xs
xsm
sm
md
lg

เร่งวิจัย “ผักปลัง” เพิ่มน้ำอสุจิ-ขับถ่ายดี “หญ้าผมยุ่ง” ช่วยกระชับมดลูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผักกระชับ
อภัยภูเบศรเผย “ผักปลัง” ช่วยขับถ่ายดี ปกป้องกระเพาะ เพิ่มปริมาณน้ำอสุจิ เตรียมวิจัยต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ด้านกรมแพทย์แผนไทยฯ เล็งวิจัย “หญ้าผมยุ่ง” ช่วยกระชับมดลูก แก้ปวดประจำเดือน รักษามะเร็ง

บรรยากาศงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ส.ค. - 4 ก.ย. 2559 วันนี้ (1 ก.ย.) เป็นวันที่ 2 ของการจัดงานยังคงมีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมากในการมาเลือกชมและซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ กันอย่างคึกคัก ทั้งเครื่องสำอาง ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีสมุนไพรเป็นจำนวนมาก และหลายชนิดยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยในปี 2559 มีสมุนไพรหลายชนิดที่ถูกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอนาคตสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้ หนึ่งในนั้นคือ “ผักปลัง” ที่เป็นผักพื้นบ้านพบได้ในทุกภาคของประเทศ มีสรรพคุณช่วยเพิ่มพรีไบโอติกส์ ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น กำจัดสารพิษ เหมาะกับการทำดีท็อกซ์แบบธรรมชาติ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ปรับปฏิกิริยาภูมิแพ้ ลดคอเลสเตอรอล ช่วยบำรุงร่างกาย ลดความดันโลหิตสูง ทำให้เจริญอาหาร ช่วยรักษามะเร็งลำไส้ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และทารกที่มักพบปัญหาท้องผูก สามารถนำมารับประทานเป็นกับข้าวช่วยแก้ปัญหาท้องผูกได้เลย

“นอกจากนี้ยังมีเมือกลื่นช่วยระบาย เชื่อว่าช่วยเคลือบกระเพาะจึงนำมาใช้รักษาโรคกระเพาะ โดยสมัยก่อนมีการนำเมือกของผักปลังไปใช้ทาบริเวณช่องคลอดให้ผู้หญิงก่อนคลอดลูกทำให้สามารถคลอดลูกได้ง่ายขึ้นด้วย รวมถึงพบว่ามีฤทธิ์ต้านการเป็นพิษต่อไตที่เกิดจากยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ และยาเจนตาไมซิน ช่วยยับยั้งการเกิดนิ่วจากการตกตะกอนของแคลเซียมออกซาเลต” ภญ.สุภาภรณ์กล่าว และว่าขณะนี้ประเทศแคเมอรูนมีการศึกษาในหนูทดลอง และนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเสริมกำลังวังชาทำให้นักกีฬาออกกำลังกายได้นานขึ้น ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชายและช่วยเพิ่มปริมาณน้ำอสุจิในเพศชาย ทั้งนี้ ประเทศไทยก็ต้องศึกษาสารที่อยู่ในผักปลังเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หลายๆ ชนิด หลักๆ จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาท้องผูก ในหญิงตั้งครรภ์และเด็ก ส่วนอันตรายจากผักปลังยังไม่พบ เนื่องจากปกติก็รับประทานเป็นกับข้าวอยู่แล้ว

นางจิรัชยา ประมวล เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) แกลง จ.ระยอง กล่าวว่า สสอ.แกลง ได้เลือกเอา “ผักกระชับ” มาเป็นตัวชูโรงภายในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 13 เนื่องจากผักกระชับ หรือ “หญ้าผมยุ่ง” เป็นพืชพื้นบ้านที่เกิดขึ้นตามท้องนา แต่ชาวบ้านชุมชนบ้านทะเลน้อย อ.แกลง สามารถนำมาเพาะจนกลายเป็นผักเศรษฐกิจได้เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งตัวผักกระชับหรือหญ้าผมยุ่งนั้นมีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย เช่น ช่วยกระชับมดลูก แก้ปวดประจำเดือน ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ระงับประสาท แก้โรคมาลาเรีย ไขข้ออักเสบ กระเพาะอักเสบ แก้ปวดกล้ามเนื้อ ทั้งกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อลาย

“เมื่อนำใบและลำต้นมาตำให้ละเอียด สามารถใช้พอกแผลปวดบวม แมลงกัดต่อย รักษาโรคหิด หรือนำมาต้มเอาน้ำมาล้างแผลแก้ปวดศีรษะ ปวดหู แก้หวัดได้ด้วย สำหรับเมล็ดแก่ของผักกระชับพบว่า มีงานวิจัยของต่างประเทศว่าอาจช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่าหมอโบราณใช้เมล็ดแก่ผักกระชับเข้าไปอยู่ในยาตำรับรักษามะเร็ง แต่เรื่องนี้ยังไม่มีข้อมูลการวิจัยที่ชัดเจน” นางจิรัชยากล่าว และว่า ผักกระชับ หรือหญ้าผมยุ่ง ถือเป็นสินค้าโอทอปของ อ.แกลง จะเน้นให้รับประทานเป็นอาหารเป็นหลัก ซึ่งการรับประทานเป็นประจำก็จะช่วยให้ได้สรรพคุณทางยาดังกล่าวด้วย โดยเมื่อนำมาทำเป็นอาหารจะมีลักษณะคล้ายกับต้นอ่อนทานตะวัน เมนูที่แนะนำคือ กินเป็นผักสดกับน้ำพริก เพราะเป็นผักที่มีกลิ่นหอม หรือที่ชาวบ้านนิยมนำมาทำเป็นอาหาร คือ แกงส้มผักกระชับ ยำผักกระชับ รวมไปถึงผัดไท และผัดน้ำมันหอย

นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สรรพคุณของผักกระชับหรือหญ้าผมยุ่งนั้นที่ช่วยกระชับมดลูก แก้ปวดประจำเดือน หรือที่ระบุว่าเมล็ดสามารถใช้เป็นยารักษามะเร็งได้นั้น ยังเป็นเพียงภูมิปัญญาโบราณที่สืบทอดกันมา ซึ่งกรมฯ จะนำผักกระชับมาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อว่ามีสารสำคัญใดบ้างและมีสรรพคุณดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่ที่แนะนำคือให้รับประทานเป็นอาหาร เพราะถือเป็นผักพื้นบ้านที่ช่วยดูแลสุขภาพ มีกาเพาะปลูกแบบปลอดสารพิษ ไม่มีอันตราย โดยทุกส่วนของผักกระชับสามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะต้นอ่อนที่ใช้เวลาเพาะประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็สามารถนำมากินสดๆ เป็นสลัดได้ หรือนำมาทำเป็นแกงส้ม ยำก็ได้ นอกจากนี้ยังจะศึกษาต่อมน้ำมันที่อยู่ใต้ใบด้วยในการนำมาใช้ทำน้ำมันหอมระเหย





ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น