xs
xsm
sm
md
lg

เซตระบบดูแลเด็ก ต.อรพิม ผุด “คลินิกเด็กไทยฉลาด สุขภาพดี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คลื่นลูกใหม่ย่อมมาแทนที่คลื่นลูกเก่า แต่หากคนรุ่นใหม่คุณภาพ “ด้อย” ลง แล้วประเทศไทยยังจะพัฒนาได้อีกหรือ ดังนั้น การส่งเสริมให้เด็กไทยฉลาด และมีสุขภาพที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะช่วงอายุ 0 - 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่จะส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัยทุกด้าน

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นาราก ต.อรพิม อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ถือเป็นหน่วยบริการต้นแบบแห่งหนึ่งที่สามารถนำเอางานประจ ำหรืองานรูทีนในการดูแลสุขภาพของเด็กปฐมวัยมาเซตระบบใหม่ จนเกิดการดูแลบริหารจัดการและให้บริการด้านสุขภาพเด็กช่วงปฐมวัยได้เป็นอย่างดี ไม่ซ้ำซ้อน ช่วยให้เด็กใน ต.อรพิม มีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดการเจ็บป่วยลง และเข้าถึงบริการได้มากขึ้น

นางปราณี ประไพวัชรพันธ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.นาราก กล่าวว่า เรื่องการดูแลเด็กปฐมวัยช่วงอายุ 0 - 6 ปี จริง ๆ เป็นงานประจำของหน่วยบริการปฐมภูมิที่ทำมาโดยตลอด เพียงแต่มีการเซตระบบการทำงานใหม่ โดยจัดตั้งเป็น “คลินิกเด็กไทยฉลาด สุขภาพดี” เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา โดยจะดูแลให้บริการเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบก่อนเข้าเรียน ใน 5 ด้าน คือ 1. สุขภาพกาย และภาวะโภชนาการ ซึ่งมีทั้งปัญหาโภชนาการขาดและเกิน 2. วัคซีนที่เด็กทุกคนจะต้องได้รับตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก 3. สุขภาพช่องปากและฟัน 4. พัฒนาการในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะได้รับการตรวจและกระตุ้น หากพบว่ามีพัฒนาการที่ล่าช้า รวมไปถึงการส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในเรื่องของพัฒนาการล่าช้า และ 5. สุขภาพจิต โดยเฉพาะเรื่องของการกิน กอด เล่น เล่า

งานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและดูแลสุขภาพของเด็กปฐมวัยทั้ง 5 ด้านนั้น อาจดูไม่แตกต่างจากหน่วยบริการปฐมภูมิอื่น ๆ ที่ดำเนินการ แต่จุดเด่นของคลินิกเด็กไทยฉลาด สุขภาพดี ของ รพ.สต.นาราก นั้น นางปราณี อธิบายว่า มีการจัดระบบการให้บริการทั้ง 5 ด้านนั้น ให้เป็นระบบขึ้นและไม่ซับซ้อน โดยคลินิกดังกล่าวจะเปิดให้บริการตรวจสุขภาพเด็ก ตั้งแต่หัวจรดเท้า ว่า มีความผิดปกติอย่างไร วัดขนาดศีรษะ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจพัฒนาการด้านต่างๆ พร้อมให้คำแนะนำทั้ง 5 ด้าน โดยให้บริการทุกวันพุธที่ 2 และ 3 ของแต่ละเดือน

“วันพุธที่ 2 ของเดือนจะเป็นคิวในการดูแลของเด็กแรกเกิดแต่ไม่เกิน 1 ปี ส่วนพุธที่ 3 ของเดือนจะเป็นเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปี - 6 ปี ที่ต้องแบ่งออกเป็น 2 วัย เพราะเป็นเรื่องของพัฒนาการที่แตกต่างกัน การจัดแบ่งเป็นสองกลุ่มเพื่อให้เกิดการดูแลที่ง่ายขึ้น และเด็กที่จะเข้ามารับบริการก็ไม่มากจนเกินไป เฉลี่ยประมาณ 20 - 30 คน ทั้งนี้ ในวันพุธสุดท้ายของเดือนก็จะนำข้อมูลจากการตรวจสุขภาพเด็กทั้งหมดมาประมวลว่ามีใครที่มีความผิดปกติหรือไม่ เด็กคนไหนที่ไม่มาตามนัด และในวันพุธแรกของเดือนก็จะเป็นการติดตามเด็กที่ขาดการมาตรวจติดตาม หรือขาดการมารับบริการที่จำเป็น” นางปราณี กล่าว

