xs
xsm
sm
md
lg

“โรคภูมิแพ้” โรคธรรมดาที่ไม่ควรมองข้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รศ.นพ.ต่อพงษ์ ทองงาม
ภาควิชาอายุรศาสตร์

ในปัจจุบัน ประชาชนป่วยเป็นโรคภูมิแพ้กันมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อได้รับหรือสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรหญ้า ขนสุนัข ขนแมว ไรฝุ่น หรือสารก่อภูมิแพ้จากอาหาร เช่นแป้งสาลี นม ไข่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่า สาเหตุของโรคนี้ยังเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ด้วย

ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อาการแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่เกิดโรค เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ จะมีอาการคัดจมูก คันจมูก จาม น้ำมูกใส ๆ บางครั้งอาจมีอาการคันตาร่วมด้วย ส่วนโรคหืดภูมิแพ้ จะมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงวี้ด และโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ จะมีผื่นที่ผิวหนัง เป็น ๆ หาย ๆ ส่วนใหญ่จะคันมาก

โรคภูมิแพ้เป็นได้เกือบทุกวัย โดยเฉพาะในสังคมเมือง หรือสังคมอุตสาหกรรม เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจว่าเป็นภูมิแพ้จริงหรือไม่ โดยแพทย์จะแนะนำให้ตรวจทดสอบภูมิแพ้อย่างง่าย ๆ ว่า ผู้ป่วยแพ้สารภูมิแพ้ชนิดใด เพื่อจะได้หลีกเลี่ยง ก็จะทำให้อาการดีขึ้น หากยังมีอาการอยู่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาร่วมด้วย เช่น หากเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้อาจใช้ยาแก้แพ้และยาพ่นละอองฝอยเข้าไปในรูจมูก หากเป็นโรคหืดภูมิแพ้ก็อาจใช้ยาสูดเข้าทางปาก เป็นต้น

การรักษาโรคภูมิแพ้ปัจจุบันมี 3 วิธี คือ
1.การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หากผู้ป่วยได้รับการทดสอบภูมิแพ้ และทราบว่าตัวเองแพ้อะไร การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้อย่างถูกวิธี ก็จะทำให้อาการดีขึ้น หรือถ้าไม่ได้ทดสอบภูมิแพ้ อาจใช้วิธีสังเกตว่า ได้รับสารอะไรแล้วมีอาการ ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น นอกจากนั้น ควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถควบคุมได้ เช่น
- การทำความสะอาดบ้าน การจัดห้องนอนให้โล่ง มีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น และไม่ควรใช้พรมปูพื้นห้อง ไม่ควรมีกองหนังสือหรือกระดาษเก่า ๆ ควรเก็บหนังสือและเสื้อผ้าในตู้ที่ปิดมิดชิด ไม่ควรใช้เก้าอี้ชนิดที่เป็นเบาะหุ้มผ้า ไม่ควรมีของเล่นสำหรับเด็กที่มีนุ่น หรือเศษผ้าอยู่ภายใน หรือของเล่นที่ขนปุกปุย หรือทำด้วยขนสัตว์จริง เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นที่กักเก็บฝุ่นได้

- สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว กระต่าย ฯลฯ ไม่ควรนำมาเลี้ยงไว้ในบ้าน หรืออย่างน้อยไม่ควรให้อยู่ในห้องนอน แม้ว่าผู้ป่วยไม่แพ้ก็ไม่ควรคลุกคลี เพราะอาจมีโอกาสที่จะแพ้ขึ้นมาได้ในภายหลัง
- ละอองเกสรดอกไม้ เกสรหญ้าและวัชพืช อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ถ้าบริเวณบ้านมีสนามหญ้า ควรตัดหญ้าและวัชพืชในสนาม เพื่อลดจำนวนละอองเกสร อย่างไรก็ตาม แม้ในบ้านไม่มีหญ้าหรือวัชพืชใด ๆ ก็ตาม ผู้ป่วยอาจมีอาการได้เนื่องจากละอองเกสรเหล่านี้เล็ก และเบา จึงอาจปลิวตามลมมาจากที่อื่นได้
การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวข้างต้นจะสามารถบรรเทาอาการของโรคลงได้อย่างมาก นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยง สารระคายเคืองต่าง ๆ เช่น ฝุ่น ควัน กลิ่นฉุนหรือแรง อากาศที่เย็น หรือร้อนเกินไป การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศอย่างรวดเร็ว การอดนอน การดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ อารมณ์ที่ตึงเครียด ไม่สบายใจ ซึ่งผู้ป่วยควรสังเกตว่าสารหรือภาวะแวดล้อมหรือการปฏิบัติอย่างไร ที่ทำให้อาการของโรคมากขึ้น ควรพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น

