xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทค ผนึก กรมส่งเสริมการเกษตร-มูลนิธิฯ รักบ้านเกิด หนุนเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และ ราจีฟ บาวา รักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร ดีแทค  ร่วมในพิธีประกาศผลรางวัลในครั้งนี้
เป็นการลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการพัฒนาการเกษตร หวังใช้ความเชี่ยวชาญด้านโมบายเทคโนโลยี และเครือข่ายบริการที่เข้าถึงทุกพื้นที่ประเทศไทยของดีแทค ส่งต่อองค์ความรู้ด้านการผลิต การบรรจุภัณฑ์ โลจิสติกส์ และการตลาดออนไลน์ ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้เคลื่อนที่ (Mobile Learning Center) เพื่อสร้างให้เกษตรกรไทยเป็น Smart Farmer พร้อมประกาศผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2558

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า “การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่ Smart Farmer เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของดีแทคที่จะนำโมบายเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้เคลื่อนที่ทั่วประเทศ
"เราจะเริ่มเฟสแรกในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 เริ่มจากลงพื้นที่ 20 จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรเข้าร่วมแห่งละ 50 คน และสนับสนุนเป็น Local Hero เพื่อขยายฐานความรู้ส่งต่อให้ชุมชนซึ่งจะเน้นการอบรมเรื่องอีคอมเมิร์ซ บริการธุรกรรมด้านการเงินผ่านมือถือ และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มSmart Farmerให้ได้ 20,000 คน ภายในสิ้นปี 2559”
“อินเทอร์เน็ต คือกลไกหลักสร้างความสำเร็จของทุกอุตสาหกรรม และดีแทค ก็เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ไปช่วยขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น นอกจากที่กล่าวแล้ว ดีแทคยังจะเข้ามาช่วยพัฒนาช่องทางการสื่อสารระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลสินค้า/ผลิตภัณฑ์ผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่น FARMER INFO ที่ดีแทคกับ บจก.รักบ้านเกิด ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นอีกด้วย” ลาร์ส นอร์ลิ่ง กล่าว
ขณะที่ โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “ตามนโยบาย 5 Smart ได้แก่ Smart Officer ,Smart Office ,Smart Farmer, Smart Group และ Smart Product เป็นการพัฒนาการเกษตรในองค์รวม ในส่วนของ Smart Farmer เน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และองค์กรด้านการเกษตรโดยมุ่งหวังให้การพัฒนาเกษตรกรเกิดผลเป็นรูปธรรม และให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของส่วนราชการในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งภาคีเครือข่ายจากภายนอก
ในปี 2557 ทางกรมฯ เริ่มร่วมมือกับดีแทคและมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ทำงานแบบบูรณาการ ทำแผนเชิงรุก ลงพื้นที่ไปพบเกษตรกร แนะนำให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อวางแผนก่อนเริ่มดำเนินการ และบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และเกษตรกรที่ต้องการพัฒนาศักยภาพให้มีทักษะการใช้ Smart Deviceโดยกรมฯ ให้การสนับสนุนข้อมูลรายชื่อ ที่ตั้ง และผู้ประสานงานของเกษตรกรและกลุ่ม/องค์กรเกษตรกร เพื่อดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้กับเกษตรกร และสนับสนุนในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และร่วมจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาเกษตรกรก้าวสู่ SMART FARMER ที่มีศักยภาพการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยและก้าวไกลยิ่งขึ้น


ผู้ที่ได้รับรางวัลการประกวด “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2558” รางวัลชนะเลิศ นายอธิศพัฒน์ วรรณสุทธิ์ จ.เลย (กลาง)  รองชนะเลิศอันที่ 1 นายปฏิวัติ อินทร์แปลง จ.ชุมพร (ซ้าย) รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 นายสุวิชัย วงค์ษา จ.ศรีสะเกษ (ขวา)
ผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2558
ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2558 คือ นายอธิศพัฒน์ วรรณสุทธิ์ อายุ 56 ปี จากจังหวัดเลย ปราชญ์ชาวบ้าน และอาสาสมัครของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งประสบปัญหาจากการไม่มีน้ำและไฟฟ้าใช้ จึงได้คิดค้นประยุกต์ใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วยผลิตก๊าซชีวภาพ แล้วต่อยอดมาเป็น NGVนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในการปั่นไฟฟ้าแล้วสูบน้ำขึ้นไปไว้ใช้ เกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้ มีความมั่นคงทางด้านพลังงาน ไม่ต้องนำปัจจัยภายนอกเข้ามา และสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ตามทฤษฎีการพึ่งพาตัวเอง นอกจากนี้ จุลินทรีย์ยังช่วยทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยพัฒนาป่าเสื่อมโทรมให้สามารถปลูกพืชผสมผสานและมีรายได้ตลอดทั้งปี
รองชนะเลิศอันดับที่ 1 คือนายปฏิวัติ อินทร์แปลง จากจังหวัดชุมพร ชาวเกษตรกรนวัตกรรมเทคโนโลยี Cloud computing กับฟาร์มโคนม ที่มีบทบาทในการจัดเก็บข้อมูล ประมวลผล วางแผน จัดตาราง เตือนความจำ และอื่นๆ สามารถตรวจสอบย้อนกลับวิธีการเลี้ยงวัว และรางวัล
รองชนะเลิศอันดับที่ 2 คือ นายสุวิชัย วงค์ษา จังหวัดศรีสะเกษ กับนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ด Super TEC ที่สามารถผลิตก้อนเชื้อเห็ดได้เพิ่มขึ้นด้วยแรงงานที่น้อยลง ตลอดจนสามารถผลิตดอกเห็ดได้เพียงพอกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ผลิตได้ 900 ก้อนเชื้อใน 1 ชั่วโมง รายเดียวประเทศ
บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า “มูลนิธิฯ และดีแทค ร่วมจัดการประกวดต่อเนื่องทุกปี และปีนี้เป็นปีที่ 7 ใช้แนวคิดหลัก คือการสรรหาเกษตรกรต้นแบบ (Smart Farmer) ที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำเกษตรกรยุคใหม่”
นอกจากมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตร เพื่อให้เกิดประโยชน์ หรือผลเชิงบวกแก่การทำเกษตรกรรม เกษตรกรต้นแบบจะต้องสามารถวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้ครบทุกมิติ ซึ่งจะสร้างคุณประโยชน์ต่อการพัฒนางานด้านการเกษตรของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดออนไลน์หรือตลาดเกษตรระดับโลกได้ โดยเริ่มต้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิต ลดต้นทุน ลดเวลา ลดการสูญเสียทรัพยากร ทั้งหมดจะช่วยเพิ่มรายได้ เพิ่มความสุข ซึ่งเป็นวิถีเกษตรแบบพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป
รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด โดยมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ดำเนินโครงการประกวดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ด้วยตระหนักและให้ความสำคัญยิ่งต่อระบวนการส่งเสริม สนับสนุน ยกย่องเกษตร ที่มีความคิดสร้างสรรค์มีประสบการณ์ มาเป็นต้นแบบต่อสาธารณชน
แนวคิดสำคัญในการคัดสรร คือการเฟ้นหาและสนับสนุนเกษตรกรที่มีศักยภาพในการมาเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีที่อยู่ให้เกิดประโยชน์หรือผลเชิงบวกทางการทำเกษตรกรรม ทั้งกระบวนการผลิต การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง การจำหน่าย และการเก็บถนอมพืชผลการเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ ในมิติของการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ เกษตรกรต่อยอดการประดิษฐ์ และประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ และเกษตรกรใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์แก่การทำเกษตรกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น