xs
xsm
sm
md
lg

5 วิธีปฏิบัติชะลอไตเสื่อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพคลินิกชะลอไตเสื่อม
สธ. เปิดคลินิกชะลอไตเสื่อมทุกพื้นที่ เขตสุขภาพที่ 2 ตั้งเป้าคัดกรองกลุ่มเสี่ยงกว่า 1 ล้านคน ใน พ.ค. นี้ แนะ 5 ข้อปฏิบัติช่วยชะลอไตเสื่อม พร้อมมอบอุปกรณ์แขนขาเทียมช่วยผู้พิการในเขตสุขภาพที่ 2

วันนี้ (11 ก.พ.) ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จ.พิษณุโลก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการรณรงค์คัดกรองโรคไตในเขตสุขภาพที่ 2 ว่า คนไทยเกิดภาวะแทรกซ้อนไตเรื้อรังประมาณ 7.6 ล้านคน สาเหตุมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง จำนวนนี้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายกว่า 70,000 คน ต้องฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง รัฐบาลรับผิดชอบค่ารักษาปีละกว่า 10,000 ล้านบาท สธ. จึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดตั้งคลินิกชะลอไตเสื่อม (CKD Clinic) ดูแลผู้ป่วยโรคไตแบบครบวงจรจากทีมสหวิชาชีพ ช่วยยืดเวลาการเสื่อมของไต ด้วยการคัดกรองประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อค้นหาผู้ป่วย หรือผู้มีความเสี่ยงของโรคไต พบเร็ว รักษาเร็ว จะลดการป่วยและเสียชีวิต ซึ่งข้อปฏิบัติชะลอไตเสื่อม มี 5 ข้อ คือ 1. ดื่มน้ำมาก ๆ 2. หลีกเลี่ยงกินยาแก้ปวดเป็นเวลานาน 3. งดเหล้า บุหรี่ 4. หลีกเลี่ยงรสเค็ม และ 5. หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่มีทะเบียน

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับเขตสุขภาพที่ 2 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และ อุตรดิตถ์ มีกลุ่มเป้าหมายอายุ 40 ปีขึ้นไปกว่า 1 ล้านคน คาดว่า จะตรวจคัดกรองครบ 100% ใน พ.ค. นี้ หากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจะตรวจเลือดและโปรตีนในปัสสาวะเพื่อให้ทราบระยะของการป่วย และเตรียมบุคลากรในการดูแลรักษาทันที โดยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในระยะที่ 1 - 2 จะเน้นดูแลใกล้บ้าน ด้วยทีมหมอครอบครัวจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากเป็นระยะที่ 3 ขึ้นไป จะเข้ารับการรักษาโดยคลินิกชะลอไตเสื่อมที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเขตสุขภาพที่ 2 มีคลินิกชะลอไตเสื่อมครอบคลุมเต็มพื้นที่แล้ว ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ ไม่ต้องเดินทางไปรักษาโรงพยาบาลในเมือง

ทั้งนี้ นพ.ปิยะสกล ยังได้มอบรถสำหรับทำแขน - ขาเทียม และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแก่คนพิการ มูลค่า 12.5 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เพื่อให้บริการผู้พิการ 5 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 2 ด้วย โดยกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการได้รับการขึ้นทะเบียน 1.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 46,000 ราย เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว หรือทางร่างกาย (ขาขาด) สธ. มีนโยบายให้คนพิการทางการเคลื่อนไหวได้รับบริการครบถ้วน ตั้งแต่ปี 2557 - 2559 โดยออกหน่วยเคลื่อนที่ช่วยให้ผู้พิการได้รับบริการครอบคลุม มีกายอุปกรณ์เสริมและเทียม ผลการการดำเนินงาน 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ได้รับบริการร้อยละ 88.94 ในปี 2557 และร้อยละ 95.77 ในปี 2558 สำหรับปี 2559 ได้มอบให้กรมการแพทย์ จัดทำโครงการมอบแขนขาเทียมให้ผู้พิการทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้พิการแขนขาขาดทั้งรายเก่าและรายใหม่ เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการจัดหาและซ่อมอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการฟรี 1,500 ราย พร้อมพัฒนาทักษะบุคลากรในการจดทะเบียนและดูแลคนพิการ 1,000 คน ซึ่งนำร่องดำเนินการให้ครบถ้วนทุกจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 2

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น