2. การใช้ยา เช่น ยารับประทาน ยาพ่นเข้าจมูก หรือยาสูดเข้าหลอดลม อาจมีความจำเป็น ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรซื้อยามาใช้เอง จึงควรมาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจาการใช้ยา และเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด
3. การฉีดวัคซีน เป็นการรักษาโดยฉีดวัคซีนสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งแพทย์จะทดสอบภูมิแพ้ก่อนว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด แล้วฉีดสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น ๆ เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยมีการปรับภูมิต้านทานทีละเล็กทีละน้อย แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณวัคซีน จนในที่สุดร่างกายมีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ได้ เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ก็จะมีอาการน้อยลงหรือไม่มีอาการเลย วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก และไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา การรักษาด้วยวิธีนี้ควรฉีดวัคซีนภูมิแพ้อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ โดยใช้เวลาประมาณ 3 - 5 ปี

สำหรับผู้ป่วยที่แพ้อาหารที่มีอาการแพ้รุนแรง ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้อย่างเคร่งครัด ในกรณีที่พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้แล้วแต่ยังมีอาการแพ้ เนื่องจากได้รับอาหารที่แพ้เจือปนเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อย ๆ เช่น การแพ้แป้งสาลี ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารหลายชนิด ได้แก่ ขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารชุบแป้งทอด เป็นต้น ทำให้การหลีกเลี่ยงเป็นไปได้ยาก และมีความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งบางครั้งต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน ในกรณีนี้แนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ ปัจจุบันการแพ้อาหารในผู้ป่วยบางรายสามารถรักษาได้ โดยแพทย์จะเป็นผู้เตรียมอาหารที่แพ้ให้ผู้ป่วยรับประทานทีละน้อย ๆ และเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการแพ้ได้ขณะทำการรักษา ซึ่งแพทย์ต้องให้การรักษาอย่างทันท่วงที

เมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำและดูแลตัวเองเป็นพิเศษ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และที่สำคัญควรออกกำลังกายสม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอและรักษาสุขภาพจิตให้สดชื่นแจ่มใส อาการก็จะดีขึ้น
******
กิจกรรมดี ๆ ที่ศิริราช
#จัดให้ความรู้ความเข้าใจและเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัดผ่านกล้องนรีเวชวิทยา เรื่อง โรคเนื้องอกมดลูก ในวันที่ 3 ส.ค. 59 เวลา 12.00 - 16.00 น. ณ ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดสหสาขาผ่านกล้องไทย - เยอรมันฯ ตึกจุฑาธุช ชั้น 8 (ฟรี) สอบถามและสำรองที่นั่งล่วงหน้า โทร. 0 2419 4772, 08 3542 3237 ในวันและเวลาราชการ

#จัดอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ในวันที่ 10 ส.ค. 59 เวลา 08.30 - 16.30 น. ณ ห้องประชุมตรีเพ็ชร์ อาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รับเฉพาะผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม (ฟรี) สอบถามและสำรองที่นั่งล่วงหน้าที่ คลินิกผู้สูงอายุ โทร. 0 2419 7287, 09 3836 0191 ในวันและเวลาราชการ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น