xs
xsm
sm
md
lg

เบาหวาน-ความดัน ต้นตอ “พิการ” ชาวนาทวี เร่งปรับวัฒนธรรมกินบุฟเฟต์หวานมันเค็ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์เผยสาเหตุ “คนพิการ” ใน อ.นาทวี จ.สงขลา เกิดจากภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน - ความดัน มากกว่าอุบัติเหตุ เร่งปรับวัฒนธรรมการกิน “บุฟเฟต์อาหารหวานมันเค็ม“ เน้นผักพื้นเมือง ช่วยผู้ป่วยลงได้ พร้อมทำงานร่วมชุมชนเครือข่าย พัฒนาศักยภาพคนพิการดูแลตนเอง มีงานทำ

วันนี้ (6 ก.ย.) นพ.สุวัฒน์ วิริยพงศ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา กล่าวถึงการดำเนินงานขับเคลื่อนเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ ว่า ยุทธศาสตร์ของ อ.นาทวี คือ “คนนาทวีไม่ทอดทิ้งกัน” โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ จึงกำหนดให้การดูแลคนพิการเป็นการดำเนินงานเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ “หนึ่งตำบลหนึ่งโครงการ” (One District One Project : ODOP) เพื่อพัฒนางานคนพิการและลดการเพิ่มจำนวนคนพิการ โดยเริ่มจากการจัดทำฐานข้อมูลก่อน คือ การทำเว็บไซต์ www.ข้อมูลชุมชน.com ซึ่งจะช่วยให้ทราบข้อมูลคนพิการในเชิงลึก ทั้งเรื่องของจำนวน การขึ้นทะเบียน การติดตามดูแลว่าเป็นอย่างไร โดยคนพิการทั้งหมดของอำเภอมีอยู่ 1,023 ราย พิการทางความเคลื่อนไหวมากที่สุด คือ 436 ราย ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า สาเหตุของความพิการไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุอย่างที่คิด แต่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อต้องการลดจำนวนคนพิการก็ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ คือ การจัดการโรคเรื้อรัง ซึ่งปัญหาสำคัญและใกล้ตัวที่สุดของโรคนี้ คือ การบริโภคอาหาร แนวทางสำคัญ คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลสู่ชุมชน เพื่อดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค ร่วมวางแผนในการรักษา และสร้างศักยภาพครอบครัว อสม. ท้องถิ่น ชุมชนมาทำงานร่วมกัน เป็นสหสาขาอาชีพ ไม่ใช่สหสาขาวิชาชีพเฉพาะบุคลากรสาธารณสุขอีกต่อไป

“อำเภอนาทวีจะมีวัฒนธรรมในเรื่องของ บุฟเฟต์งานเลี้ยง ไม่ว่าจะจัดงานอะไรก็ตามจะเป็นจัดเป็นแบบบุฟเฟต์ให้ผู้มาร่วมตักอาหารทานเองแบบพอดี ๆ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่เข้าไปพูดคุยรณรงค์ให้มีการปรับในเรื่องของเมนูอาหาร โดยให้ลดอาหารหวานมันเค็ม เน้นผักพื้นเมืองเพื่อการบำบัด โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น กระเทียมที่ช่วยลดความดัน หรือผักเหลียง เป็นต้น หรืออย่างการทำบุญทางอิสลามที่เรียกว่านูหรี่ ส่วนใหญ่มักจะทำเป็นมัสมั่นที่มีความมัน มีการใส่กะทิก็จะขอให้ลดเรื่องความมันลง หรืออย่าง “บูดู” อาหารพื้นเมืองก็ขอให้ลดความเค็มลง เป็นต้น โดยจัดทำเป็นโครงการ อ.อาหารเพื่อการบำบัด และส่งเสริมในเรื่องของการปลูกผักเพื่อการบำบัด ปลูกเองกินเอง แจกจ่าย แลกพันธุ์ หากเหลือจึงค่อยจำหน่าย ซึ่งจากการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2556 พบว่า สามารถลดจำนวนผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงลงได้” นพ.สุวัฒน์ กล่าว

นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการพัฒนางานคนพิการนั้น ได้มีการส่งเสริมให้เกิดการวมตัวของคนพิการขึ้นเป็น “ชมรมคนนาทวีไม่ทอดทิ้งกัน” ส่งเสริมเรื่องของการฝึกอาชีพ เช่น การนวดไทย การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เป็นต้น การเปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชน 2 ศูนย์ คือ ต.นาหมอศรี และ ต.ทับช้าง เพื่อให้ผู้ป่วยและคนพิการเข้าถึงการรักษาฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง การทำโรงงานขาเทียมพระราชทาน การสร้างบ้านคนพิการ สนับสนุนกายอุปกรณ์ และการเยี่ยมบ้าน เป็นต้น ซึ่ง อบต.นาหมอศรี ได้รับรางวัลองค์กรที่มีผลงานเด่นด้านการส่งเสริมสุขภาพ เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ดูแลคนพิการ”



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น