เมื่อเปลือกมังคุดของดีเมืองนครศรีธรรมราชต้องถูกทิ้งกลายเป็นขยะ ทำให้ชาวบ้านต้องหาวิธีเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นสบู่มังคุด ชูจุดเด่นด้วยการดึงเอาคุณค่าในเปลือกมังคุดออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อการดูแลและบำรุงผิวพรรณให้ดีที่สุด ทำให้ “สนธยา ชำนะ” ขึ้นชื่อว่าเป็นมิสเตอร์มังคุด แห่งบ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช กับชื่อเสียงที่ไปไกลทั้งใน และต่างประเทศ
นอกจากบ้านคีรีวงจะเลื่องชื่อว่าเป็นแหล่งโอโซนอันดับหนึ่งของไทยแล้ว ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรก็ติดอันดับของดีที่นักท่องเที่ยวต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับไป อย่าง “สบู่มังคุด” จากสรรพคุณในเรื่องผิวพรรณ และการรักษาสิวที่เห็นผลชะงัก ของ “นายสนธยา ชำนะ” ประธานกลุ่มบ้านสมุนไพรคีรีวง หรือคนในหมูบ้านเรียกกันติดปากว่า 'มิสเตอร์มังคุด' เขาเป็นผู้ริเริ่มนำเปลือกมังคุดมาทำเป็นสบู่ จากแนวคิดที่ว่าคนในคีรีวงจะอยู่รอดได้นั้นต้องพึ่งพาภาคการเกษตร เพราะนอกจากจะรักษาแหล่งโอโซนแห่งนี้ให้อยู่ตลอดไปได้แล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านเกิดได้อีกด้วย
เขาเลือกนำเปลือกมังคุดมาสกัดสารที่มีสรรพคุณช่วยเรื่องผิวพรรณออกมา จากการทดลองใช้เองเมื่อครั้งเยาว์วัย ด้วยการนำเปลือกมังคุดมาล้างหน้าเพื่อรักษาสิว จึงนำประสบการณ์ดังกล่าวมาต่อยอดเป็นธุรกิจ หวังสร้างความยั่งยืนให้ครอบครัว ทำให้ “สบู่มังคุด ภายใต้แบรนด์ มิสเตอร์มังคุด” จึงเกิดขึ้นในหมู่บ้านคีรีวงเมื่อปี 2537 ที่ผ่านมา โดยเขาถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำสบู่มังคุดขึ้นในประเทศไทย
“ช่วง 3-4 ปีแรกที่ทำสบู่มังคุดขึ้นมาถือว่าค่อนข้างลำบาก เพราะผู้คนไม่ค่อยรู้จัก ทำให้ขายสินค้าไม่ได้เลย แต่เราก็ไม่ท้อเพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ ซึ่งก็พยายามเจาะตลาดไปเรื่อยๆ เน้นกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ด้วยการให้บรรดาลูกๆ นำไปขายเพื่อนๆ ในกรุงเทพฯ กระทั่งมีคนซื้อไปใช้แล้วติดใจก็เกิดการซื้อซ้ำ ทำให้ลูกๆ สามารถขายสบู่มังคุดจนมีรายได้เพียงพอสำหรับการจ่ายค่าเทอมได้ ขณะที่เราก็รุกขายคนในชุมชน และเริ่มเจาะตลาดต่างประเทศ ทำให้ปัจจุบันทั้งชาวจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อิรัก รัสเซีย และดูไบ ล้วนเป็นลูกค้าของสบู่มิสเตอร์มังคุดทั้งนั้น”
จุดขายที่โดดเด่นของสบู่มิสเตอร์มังคุด นอกจากจะเป็นที่รู้กันในเรื่องสรรพคุณของเปลือกมังคุดแล้ว เขายังชูความเป็นสบู่ออร์แกนิก เพราะเลือกใช้มังคุดปลอดสารพิษ และต้องเป็นมังคุดเปลือกสีดำสนิทเท่านั้น โดยรับซื้อจากเกษตรกรในชุมชน และจังหวัดใกล้เคียง รับซื้อในกิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมังคุดตกเกรด หรือเกษตรกรบางรายก็นำมังคุดลูกสดที่ขายไม่ได้แกะเปลือกมาขายให้
ส่วนขั้นตอนการผลิต เขาจะนำเปลือกมังคุดมาบดละเอียด คั้นน้ำจากเปลือกเพื่อเอาสารที่มีประโยชน์ออกมา จากนั้นมานำผสมกับไขสบู่ที่เกิดจากการนำน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าวที่สั่งผลิตขึ้นตามสเปกของมิสเตอร์มังคุดมาผสมเข้าด้วยกัน พร้อมด้วยสมุนไพรอีกกว่า 30 ชนิด จากนั้นนำไปขึ้นรูปด้วยเครื่องจักรที่ผลิตขึ้นเอง เพื่อทำเป็นก้อนสบู่ และขึ้นลายรูปมังคุด นำมาห่อพลาสติกใสและใส่กล่องแพกเกจที่ออกแบบไว้ ขายในราคาก้อนละ 40 บาท
อนาคตเขาเตรียมสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP รองรับออเดอร์จากต่างประเทศที่มีมากขึ้น ขณะที่ตลาดในประเทศก็ติดต่อเข้ามาเพื่อวางจำหน่ายตามร้านสินค้าสุขภาพ และร้าน Green Product หลังแบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักจากคุณภาพที่บอกต่อ และการนำไปใช้ได้อย่างคุ้มค่าทั้งลำตัวและใบหน้า
เห็นอย่างนี้แล้ว ใครที่ไปเยือนคีรีวงต้องไม่พลาดซื้อสบู่มังคุดกลับมาฝาก แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะซื้อยี่ห้อไหนดี เพราะทั้งหมู่บ้านคีรีวงสบู่มังคุดทุกยี่ห้อล้วนเป็นของมิสเตอร์มังคุดทั้งนั้น เป็นสูตรเดียวกันทั้งหมด จากแนวคิดอุตสาหกรรมในครัวเรือนให้ลูกๆ และภรรยานำไปทำมาหากิน
***สนใจติดต่อ 0-7553-3126 หรือที่ www.facebook.com/mr.mungkud/***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *