ยกร่าง พ.ร.บ. อาหารใหม่ หลังใช้มานานกว่า 30 ปี ปรับมาตรฐานผลิตอาหารตามระดับความเสี่ยง ให้อำนาจ อย. เก็บคืนอาหารไม่ปลอดภัย โฆษณาอาหารไม่ต้องขออนุญาต เว้นกล่าวอ้างทางสุขภาพ ตั้งด่านอาหารหลังมีแต่ด่านยา ชี้โทษหนักขึ้น
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีการบังคับใช้มานานกว่า 30 ปี จึงได้มีการยกร่าง พ.ร.บ. อาหารขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมเก่า ซึ่งเนื้อหาสาระ 60 - 70% คล้ายกับกฎหมายฉบับเดิม แต่มีส่วนที่เพิ่มเติมเพื่อเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้นที่สำคัญ ได้แก่ 1. กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมอาหารในโรงงานผลิตอาหาร ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับระบบประกันคุณภาพอาหาร 2. ผู้ผลิตอาหารต้องมีระบบคุณภาพ จากเดิมที่ต้องมีมาตรฐาน GMP แบบใหม่จะจัดระดับตามความเสี่ยง หากเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงมาก เช่น อาหารทารก หรืออาหารทางการแพทย์ จะต้องมีการขออนุญาตในการผลิต แต่หากเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างอาหารของฝากตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น กล้วยฉาบ อาจจะดำเนินการเพียงการจดแจ้งการผลิตเท่านั้น เป็นไปตามหลักสากล
นพ.บุญชัย กล่าวว่า 3. มีด่านอาหารตามจุดผ่านแดนต่าง ๆ ที่สำคัญจากเดิมที่มีเพียงด่านยา จะเน้นตรวจสอบอาหารนำเข้า จะทำให้การตรวจสอบอาหารต้องเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงตรวจสอบอาหารส่งออกของไทยที่ถูกตีกลับว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร 4. ให้อำนาจ อย. ในการสั่งให้ผู้ประกอบการเก็บคืนอาหารที่ไม่ปลอดภัย หากมั่นใจว่าเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยจริง โดยไม่ต้องรอผลการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ และ 5. การโฆษณาอาหาร เดิมกำหนดให้ก่อนการโฆษณาเกี่ยวกับสรรพคุณ หรือคุณประโยชน์ต้องขออนุญาตจาก อย. แต่ร่างฉบับใหม่สามารถโฆษณาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต หากคุณประโยชน์นั้นมีข้อมูลทางวิชาการยืนยันชัดเจนแล้ว เช่น วิตามินซี หรือ แคลเซียม มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร เป็นต้น เว้นแต่เป็นการกล่าวอ้างทางสุขภาพจะต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา นอกจากนี้ ในส่วนของโทษผู้ที่ฝ่าฝืนมีการปรับเพิ่มมากขึ้น จากเดิมปรับราว 5,000 บาท เพิ่มเป็นหลักแสนบาท
“เมื่อปี 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ. นี้แล้ว แต่ให้นำกลับมาหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับอาหารบางชนิดที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรด้วย จึงยังมีส่วนที่คาบเกี่ยวกัน แต่แท้จริงในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จัดเป็นกฎหมายเกี่ยวกับอาหารของประเทศ ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่จากกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่อาหารอยู่แล้ว จะมีบทบาทในการตรวจสอบอาหารตามที่รับผิดชอบ เป็นการบูรณาการกฎหมายที่ใช้ทุกกระทรวง คาดว่าจะมีการนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อีกครั้งในเร็ว ๆ นี้” เลขาธิการ อย. กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่