มิร์เรอร์ - ทารกเพศหญิงรายหนึ่งน่าสงสารอย่างสุดขั้ว ด้วยถือกำเนิดมาพร้อมกับหนึ่งในอาการที่หายากที่สุดในโลก ซึ่งส่งผลให้หนูน้อยรายนี้ไม่มีผิวกายด้านนอก
อาการนี้เรียกว่า Harlequin Ichthyosis (เด็กดักแด้) ถูกจัดอยู่ในโรคทางพันธุกรรมรุนแรง ซึ่งผิวหนังเป็นเปลือกหุ้มหนาและแตกออกทั่วตัวเหมือนเปลือกไข่ ขณะที่โรคนี้มีอัตราของการพบอยู่ที่ 1 ในทารก 300,000 คนที่ลืมตาดูโลก
หนูน้อยรายนี้ถือกำเนิดในเมืองอัมราวาตี ในรัฐมหาราษฎระ ทางภาคกลางของอินเดีย จากครรภ์ของมารดาที่มีอายุ 23 ปี
คณะแพทย์ของโรงพยาบาลลดา มังเคศกร เมดิคอล คอลเลจ แอนด์ ฮอสพิทอล บอกว่า เด็กหญิงผู้น่าสงสารรายนี้ถือกำหนดมาโดยแทบไม่มีผิวหนังเลย และด้วยที่ป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมรุนแรงชนิดนี้ นั่นหมายความว่าเธอจำเป็นต้องคอยดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้นไปตลอดทั้งชีวิต
แพทย์รายหนึ่งบอกว่าพวกเขาใช้ปิโตรเลียม เจลลี และน้ำมันมะพร้าว และจัดอาหารเสริมให้แก่หนูน้อย ส่วนแพทย์อีกคนเสริมว่า “ด้วยร่างกายไม่มีผิว การซ่อมแซมโดยใช้การปลูกผิวหนัง (skin graft) จึงเป็นไปไม่ได้ แต่เคราะห์ดีที่ทารกไม่ได้มีอาการเกี่ยวกับการหายใจใดๆ ไม่อย่างนั้นเธออาจจำเป็นต้องได้รับการช่วยหายใจ และตอนนี้เธออาการทรงตัว”
รายงานข่าวของอินเดีย เอ็กซ์เพรสระบุว่า ทารกรายนี้มีแค่รูจมูกเล็กๆ 2 รู เปลือกตากลับทางและไม่มีหู
ในขณะที่ผลตรวจสามารถระบุได้ว่าทารกในครรภ์มีอาการ Ichthyosis หรือไม่ แต่พ่อแม่ของเด็กมีฐานะยากจนและไม่มีเงินมาดำเนินการรักษาก่อนคลอดได้ ทั้งนี้ทารกรายดังกล่าวมีน้ำหนักตัวตอนคลอด 1.8 กิโลกรัม และเป็นลูกคนแรกของครอบครัว