xs
xsm
sm
md
lg

รายได้ครึ่งล้านต่อปี! “สวนผักฮักมี”... เกษตรปลอดสารยุคดิจิตอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สอบติดราชการมีเกียรติมีศรี ไม่ทำ จะกลับมาปลูกผัก บ้าหรือเปล่า” เสียงชาวบ้าน แม้กระทั่งพ่อแม่ที่ตำหนิแกมเสียดาย เมื่อรู้ว่าเธอสละสิทธิจากงานราชการประจำจังหวัด กลับมาเป็นเกษตรกรอยู่อำเภอเล็กๆ กลายเป็นเหมือนแรงผลักดันที่เธอต้องทำให้ชาวบ้านเห็นให้ได้ว่า “ไม่บ้า” และ “ทำได้จริง” วันนี้เธอสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า ชาวสวนก็เป็นอาชีพที่มีเกียรติ และสามารถทำเกษตรแบบปลอดสารได้ ด้วยตำแหน่ง Young Smart Farmer ประจำจังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้ต่อปี 540,000 บาท

ฝ้าย-ขวัญชนก หงษ์ประสิทธิ์...สลัดส้นสูงมาใส่งอบขุดดินปลูกผัก

ฝ้ายอยู่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พ่อแม่เป็นเกษตรกร อยากให้ลูกเรียนบัญชี จึงส่งเข้ามาเรียนในเมือง ขณะเรียน ได้เจอหลายแนวทางหลายความคิด โดยเฉพาะแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องการทำเกษตรผสมผสาน และปลอดสาร เมื่อมาบอกพ่อแม่ที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกลำไย และมะม่วง ขายได้ปีละครั้ง ซึ่งหากปีไหนไม่ติดลูกก็ไม่มีรายได้เลย ท่านก็ไม่ยอมเปลี่ยน พอฝ้ายเรียนจบปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ (บัญชี) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ ทั้งที่หน้าที่การงานกำลังก้าวหน้า เป็นเซลขายเครื่องมือแพทย์ มีรายได้หลายหมื่น สอบบรรจุราชการติดแล้วด้วย แต่ฝ้ายสละสิทธิกลับมาทำเกษตร ท่ามกลางความกดดันจากสายตาชาวบ้านที่เฝ้ามอง

แล้วพอมาทำจริงไม่สวยหรูอย่างในทฤษฎี กู้เงิน ธกส.มา 50,000 บาท ทำแปลงผักสลัดใหญ่มาก โดยที่ไม่มีความรู้เรื่องดินเลย อาศัยประสบการณ์ที่เห็นพ่อแม่ทำมาตั้งแต่เกิด ด้วยความที่เรารักสุขภาพ จึงไม่ใช้สารเคมี ปรากฏว่า ต้นเล็กขายไม่ได้ราคา ขาดทุนหลายหมื่น ไม่ยอมแพ้ ซื้อก้อนเห็ดนางฟ้าหลายหมื่นก้อน เจอเชื้อราเข้าไป เจ๊งอีก เป็นบทเรียนสอนว่า ทำการเกษตรต้องวางแผนการตลาด และการผลิตว่าจะปลูกอะไร ช่วงไหน แล้วอย่าทำอะไรเกินตัว ตั้งแต่นั้นฝ้ายปลูกน้อยลง แต่หลายอย่าง ตั้งแต่พืชผักสวนครัว บ้านอยู่ติดโครงการหลวง เขาแนะนำให้ปลูกเสาวรส โดยเราเก็บทุกสัปดาห์ๆ ละครั้ง เรามีเสาวรสให้ทานตลอดปี แล้วแปรรูปเป็นน้ำเสาวรส รวมทั้งผักต่างๆ ก็มาทำเป็นน้ำสมุนไพร จุดขาย คือ ความสด รสชาติเข้มข้น

ถึงวันนี้ 8 ปีแล้วที่ฝ้ายทำเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็นว่า ใช้ระบบพืชพึ่งพากันเอง ไม่ใช้สารเคมี ทำน้ำหมักชีวภาพ ฮอร์โมนสังเคราะห์แสง หรือเลี้ยงไส้เดือนช่วยลดต้นทุน ทำให้มีกำไร เพราะเราขายเองที่เชียงใหม่จะมีตลาด JJ จริงใจ มาร์เกต ขายผักปลอดสาร เกษตรกรที่จะเข้ามาขายได้ต้องมีใบรับรองจากหน่วยงานต่างๆ เรียกว่า ไม่พอขายจนฝ้ายปลดหนี้ ธกส.ได้เร็วขึ้น

เชื่อมสู่อินเทอร์เน็ต ทำเกษตรอย่างสมาร์ท

ภายใต้โครงการดิจิตอลไทยแลนด์ ดีแทค ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนรัฐบาลสร้างเศรษฐกิจ และสังคมดิจิตอล เพื่อเปลี่ยนโฉมประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิตอลในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดีแทคได้ลงทุนโครงข่าย ขยายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมต่อเกษตรกร และอบรมผู้ที่มีอาชีพด้านเกษตรกรรมในการสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งผ่านโครงการ Smart Farmer

ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างดีแทค กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 17-45 ปี สู่ความเป็น Young Smart Farmer ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมการสื่อสาร และร่วมผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลสู่ภาคการเกษตร สร้างโอกาสให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสาร และความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต พร้อมพัฒนาผลผลิต หรือผลิตภัณฑ์เพื่อเข้าสู่การค้าขายผ่านออนไลน์

ดีแทค ปลุกเพจร้างสร้างเงินแสน

“ฝ้ายเปิดเพจชื่อ “สวนผักฮักมี” แต่ความที่ออกจากสังคมเมืองมานาน ไม่ค่อยอัปเดตโซเชียลมีเดีย จึงไม่เห็นคุณค่าของเพจมากกว่าอัปรูปเล่นสัปดาห์ละครั้ง นานหน่อยก็เดือนละครั้ง มีคนกดไลก์ไม่กี่คน โชคดีมากที่ดีแทค มาอบรม เราจึงได้เปิดสมองจากที่ไม่เคยทราบว่า ต้องทำอย่างไร จึงจะเช็กยอดว่ามีใครเข้ามาอ่านเพจเราเท่าไหร่ หรือได้เรียนรู้ช่องทางการตลาดในรูปแบบออนไลน์ว่า หากเสียเงิน 100 บาทแลกกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะมาเห็นหน้าเพจของเรา 2,000-3,000 คน พร้อมกับสอนการถ่ายรูปผลิตผลขึ้นเฟซบุ๊ก จะเขียนคำโฆษณาอย่างไร ช่วยสร้างเพจให้

ตั้งแต่นั้น การเข้าเฟซบุ๊กก็ไม่เสียเปล่า ได้ยกระดับคุณภาพสินค้าให้มีมูลค่า มีลูกค้าแอดเป็นเพื่อนเยอะ แต่ฝ้ายยังไม่ลงโฆษณาผลิตภัณฑ์เต็มรูปแบบ เพราะเราทำเกษตรกัน 3 คน พ่อ แม่ ลูก สินค้าจึงยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะนำเสาวรสมาแปรรูป หน้าเพจตอนนี้เป็นสถานที่ ซึ่ง “สวนผักฮักมี” เป็นศูนย์การเรียนรู้ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย”



(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)

กำลังโหลดความคิดเห็น