xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มการเข้าถึงวัคซีน ลูกหลานแรงงานต่างด้าวในไซต์งานก่อสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. ร่วมยูนิเซฟ - แสนสิริ เพิ่มการเข้าถึงวัคซีนของเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวในไซต์งานก่อสร้าง

วันนี้ (6 ก.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และ นายอภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการดำเนินการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับเด็กในที่พักคนงานก่อสร้าง ภายใต้โครงการก่อสร้างของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดยมี นพ.ริชาร์ด บราวน์ เป็นสักขีพยาน

นพ.โสภณ กล่าวว่า สธ. มีนโยบายในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยการให้วัคซีนอย่างเป็นระบบ เป็นกลวิธีที่สำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยจัดบริการวัคซีนฟรี 10 ชนิดแก่เด็กไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิดและตามช่วงอายุ ผลการให้วัคซีนอยู่ในเกณฑ์ดี ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 90 ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบการป้องกันโรคของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้ให้กลุ่มบุตรแรงงานต่างด้าวซื้อบัตรสุขภาพเด็กราคา 365 บาท คุ้มครอง 1 ปี ซึ่งเด็กจะได้รับการดูแลรักษา ส่งเสริมป้องกันโรค และได้รับวัคซีนป้องกันโรคด้วยเช่นกัน ในปีงบประมาณ 2559 นี้ จำหน่ายบัตรสุขภาพเด็กแล้ว 33,166 คน มากที่สุดคือ จังหวัดเชียงใหม่ 5,801 คน รองลงมา คือ ระยอง 3,369 คน และ ชลบุรี 2,312 คน

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่ติดตามผู้ปกครองที่เป็นแรงงานเคลื่อนย้ายเพื่อการประกอบอาชีพ เช่น เด็กในที่พักคนงานก่อสร้าง เด็กในที่พักคนงานรับจ้างเกษตรกรรม เด็กที่พักในโรงงาน เป็นต้น ความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลเด็กทั้งที่เป็นเด็กไทย และบุตรหลานแรงงานต่างด้าว เข้าถึงวัคซีน และจะได้ขยายความร่วมมือไปในไซต์งานอื่น ๆ ต่อไป

นายโธมัส กล่าวว่า แม้ว่าคนงานก่อสร้างที่เป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ป้องกันโรคให้ลูกหลานของพวกเขา แต่ยังมีอุปสรรคหลายประการ เช่น ปัญหาในการสื่อสารกับบุคลากรสาธารณสุข การไม่รู้เกี่ยวกับสิทธิในการได้รับวัคซีน หรือต้องทำงานในวันนัดฉีดวัคซีน นอกจากนี้ หน่วยงานสาธารณสุข ก็อาจไม่ทราบว่าในแคมป์คนงานมีเด็กจำนวนกี่คนที่ควรได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ทุกฝ่ายจึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดอุปสรรคเหล่านี้ เพื่อช่วยให้เด็กทุกคนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง

นายอภิชาติ กล่าวว่า กว่า 5 ปีที่แสนสิริทำงานร่วมกับองค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย ในการเป็นองค์กรที่เป็นมิตรกับเด็ก ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในไซต์ก่อสร้าง ซึ่งสามารถส่งต่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษากว่า 40 คน และได้เริ่มต้นในการพาเด็ก 153 คน จาก 12 แคมป์ เข้ารับวัคซีน ในโอกาสนี้ ถือเป็นก้าวถัดไปในการพัฒนาโมเดลที่ยั่งยืน เพื่อให้เด็กในพื้นที่ก่อสร้างได้รับโอกาสในการรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอย่างเท่าเทียม โดยในการลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ จะสามารถทำให้เข้าถึงเด็กได้กว่า 400 คน จาก 24 แคมป์  เป้าหมายของการพัฒนาโมเดลนี้ คือ สามารถทำให้เด็กที่เป็นลูกหลานแรงงานย้ายถิ่นทั้งเด็กไทยและต่างด้าว ที่อาศัยอยู่ในทุกแคมป์ ไม่ใช่แค่เพียงแสนสิริ หรือพันธมิตรทางธุรกิจของแสนสิริ สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างถ้วนหน้า การดำเนินงานในความร่วมมือครั้งนี้ จะมุ่งเน้นให้เกิดการประสานงานระหว่างผู้ดูแลที่พักคนงานก่อสร้างและหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อนัดหมายการฉีดวัคซีนให้เด็ก ให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเรื่องการดูแลสุขภาพเด็ก และสิทธิในการเข้าถึงวัคซีน

นพ.ริชาร์ด กล่าวว่า กว่า 10 ปี ที่องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่ประจำอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งองค์กรยูนิเซฟ และภาคประชาสังคมผ่านทางสถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชนในการส่งเสริมสุขภาวะของแรงงานย้ายถิ่นในประเทศไทย องค์การอนามัยโลกตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจที่มีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพอนามัยให้กับแรงงานร่วมกับภาครัฐ และภาคประชาชน โดยเฉพาะในบริบทของแรงงานย้ายถิ่นและครอบครัวซึ่งเป็นบริบทที่มีความท้าทายและทับซ้อนในหลายมิติ การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคถือเป็นงานสำคัญด้านหนึ่งของงานสาธารณสุขมูลฐานเพื่อร่วมสร้างสังคมที่ปลอดโรค องค์การอนามัยโลกตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของการเข้ามาเป็นภาคีหลักของภาคธุรกิจ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของความร่วมมือในการขับเคลื่อนการเข้าถึงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึงและเป็นระบบ เราพร้อมสนับสนุนและทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ทั้งในเชิงวิชาการและการพัฒนารูปแบบเพื่อการขยายผลในเชิงกว้างต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น