xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.ใหม่ ปลดล็อกใช้ “สารต้องห้าม” ผลิตเครื่องสำอางส่งออก อายุใบจดแจ้งได้แค่ 3 ปี คุมโฆษณา รีวิว โปรโมตห้ามเกินจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข
ร่าง พ.ร.บ. เครื่องสำอางฉบับใหม่ผ่าน สนช. รอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ชี้ ปลดล็อกใช้สารต้องห้ามผลิตเครื่องสำอางเพื่อส่งออกได้ กำหนดอายุใบจดแจ้ง 3 ปี พร้อมคุมโฆษณา งานรีวิว โปรโมต ย้ำเกินจริงเอาผิดทั้งยวง คุ้มครองผู้บริโภคสั่งเรียกเก็บสินค้าหากพบไม่ปลอดภัย ฝ่าฝืนคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

วันนี้ (19 ส.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. ... ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวผ่านความเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว รอเพียงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนมีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนสาเหตุที่มีการยกร่างใหม่ เนื่องจากไทยลงนามความร่วมมือข้อตกลงที่จะปรับกฎระเบียบเกี่ยวกับเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งการยกร่าง พ.ร.บ. เครื่องสำอางฉบับใหม่นั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล รวมถึงมีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจาก พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 มีบังคับใช้มานานแล้ว โดยบทบัญญัติบางเรื่องไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากสถิติของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มเครื่องสำอาง ระบุว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตเครื่องสำอาง และส่งออกเป็นอันดับ 1 ของประเทศอาเซียน โดยมีมูลค่าการส่งออกมากถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี และมีมูลค่าการผลิตเพื่อขายในประเทศ มากกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งร่าง พ.ร.บ. เครื่องสำอางฉบับใหม่จะเน้นมาตรการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ โดยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการสามารถผลิตเครื่องสำอางตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้าได้ แต่ต้องไม่มีการนำมาขายในประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายบังคับให้การผลิตเครื่องสำอางห้ามใช้สารตามที่สหภาพยุโรปกำหนด แต่ประเทศคู่ค้าบางแห่งอนุญาต เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น จึงไม่สามารถผลิตเพื่อส่งออกได้ จึงเป็นการปลดล็อกในเรื่องนี้

นพ.บุญชัย กล่าวว่า ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องสำอาง มีมาตรการเรียกเก็บคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยจากท้องตลาด ซึ่งหากฝ่าฝืน ผู้ผลิตจะมีโทศจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ส่วนผู้ขายมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีด่านตรวจสอบเครื่องสำอางนำเข้า มีการกำหนดอายุใบรับจดแจ้งไว้ 3 ปี และยังให้อำนาจในการเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางได้ ในกรณีที่เป็นเครื่องสำอางที่มีการผลิต หรือนำเข้าเครื่องสำอางไม่ตรงตามที่จดแจ้ง หรือเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ หรือกรณีที่ผู้จดแจ้งได้เปลี่ยน หรือเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของเครื่องสำอางนั้นไปเป็นวัตถุอื่น เช่น ยา อาหาร หรือ เครื่องมือแพทย์ ขณะที่โทษจะแรงขึ้นกว่าเดิม และยังได้นำมาตรการกำกับดูแลการโฆษณาเครื่องสำอางมาบัญญัติไว้ จากเดิมที่ต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งจะทำให้ อย. สามารถทำงานได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มสิทธิของผู้ประกอบการในการอุทธรณ์คำสั่งต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานของภาครัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และลดการใช้อำนาจโดยมิชอบ

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการอย. กล่าวว่า การดูแลโฆษณาของ อย. นั้น จะมอบอำนาจให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการประสาน กสทช. เขต ในการขอให้ผู้ประกอบการบันทึกเทปรายการที่ออกอากาศมาพิจารณาว่าเข้าข่ายหรือไม่ หากเข้าข่าย ในส่วนกลางก็จะส่งให้ อย. พิจารณาถ้อยความว่าโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ส่วนภูมิภาคจะส่งให้ สสจ. พิจารณา ทั้งนี้ หากมีการใช้ข้อความเกินจริงจะมีความผิดทั้งผู้นำเสนอที่เป็นพิธีกรรายการ หรือดารานักแสดงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สำหรับข้อความที่ใช้ในการพิจารณาจะมีการออกประกาศ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 41(7) ซึ่งแบ่งข้อความเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ข้อความเกี่ยวกับการรักษาและบำบัดโรค 2. เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำหน้าที่ของอวัยวะร่างกาย เช่น เปลี่ยนสีผิว และทาแล้วลดความอ้วน และ 3. การบรรยายสรรพคุณ เช่น กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต หรือใช้แล้วผิวเปล่งปลั่ง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น