10 ตัว จะพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสุนัขจรจัดถึง 4 ตัว!! ไม่ใช่น้อยๆ แล้ว แพทย์ออกโรงเตือนการกลับมาระบาดในรอบหลายปี หลังมีเหยื่อ “วินมอเตอร์ไซค์ใจดี” รายหนึ่งถูกกัดหลังเข้าไปให้ข้าวให้น้ำตามปกติ กระทั่งติดเชื้อจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา...
“คนไข้โรคพิษสุนัขบ้า เข้ามารักษาตัวที่ รพ.จุฬาฯ หลังถูกสุนัข กทม.กัด ไม่ได้ฉีดยา ใครถูกสุนัข แมวกัด โดยไม่ได้ฉีดยา รีบรับการป้องกันด่วน”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รีบใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thiravat Hemachudha” ประกาศความเสี่ยงออกสู่สาธารณชนในทันที จนกลายเป็นเรื่องหวั่นเกรงของประชาชนทั่วไป สุดท้าย เมื่อผลออกมาว่าไม่อาจรักษาชีวิตวินมอเตอร์ไซค์ผู้ถูกกัดรายดังกล่าวเอาไว้ได้ คนในบ้านเมืองแห่งนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสุนัขและแมวไร้เจ้าของ จึงยิ่งวิตกมากกว่าเดิมเป็นสองเท่า
กรณีวินมอเตอร์ไซค์ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดรายนี้ คือตัวอย่างของการถูกกัดแล้วไม่รีบเดินทางไปพบแพทย์อย่างทันท่วงที คิดว่าแผลเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่าจะเป็นอะไร จึงปล่อยให้แผลลุกลามติดเชื้อตลอดช่วง 5 สัปดาห์
ระหว่างนั้น เมื่อเห็นว่าเริ่มมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณแผล 1 แผลที่ถูกกัดบริเวณมือ มีเหงื่อไหลออกมาจนผิดปกติจากแขนข้างที่ถูกกัด อีกทั้งยังรู้สึกกระวนกระวาย จึงตัดสินใจเข้าพบแพทย์ให้ช่วยตรวจอาการ แต่กลับเป็นการตัดสินใจที่ “สายเกินไป” เสียแล้ว เนื่องจากพิษสุนัขบ้าได้ลามเข้าสู่ร่างกายจนไม่สามารถรักษาได้อีกแล้ว เหยื่อรายดังกล่าวจึงเสียชีวิตลงในที่สุด
เมื่ออาการมาถึงขั้นโคม่าเช่นนั้นแล้ว สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคือ “ทำใจ” และในฐานะแพทย์ผู้รักษา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ก็ได้แต่พยายามดูแลคนไข้ให้สามารถอยู่ได้อย่างทุกข์ทรมานน้อยที่สุดในวาระสุดท้ายของชีวิต ตามที่ได้โพสต์บอกเล่าเหตุการณ์และเตือนใจสังคมเอาไว้ผ่านโลกออนไลน์
“ให้คนไข้สบายที่สุด และมีศักดิ์ศรีของความเป็นคน ไม่ใช่หวาดกลัว ไม่ดูแล คนไข้มักจะทราบว่าตัวเองเป็นอะไร ขณะที่ทรมาน และมีช่วงเวลาที่พูดคุยรู้เรื่อง ช่วยเขาด้วย
เป็นความผิดของคนที่ไม่เคยรับผิดชอบ การเลี้ยงสัตว์ ปล่อยปละละเลย ไม่ทำหมัน ไม่ฉีดวัคซีน หมา-แมวก็ไม่อยากเจ็บปวด ไม่อยากตายเหมือนคนเช่นกัน”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สุนัขไร้เจ้าของอาละวาดใส่ผู้เคราะห์ร้ายจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้วนี้เอง เพิ่งมีข่าว “น้องมุก” เด็กหญิงวัย 3 ขวบถูกสุนัขเข้ากระโจนกัดเข้าที่ใบหน้าถึง 2 ครั้ง บริเวณร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ภายในชุมชนเอื้ออาทร เขตบางขุนเทียน โดยที่เด็กน้อยไม่ได้เข้าไปรังแกก่อน แต่กลับถูกเจ้าสี่ขาฝังรอยเขี้ยวฝากไว้บนหน้าถึง 2 แห่ง
["น้องมุก" เด็กหญิงเคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์เมื่อปลายเดือนที่แล้ว]
โชคยังดีที่กรณีดังกล่าวตรวจไม่พบเชื้อใดๆ จากสุนัขเจ้าของเขี้ยว แต่ถึงอย่างนั้นก็เพียงพอที่จะส่งให้เรื่องกลายเป็นประเด็นร้อน ให้ผู้คนถกเถียงถึงปัญหาสุนัขจรจัดในประเทศไทย โดยเฉพาะสุนัขกลุ่มใหญ่ที่นิยมไปนั่งตากแอร์บริเวณใกล้ทางเข้าร้านเซเว่นฯ โดยที่ทางเจ้าของสถานที่อาจไม่ได้เข้มงวดเรื่องการขับไล่ แต่เมื่อเกิดเหตุก็ไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบเช่นกัน เนื่องจากเป็นสุนัขไร้เจ้าของ