สำหรับการติดตามเด็กนั้น นางปราณี ระบุว่า มีการติดตามผ่านทางอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ปกครอง และญาติ โดยเพิ่มการติดตามผ่านทางโทรศัพท์ รวมถึงการใช้แอปพลิเคชันไลน์ เช่น เด็กคนไหนยังไม่ได้รับวัคซีนทั้งที่ครบกำหนดแล้ว หรือยังไม่ได้รับการตรวจฟันตามที่กำหนด ซึ่งการแบ่งการรับบริการทั้งหมดออกเป็นกลุ่ม ๆ เช่นนี้ ทำให้ดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น เด็กเข้ารับบริการได้มากขึ้น ไม่ซับซ้อน จากเดิมที่ต้องทำเป็นประจำทุกวัน ผู้ปกครองต่างคนต่างพาเด็กมาแบบกระจัดกระจาย แต่การจัดระบบการให้บริการเช่นนี้ช่วยให้ดูแลได้ง่ายและทั่วถึง เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความสะดวกมากยิ่งขึ้น ขณะที่การประเมินพัฒนาการเด็กก็ทำได้ง่ายขึ้น หากพบความผิดปกติก็สามารถแก้ไขได้ทัน ทั้งในเรื่องของกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การใช้และความเข้าใจภาษา รวมถึงการเข้าสังคมของเด็ก

“พัฒนาการของเด็กหลายอย่างขึ้นกับการเลี้ยงดูของผู้ปกครองด้วย เช่น ผู้ปกครองบางคนให้เด็กเล่นแต่โทรศัพท์ ก็อาจขาดพัฒนาการในเรื่องของการเคลื่อนไหว การให้ลูกดูทีวีมาก ๆ ก็พบปัญหาเด็กไม่ค่อยยอมพูด หรืออย่างเรื่องภาวะโภชนาการ ก็ต้องมีการส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง เพราะมักพบปัญหาภาวะอ้วนและฟันผุ ก็จะให้ข้อมูล 5 อย่างที่ห้ามเด็กกินโดยเด็ดขาด คือ ลูกอม นมเปรี้ยว ชาเขียว (น้ำหวาน) น้ำอัดลม ขนมถุง ซึ่งที่ผ่านมาเคยเจอเด้กอายุเพียง 2 - 3 ขวบ แต่กลับมีน้ำหนักตัวมากถึง 29 กิโลกรัม เนื่องจากญาติตุนชาเขียวไว้ให้ลูกหลานดื่ม ก็มีการทำความเข้าใจ ให้ความรู้ ซึ่งตอนนี้เด็กก็กลับมามีน้ำหนักเป็นปกติแล้ว” นางปราณี กล่าว

นางปราณี กล่าวว่า ช่วงแรกที่ให้การดูแลแต่ไม่ได้มีการจัดระบบแบบนี้ก็จะเผชิญปัญหาเด็กจำนวนมาก บางคนมาฉีดวัคซีนก็ฉีดเลย โดยไม่ได้มีเวลามานั่งตรวจ มาให้ความรู้เรื่องสุขภาพอะไร แต่ภายหลังจากการจัดระบบการตรวจเช่นนี้ก็ช่วยให้มีเวลาดูแลสุขภาพเด็กได้โดยรวมมากขึ้น นอกจากนี้ คลินิกยังมีการจัดกิจกรรมเชิงรุกในชุมชน มีการเยี่ยมบ้านร่วมกับเครือข่ายด้วย ทำให้ปัญหาที่เคยมี เช่น โรคมือเท้าปาก พฤติกรรมการกินอาหารขยะ ก็ลดลง ขณะที่ผู้ปกครองเองก็คลายความวิตก สุขภาพมีจิตดีขึ้น ซึ่งก็จะย้อนกลับมาสู่บุตรหลานด้วย ทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่น

“การดำเนินงานดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ เพราะมีงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน โดยเบิกจ่ายผ่านโรงพยาบาลแม่ข่าย ซึ่งจะมีงบเหมาจ่ายรายหัวที่จัดเข้ามาอยู่ในระบบอยู่แล้ว เช่น เรื่องของวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วนการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านก็มีงบกองทุนสุขภาพตำบลในการทำงาน จึงทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ” นางปราณี กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น