กรมแพทย์แผนไทยฯ ชี้ทำ “ดีท็อกซ์ล้างสารพิษ” มากไปร่างกายสูญเสียน้ำ-เกลือแร่มาก พ่วงอดอาหาร ทำหัวใจเต้นผิดปกติช็อกตายได้ เผยไม่ใช่การบำบัดรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพ คนทั่วไปทำได้ เตือนมีดุลพินิจก่อนทำ สบส.ส่งทีมลุยตรวจสถานปฏิบัติธรรม หลังโซเชียลฯ แชร์ทำดีท็อกซ์จนตาย ระบุร่าง กม.คุมสปา กิจการเพื่อสุขภาพเสร็จแล้ว รอประกาศลงราชกิจจาฯ
วันนี้ (23 มี.ค.) นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวเตือนการดีท็อกซ์ล้างพิษ หลังมีการโพสต์กรณีผู้เสียชีวิตจากการล้างพิษในสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในเฟซบุ๊ก ว่า การเสียชีวิตดังกล่าวคาดว่าอาจจะมาจากการทำดีท็อกซ์ปริมาณมากเกินไป โดยปกติแล้วการดีท็อกซ์ล้างสารพิษซึ่งเป็นการสวนล้างลำไส้นั้น จะทำให้ร่างกายเกิดการขับถ่ายเป็นจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าเป็นการล้างสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย จึงทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ นอกจากนี้ หลายคนยังมีการอดอาหาร หรือควบคุมอาหาร บ้างดื่มเฉพาะน้ำสมุนไพรเพียงอย่างเดียว สารอาหารที่ได้รับก็น้อยลง เมื่อทำมากเกินไปทำให้ร่างกายเสียสมดุล ขาดน้ำ และเกลือแร่อย่างหนัก โดยเฉพาะโพแทสเซียมอย่างรุนแรง จนมีผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ ช็อก และเสียชีวิตได้
“ปกติแล้วร่างกายมนุษย์มีกลไกขับของเสีย หรือสารพิษตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น ตับ ที่ดูดซับสารพิษต่างๆ แล้วขับออกมาทางน้ำดี ผ่านลำไส้ใหญ่ การขับออกทางเหงื่อ การขับออกทางปัสสาวะโดยไต แต่หลายรายเชื่อว่าการดีท็อกซ์จะเป็นการช่วยขับสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย ซึ่งการทำดีท็อกซ์นี้ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดว่าเป็นการกระทำเพื่อการบำบัดรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพ ดังนั้น บุคคลทั่วไปจึงสามารถทำได้ เช่นเดียวกับการทายาที่แผลที่คนทั่วไปสามารถทำได้ ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพ คนทั่วไปจึงสามารถทำที่บ้าน ที่วัด หรือสถานที่ต่างๆ ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จึงถือเป็นเรื่องของดุลพินิจของผู้ที่จะทำดีท็อกซ์เองว่าคนที่ทำให้นั้นเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญหรือไม่ แต่หากทำดีท็อกซ์ในสถานพยาบาล และทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพก็จะยิ่งมีความปลอดภัยสูงกว่า” อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าว
นพ.สุริยะ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ในการพิจาณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะดูแลธุรกิจสปา การนวด รวมไปถึงศูนย์บำบัดและการล้างพิษต่างๆ ด้วย ซึ่งจะกำหนดให้ต้องมีผู้ขออนุญาตสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ผู้ดำเนินการ และผู้ให้บริการเพื่อสุขภาพ ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนต่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการควบคุมดูแลมาตรฐาน โดยกรมฯ จะเข้าไปสนับสนุนในเรื่องของวิชาการ และองค์ความรู้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ยังไม่มีการวิจัยใดๆ ที่รองรับว่า การใช้สมุนไพรสวนล้างลำไส้สามารถช่วยขับสารพิษได้ มีแต่งานวิจัยว่าการรับประทานสมุนไพรบางชนิด มีสรรพคุณในการขับสารพิษ เช่น ใบย่านาง ใบรางจืด ผักชี มะขามป้อม เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้รับประทานเพื่อขับสารพิษโดยเฉพาะ เพราะการแพทย์แผนไทยนั้นยึดหลักทางสายกลางคือ ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป การรับประทานสมุนไพรเหล่านี้จึงควรกินตามฤดูกาลอย่างพอเหมาะ ไม่มากไปน้อยไป สำหรับอนาคตอาจมีการศึกษาโดยเฉพาะว่าสมุนไพรเมื่อนำมาสวนล้างนั้นสามารถล้างพิษได้จริงหรือไม่
นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การดีท็อซ์ล้างสารพิษถือเป็นสาขาหนึ่งของการแพทย์ทางเลือก เรียกว่า ธรรมชาติบำบัด (Naturopathy) ซึ่งผู้ที่จะทำได้นั้นจะต้องผ่านการอบรม หรือจบปริญญาตรีโดยเฉพาะเป็นนักธรรมชาติบำบัด ซึ่งในประเทศไทยมีไม่ถึง 20 คน อย่างไรก็ตาม นักธรรมชาติบำบัดยังไม่ถูกกำหนดให้เป็นสาขาหนึ่งของการประกอบโรคศิลปะ ที่จะมีสมาคมวิชาชีพในการควบคุมดูแล สำหรับการดีท็อกซ์นั้นตามกระบวนการจะมีอยู่ 6 ขั้นตอน คือ 1.การอดอาหาร 2.การควบคุมอาหาร 3.การดื่มเฉพาะน้ำผลไม้ หรือของเหลว 4.การรับประทานอาหารเสริมจากสมุนไพร 5.การสวนล้างลำไส้ และ 6.ทุกวิธีผสมผสานกัน ซึ่งนักธรรมชาติบำบัดจะประเมินว่า แต่ละคนนั้นเหมาะสมต่อกระบวนการใด ซึ่งร่างกายของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนทำเพียงนิดเดียวแต่อาจมีอาการแทรกซ้อนมาก โดยการทำดีท็อกซ์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นการแนะนำให้ไปทำเอง อาจมีเพียงการสวนล้างที่อาจทำให้ในการทำครั้งแรก
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดี สบส. กล่าวว่า กรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย และเจ้าหน้าที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เข้าตรวจสอบสถานปฏิบัติธรรมแล้วเป็นการด่วน ซึ่งการดีท็อกซ์ถือว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก จัดอยู่ในประเภทกิจการสปาเพื่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการกำหนดสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย มาตรฐานของสถานที่การบริการ ผู้ให้บริการ หลักเกณฑ์ และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐาน สำหรับสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ประกอบด้วย การนวดเพื่อสุขภาพและการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ โดยอาจมีบริการอื่นเสริมด้วย เช่น การอบไอน้ำเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โภชนบำบัดและการควบคุมอาหาร โยคะและการทำสมาธิ การใช้สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ตลอดจนการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ สถานที่ให้บริการต้องขึ้นทะเบียนต่อ สบส. หากตรวจสอบพบว่า ไม่มีการขึ้นทะเบียน แสดงว่าเป็นสถานประกอบการเถื่อน
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ขณะนี้สำเร็จแล้ว อยู่ระหว่างลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังใช้ประมาณ ต.ค.2559 เพื่อควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั้ง 3 ประเภท ซึ่งไม่ได้เป็นการรักษาโรค ได้แก่ 1.กิจการสปา 2.กิจการนวดเพื่อสุขภาพ 3.กิจการนวดเพื่อเสริมความงาม รวมถึงกิจการอื่นๆ เพื่อสุขภาพ กิจการทั้งหมดนี้จะต้องขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งผู้รับอนุญาต ผู้ดำเนินการ และผู้ให้บริการ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานมีวุฒิบัตร หรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพที่ได้รับการรับรองจาก สบส. และห้ามมิให้มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณของบริการเพื่อสุขภาพว่าสามารถบำบัด รักษา หรือป้องกันโรคได้ทุกชนิด
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผอ.สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ในปี 2558 ประเทศไทยมีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ได้รับรองมาตรฐานแล้วรวมทั้งหมด 1,609 แห่ง ประกอบด้วย สปา 509 แห่ง นวดเพื่อสุขภาพ 1,070 แห่ง นวดเพื่อเสริมสวย 30 แห่ง โดยอยู่ในส่วนภูมิภาค 1,265 แห่ง ที่เหลืออีก 344 แห่งอยู่ใน กทม. ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่รอกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ สำนักสถานพยาบาลฯ จะดำเนินการจัดเตรียมตั้งคณะกรรมการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งใน และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริการเพื่อสุขภาพ รวมทั้งสิ้น 13 คน โดยมี ปลัด สธ.เป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมพัฒนาสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ รวมทั้งหลักเกณฑ์การรับรองคุณวุฒิผู้ดำเนินการและผู้ให้บริการ นอกจากนี้ จะจัดอบรมชี้แจงผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายได้ทันทีเมื่อมีผลบังคับใช้
ชมคลิป
คลิปวิดีโอจาก ธีรเสฏฐ์ ธนปัญญาทิพย์
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่