขติดเชื้อเมื่อกัดคนขึ้นมา สุดท้ายคนเราก็จะป่วยและเสียชีวิต เมื่อเห็นกิจกรรมเช่นนี้ก็อยากที่จะเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะการโปรโมตกิจกรรมผ่านทางเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย ทำให้เข้าถึงประชาชนรับรู้จำนวนมาก รวมถึงมีศิลปินดาราหลายท่านที่เข้ามาร่วมประชาสัมพันธ์ด้วย อาทิ คุณโตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ซึ่งเป็นทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมาร่วมด้วย เป็นต้น

สาเหตุที่ต้องออกมาทำกิจกรรมดังกล่าว เพราะสถานการณ์เรื่องสุนัขไร้เจ้าของ ถือว่าน่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย โดย นางสุภาภรณ์ เล่าว่า จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ประเทศไทยมีสุนัขจรจัดเกือบ 1 ล้านตัว เฉพาะใน กทม. ก็มีมากกว่าแสนตัว ซึ่งถือว่าน่าห่วง เพราะเป็นสุนัขที่ไม่มีใครดูแล ไม่เหมือนกับสุนัขเลี้ยงที่มีเจ้าของชัดเจนและมีการพาไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า แต่สุนัขจรจัดไร้เจ้าของเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลเรื่องดังกล่าว เพราะแม้จะมีคนใจดีหาอาหารมาให้สุนัขเหล่านี้ แต่ไม่ได้พาไปฉีดวัคซีนด้วย และหากไม่ได้มีการพาไปทำหมันก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัดและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามากยิ่งขึ้น ประกอบกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมีการดำเนินการมอบวัคซีนหนึ่งล้านเข็มแก่สุนัขทั่วโลกไปแล้วเมื่อปี 2558 และปี 2559 ก็จะก้าวเข้าสู่ล้านที่สอง องค์กรฯ ประจำประเทศไทย จึงจัดกิจกรรมนี้เพื่อเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการมอบวัคซีนให้ครบล้านที่สองในปีนี้

ที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามแก้ปัญหาสุนัขจรจัดใน 2 ทาง คือ 1. การควบคุมจำนวนประชากรสุนัขจรจัด ด้วยการทำหมันเพื่อไม่ให้มีลูกหลานเพิ่ม และ 2. การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ซึ่งจริง ๆ ภาครัฐทำหน้าที่อยู่แล้ว เพียงแต่อาจยังไม่ครอบคลุม เพราะการเบิกงบประมาณในการฉีดวัคซีนจะต้องมีฐานข้อมูลที่ชัดเจน แต่ฐานข้อมูลก็ไม่ได้สะท้อนจำนวนสุนัขจรจัดที่แท้จริงทั้งหมด การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ซึ่งได้วัคซีนจำนวน 5,240 เข็ม ก็ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ซึ่งอาจฉีดวัคซีนให้สุนัขจรจัดในพื้นที่ได้ไม่ครบ ก็จะลงไปเติมเต็ม

นางสุภาภรณ์ กล่าวว่า วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าจำนวน 5,240 เข็ม ที่มาจากการทำกิจกรรมดังกล่าว ได้ส่งมอบให้กับกรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานกลางในการกระจายวัคซีนไปยัง 12 จังหวัดที่มีปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าเยอะที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชายแดน เช่น เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี เป็นต้น โดยจะกระจายไปในปริมาณเท่า ๆ กัน เพื่อแบ่งเบาภาระรัฐบาลบางส่วน ส่วนที่ให้วัคซีนแก่กรมปศุสัตว์ เพราะว่ามีความพร้อมมากที่สุดในการจัดเก็บและกระจายวัคซีน เพราะวัคซีนต้องมีการจัดเก็บที่ดีในอุณหภูมิที่เหมาะสม และไม่สามารถสำรองไว้นานได้ เพราะวัคซีนจะหมดอายุ ซึ่งกรมปศุสัตว์มีศักยภาพในเรื่องนี้ทั้งหมด โดยมอบไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา

การจัดกิจกรรมดังกล่าวเชื่อว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทยได้ ซึ่งรัฐบาลก็ประกาศต่อสู้กับโรคนี้อยู่ ส่วนที่องค์กรฯ ไม่บริจาควัคซีนไปเลยนั้น แต่ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งภาพเพื่อแลกวัคซีน เป็นเพราะต้องการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนให้เข้าใจในปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะในกลุ่มสุนัขจรจัดและมีส่วนร่วมในการดูแลและแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะสร้างผลกระทบได้มากกว่าการที่องค์กรฯ เอาเงินมาซื้อวัคซีนแล้วไปบริจาคเองมากกว่า ซึ่งในปีหน้าก็จะมีการจัดกิจกรรมเช่นนี้อีก อาจจะมีการขยายระยะเวลาเพิ่มขึ้น และตั้งเป้าที่จะมีผู้ร่วมกิจกรรมมากขึ้น โดยอาจมีการหาพาร์ตเนอร์มาร่วม เช่น บริษัทวัคซีนมาร่วมสนับสนุน โดยอาจเป็นร่วมกันบริจาคคนละครึ่งจากจำนวนภาพที่ส่งมา เป็นต้น” นางสุภาภรณ์ กล่าว

การแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขจรจัดด้วยการทำหมัน และฉีดวัคซีนถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดีกว่าการฆ่าล้างสุนัขจรจัดอย่างมาก โดย นางสุภาภรณ์ อธิบายว่า ทั่วโลกมีสุนัขจรจัดกว่า 10 ล้านตัว ที่ต้องตายจากการถูกฆ่าทุกปี เพราะคนกลัวโรคพิษสุนัขบ้าจึงหาวิธีในการกำจัดให้สิ้นซาก แต่หนทางนี้ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา อีกทั้งเป็นการทารุณกรรม เพราะว่าเมื่อฆ่าหมดทุกตัวในพื้นที่ ตามปกติแล้วสุนัขจะต้องมีเจ้าหมู่ในพื้นที่ เมื่อสุนัขในพื้นที่ข้างเคียงเห็นว่าพื้นที่นี้ปลอดสุนัขแล้ว ก็จะเข้ามายึดถิ่น และเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัดขึ้นมาอีกอยู่ดี จึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่การควบคุมจำนวนประชากรก็จะช่วยให้จำนวนไม่เพิ่มมากขึ้น และพยายามปูพรมฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมก็จะช่วยป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไปได้ อย่างประเทศจีน เคนยา แซนซิบาร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ ที่เคยมีการฆ่าล้างสุนัข แต่เมื่อเข้าไปรณรงค์การแก้ปัญหาด้วยวัคซีน ก็เริ่มทำให้เห็นผลประจักษ์ว่าช่วยแก้ปัญหาได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่จะไม่เพิ่มจำนวนสุนัขจรจัด คือ การเลี้ยงสุนัขอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งนางสุภาภรณ์ ย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก!!

ส่วนใหญ่คนที่เลี้ยงสุนัข เชื่อว่า มีความรักสุนัขอยู่แล้ว บางคนเลี้ยงเสมือนลูก แต่บางคนก็ยังเลี้ยงอย่างไม่มีความรับผิดชอบ คือ เลี้ยงลูกสุนัขก็เห็นว่าน่ารักดี แต่พอโตขึ้นก็หมดความสนใจหรือใส่ใจ สุดท้ายก็นำไปปล่อย กลายเป็นภาระแก่คนในสังคม ซึ่งผู้ที่จะเลี้ยงต้องเลี้ยงอย่างมีความรับผิดชอบจริง ๆ เพราะสุนัขก็มีชีวิตจิตใจ ที่สำคัญต้องเลี้ยงโดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนรอบข้างหรือคนในสังคมด้วย

ที่ผ่านมา จะพบปัญหาดรามาเรื่องคนและสัตว์เลี้ยงของเพื่อนบ้านอยู่เนือง ๆ เช่น ปล่อยให้ออกมาสร้างความรำคาญ หรือทำลายข้าวของโดยที่ไม่มีการควบคุม เป็นต้น บางคนอารมณ์ร้อนก็ทำร้ายสุนัขเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันมี พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ ที่เอาผิดคนที่ทำร้ายสัตว์ ซึ่งถือว่าโทษหนักไม่เบา จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า สัตว์ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย แต่เมื่อคนถูกสร้างความรำคาญโดยสัตว์เลี้ยงของผู้อื่นหรือถูกละเมิดสิทธิ จะมีกฎหมายอะไรมาคุ้มครองพวกเขาบ้าง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางสุภาภรณ์ ชี้แจงว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแต่กฎหมายที่คุ้มครองสัตว์ แต่ยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาบังคับเรื่องแสดงความรับผิดชอบของผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น หากปล่อยให้สัตว์เลี้ยงไปก่อความรำคาญหรือเลี้ยงอย่างไม่รับผิดชอบ อย่างปล่อยไปกัดคน กัดกระต่าย ไปคุ้ยขยะบ้านคนอื่น เจ้าของก็ต้องได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย เป็นต้น แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ หรือญี่ปุ่น เขาจะมีกฎหมายตรงนี้ชัดเจนเรื่องความรับผิดชอบของผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง อย่างอังกฤษหากจะปล่อยสุนัขออกมาข้างนอกจะต้องล่ามหรือมีสายจูงตลอดเวลา หากไม่มีถูกปรับ 5,000 ปอนด์ ซึ่งการจูงสุนัขทุกครั้งที่พาออกไปข้างนกจะช่วยลดความเสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้าได้ถึง 50% อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายลูกขึ้นมาภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ สัตว์ แต่ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายก็ยืนยันว่าคนเลี้ยงก็ต้องเลี้ยงด้วยความรับผิดชอบ

การแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าจึงไม่ใช่แค่หน้าที่ของหน่วยงานรัฐ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม โดยเฉพาะเริ่มจากตัวผู้เลี้ยงสุนัขที่ต้องเลี้ยงอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ปล่อยให้เกิดสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้น และร่วมกันช่วยเหลือให้เกิดการทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสุนัขจรจัด ปัญหาสุนัขจรจัดและโรคพิษสุนัขบ้าก็จะลดลงในที่สุด



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น