ปัญหาของเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างการทำนานั้นนับวันยิ่งมีมากขึ้น ต้องแบกรับต้นทุนค่าปุ๋ยค่ายา ฝากชีวิตไว้กับดินฟ้าอากาศ ไหนจะต้องมาเจอกับการกดราคาจากพ่อค้าคนกลางอีก ชาวนาในวันนี้ “ยิ่งทำยิ่งจน” เมื่อคิดได้ดังนี้ เขาจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีการประกอบอาชีพจากแบบเดิมที่เคยทำมา
“สุเทพ ชูศรี” ย้อนคิดถึงวันที่เขาตัดสินใจปิดฉากชีวิตหนุ่มออฟฟิศ จากวันแรกที่เข้ามาหาเงินในเมืองหลวงมากว่า 20 ปีทำให้บรรลุสัจธรรมว่า อย่างไรแสงสีเมืองกรุงก็ไม่สามารถชดเชยกลิ่นนาข้าวที่สงขลาได้ จึงอำลางานกลับมาพลิกฟื้นผืนนาให้กลายเป็นสวนมะพร้าว เรียนรู้เทคนิคการคว้านมะพร้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า กลายเป็นมะพร้าวโนบราคุณภาพขึ้นห้างสร้างผลตอบแทนอย่างงดงามกว่าเดือนละแสนบาท
จากนายช่างห้างหรูมาคว้านมะพร้าวขาย
“ผมเป็นคนสงขลาโดยกำเนิด ที่บ้านปลูกข้าวตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่มาถึงยุคผมพอเรียนจบ ปวส.ก็เข้ามาหาทำงานช่างที่ห้างใจกลางกรุงเทพฯ ไปเที่ยวภูเก็ต กระบี่ ตรัง เห็นมะพร้าวขายลูกละ 50-60 บาท เขาบอกรับมาจากภาคกลาง ผมอดคิดไม่ได้ว่า เราเป็นคนใต้แท้ๆ ทำไมจึงไม่ปลูกเอง ยิ่งเดินดูตลาดยิ่งมั่นใจว่า มีคนบริโภคมะพร้าวทั้งปี จนหาข้อสรุปในกับตัวเองได้ว่า เราคงไม่เหมาะกับถนนคอนกรีต จึงขอพ่อแม่แบ่งที่นา 30 ไร่ มาทำสวนมะพร้าวน้ำหอม เพราะเมื่อสภาวะโลกเปลี่ยน ฤดูกาลเปลี่ยน จะทำเกษตรเชิงเดี่ยวเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว
ระหว่างทำงานผมก็ลงมาพลิกฟื้นผืนนาปลูกมะพร้าวน้ำหอมด้วย เรียกว่า ในปี 2550 เป็นสวนแรกของอำเภอเลย โดยใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำเกษตรแบบผสมผสาน มีมะพร้าว ทำฟาร์มไก่ เลี้ยงปลา มะพร้าวตัดเดือนละ 2 ครั้ง ระหว่างนั้นเก็บผักกินยอดขาย ไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยก็ให้บริษัทคิดสูตรเฉพาะมะพร้าวเลย ทำให้สวนผมมีมะพร้าวขายทั้งปี ควบคู่กับเกษตรเชิงพาณิชย์ จนกระทั่งกลายเป็นเจ้าใหญ่ และมีปริมาณพอควร
ผมจึงอยากทำให้ชาวบ้านเห็นว่า เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตได้ ไปเปิดดูยูทิวบ์เห็นเขาคว้านมะพร้าวออกมาเฉพาะเนื้อ ก็คิดว่าไม่น่าเกินความสามารถ มาลองหัดเรียนรู้ และทำตามก็สามารถทำได้ในเวลาไม่นาน
หลังจากผ่านเรียนรู้ และสังเกตก็ค้นพบว่า เมื่อมะพร้าวมีอายุราว 170 วัน น้ำจะมีความหอมหวาน เนื้อนิ่ม รสชาติดีเหมาะแก่การรับประทาน ประกอบกับพื้นที่อำเภอกระแสสินธุ์ บ้านผมเป็นดินเหนียว มีน้ำสมบูรณ์ ยิ่งทำให้น้ำมะพร้าวหวานเข้ม หอม เนื้อนิ่มเข้าไปอีก
เมื่อคว้านแล้วก็ต้องหาที่ใส่ ซึ่งผมอยากใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่ให้เยอะที่สุด รวมทั้งอยากสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ผมจึงให้ผู้สูงอายุสานตระกร้าใบตาลส่งผมๆ ให้ใบละ 3 บาท บางคนมีรายได้สูงสุด 2,000 บาทต่ออาทิตย์ จากนั้นรองด้วยใบตอง แพกใส่ถุงพลาสติก พร้อมหลอดไม้เจาะดูดได้เลย แล้วโพสต์ลงไลน์กลุ่มขายลูกละ 55 บาท ได้รับการตอบรับดี ไม่รวมที่ขายที่เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ อีกวันละ 200-300 ลูก
ดีแทคออนไลน์มะพร้าวโนบรา ดีลิเวอรี่ส่งตรงถึงบ้าน
“ต้องขอบคุณดีแทค ที่ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร มาจัดหลักสูตรอบรม Smart Farmer ที่จังหวัดสงขลา ให้ความรู้เกี่ยวกับศักยภาพของอินเทอร์เน็ต และการทำตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ ดีใจมากที่ได้เรียนรู้การทำเว็บไซต์ เป็นโครงการที่สุดยอดจริงๆ เมื่อก่อนผมไม่เคยสนใจเลย ขายมะพร้าวทีต้องขับรถไปเปิดท้ายตามตลาดนัด จะมีลูกค้ามารับมะพร้าวไปขาย กับขายทางไลน์ในกรุ๊ปเพื่อน กลุ่มโรงเรียน สมาคม รวมทั้งไลน์ส่วนตัว แล้วอาศัยการแชร์ต่อ ซึ่งเราไม่สามารถลงรายละเอียดได้เยอะ หากใครไม่ใช่เพื่อนผมก็ไม่สามารถเข้าไปดูได้ ลูกค้าส่วนมากจึงเป็นผู้ค้าส่งมากกว่ารายย่อย”
แต่พอดีแทคเข้ามาสอนทำเพจ แค่ 2 เดือนเพจมะพร้าวโนบราของผม มียอดคนเข้าไปดูประมาณ 3,000-4,000 คน จากไลน์ที่มีสมาชิก 1,000 กว่าคน ก็ว่าเยอะแล้ว แต่นี่เพิ่ม 2-3 เท่า จนผมตกใจเลย ถึงวันนี้ไม่ต้องกังวลใจเรื่องเดินหาตลาดอีกแล้ว เสร็จจากแพกมะพร้าวผมเปิดโต๊ะทำงานใต้ต้นไผ่ เปิดเฟซบุ๊ก เปิดไลน์ ดูอินเทอร์เน็ต หาไอเดียออกแบบแพกเกจิ้งทำตลาดไปเรื่อยๆ ซึ่งผมไม่ได้มีเฉพาะมะพร้าว เครือข่ายผมยังมีสตรอเบอร์รี่โนบรา ขณะเดียวกัน ก็อัปเดตหน้าเพจ ใส่รูป รวมทั้งหาข้อมูลที่มีประโยชน์ของน้ำมะพร้าวมาโพสต์ หากมียอดสั่งก็ฝากไปส่งที่สถานีขนส่ง เสาร์ อาทิตย์ไปเจอะเจอลูกค้าที่เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ ชีวิตสบายขึ้นเยอะเลย
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)