คิดดูว่าถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่โรคพิษสุนัขบ้ากลับมาระบาดอีกครั้งเช่นนี้ อาจเป็นไปได้ว่าต้องมีเรื่องสลดจากเหยื่อตัวน้อยๆ เกิดขึ้นก็ได้
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และกรมปศุสัตว์ ซึ่งสุ่มตรวจสมองสุนัขที่ต้องสงสัยต่อการติดเชื้อ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 8 ก.ย.59 พบว่าจากทั้งหมด 579 ตัว ติดเชื้อทั้งหมด 276 ตัว หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สุนัขติดไวรัสในโรคนี้อยู่ที่ 47.67 เปอร์เซ็นต์ แทบจะเกินครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
สงขลา 55%, ชลบุรี 35%, อุบล 31%, สมุทรปราการ 30%, กาฬสินธ์ 22%, ปราจีนบุรี 17%, กทม. 14%, สุรินทร์ 14%, บุรีรัมย์ 12% และ ศรีษะเกศ 10%
“จังหวัดอื่นๆ ไม่ใช่ไม่มี ขึ้นกับที่ส่งตรวจ และตัวเลขนี้ เป็นสุนัขที่กัดคนหรือสัตว์ หรือมีอาการแปลกไป ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า ถึงแม้สุนัข แมว อาการปกติ ก็สามารถปล่อยไวรัสได้ในน้ำลาย 10 วันก่อนเริ่มมีอาการ แต่ไม่ใช่ให้ฆ่าหมาทิ้งนะครับ ให้ทำหมัน ฉีดวัคซีน คนเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง เลึ้ยงไม่รับผิดชอบ” ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย โพสต์แนะนำเอาไว้เพิ่มเติม
กรณีวินมอเตอร์ไซค์ใจบุญรายนี้ อาจกล่าวได้ว่าคือความซวยที่เกิดจากความใจดี เจตนาดีอยากให้ข้าวให้น้ำแก่สัตว์จรจัด แต่กลับถูกเจ้าสี่ขาตัวที่ป่วยเข้ากัดทำร้ายกลับมา ถามว่าจะแก้ปัญหา “คนใจดี” กับ “สุนัขจรจัด” แบบไหนให้สุ่มเสี่ยงต่อ “โรคพิษสุนัขบ้า” และสุ่มเสี่ยงต่อความสูญเสียต่อชีวิตน้อยที่สุด? บทความเรื่อง “โรคหมาบ้ายังอยู่...ระวัง” เขียนโดย หมอดื้อ ซึ่งเป็นนามปากกาของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ มีคำตอบเอาไว้ให้แล้ว
“แท้จริงเกิดจาก 'คน' ทั้งสิ้น คนซึ่งรักสัตว์ รักหมา แมว เอาเศษข้าว อาหารไปเลี้ยงเป็นประจำ โดยคิดว่าเป็นการทำบุญ
หมาตัวเมียหนึ่งตัวออกลูกครอกหนึ่งไม่ต่ำกว่า 4 ตัว หมามีฤดูติดสัดอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี
นี่เป็นเหตุผลที่เราเห็นหมาข้างถนนในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นจริงก็คือในเมืองไทยเราแทบไม่มี 'หมาจรจัด' จริงๆ มีแต่ 'หมาชุมชน' หมาเหล่านี้ไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของ แต่ทุกๆ วันจะมีคนเดิมๆ เอาข้าวมาให้
สำหรับคนใจบุญ หมอขอร้องให้ช่วยทำอะไรเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย หมาเหล่านี้จะเชื่องกับคนที่ให้อาหารประจำ โดยผู้คุ้นเคยกับหมาจะค่อยๆ ล่อหมาทีละตัวมารวมกักในที่เหมาะสม และค่อยๆ ปฏิบัติการทำหมันฉีดวัคซีน โดยมีสัตวแพทย์ช่วยพร้อมกันหลายคน และจะทำให้หมาชุมชนเหล่านี้มีจำนวนคงที่ ไม่แย่งกันหาอาหาร อารมณ์ไม่เสียไปกัดคน อีกทั้งยังไม่ไปกัดกันเอง ซึ่งเป็นการแพร่ไวรัสจากตัวหนึ่งไปสู่ตัวอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน
เมื่อหมาได้รับเชื้อแล้วแต่ละตัวจะไม่มีระยะฟักตัวเท่ากัน เพราะฉะนั้น ในทุกฤดูไม่ใช่เฉพาะแต่หน้าร้อน เราจะพบสุนัขบ้าได้เสมอ สำหรับหมาบ้านเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้ว (ฉีดวัคซีน ทำหมัน) โดยถือเป็นสมาชิกในครอบครัว การที่หมาตัวเองออกลูกมา 5 ตัว แล้วนำไปปล่อยวัดเท่ากับทำบาปให้เจ้าอาวาสแน่นอน”
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754