xs
xsm
sm
md
lg

จี้สภาเภสัชฯ ท้วง อย.เพิกถอนประกาศสั่งจด “ชื่อ - สกุล” คนซื้อยาน้ำแก้ไอ - หวัดเด็ก ชี้ละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน ยื่นสภาเภสัชกรรมออกหน้าท้วง อย. เพิกถอนประกาศจดชื่อ - นามสกุล คนซื้อ “กลุ่มยาน้ำแก้ไอ - แก้หวัดเด็ก” เพื่อทำบัญชี ชี้ละเมิดสิทธิ พบประชาชนไม่เข้าใจ ถูกโยงเรื่องการเมือง หวั่นติด Blacklist กระทุ้ง อย. บังคับใช้ กม. เดิมที่มี แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่คุมยาพื้นฐานทั้งหมด

วันนี้ (17 ส.ค.) กลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน นำโดย ภก.สงัด อินทร์นิพัฒน์ เลขาธิการกลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน เดินทางมายื่นหนังสือต่อสภาเภสัชกรรม เพื่อขอให้เป็นตัวแทนในการเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เพิกถอน ประกาศ อย. เรื่อง รายการยาอันตรายที่ต้องทำบัญชีขายยา (ข.ย.11) อาทิ เดกซ์โตรเมเธอร์แฟน (Dextromethophan) และ กลุ่มยาแอนติฮีสตามีน (Antihistamine) ที่เป็นยาพื้นฐานและทั่วโลกแนะนำให้ใช้เป็นตัวแรกในการรักษาอาการไอ อาการแพ้ และลดน้ำมูกในโรคหวัดและโรคอื่น ๆ ซึ่งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตขายยาและขายส่งยา ต้องจัดทำบัญชีการขายยา โดยต้องระบุชื่อยา หมายเลขการผลิต จำนวนที่ขาย และชื่อ - นามสกุลผู้ซื้อ ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปที่มารับบริการในร้านขายยา

ภก.สงัด กล่าวว่า ทางกลุ่มได้รวบรวมรายชื่อเภสัชกรที่ไม่เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าวกว่า 100 รายชื่อ ให้แก่สภาเภสัชกรรม ให้เป็นตัวแทนวิชาชีพในการคัดค้านประกาศดังกล่าว ซึ่งจากนี้สภาคงต้องเปิดประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนสาเหตุที่คัดค้าน เพราะมองว่าประกาศดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และไม่ใช่แนวทางในการแก้ปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิด ซึ่งจริง ๆ แล้วมีวิธีอื่นที่สามารถทำได้ เช่น เพิ่มมาตรการจับกุม การขยายผลการจับกุมสู่แหล่งผลิต หรือเร่งรัดการตรวจสอบร้านยาที่ไม่มีเภสัชกรปฏิบัติงานจริง ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหา รวมถึงการณรงค์เรื่องการใช้ยาและการป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืนและไม่กระทบสิทธิของประชาชนในวงกว้าง โดยกลุ่มฯ มีความเห็นว่า หาก อย.จะออกมาตรการใด ๆ ที่จะทำให้เกิดการดูแลการใช้ยาเป็นไปในทางที่ถูกต้อง และปกป้องผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางกลุ่มเภสัชกรก็ยินดีปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่ขอให้มีระบบการตรวจสอบอย่างครบถ้วนทุก ๆ ด้าน

ภญ.เนตรนภา เลิศมาลัยมาลย์ ตัวแทนกลุ่มเภสัชกรเพื่อมวลชน กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวที่ต้องมีการขอชื่อผู้ที่มาซื้อยาทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ซึ่งขณะนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่แล้ว เช่น ประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องขอชื่อ โดยมีการโยงไปเป็นปัญหาทางด้านการเมือง บางครอบครัวมีลูกหลายคน จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มดังกล่าว ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นยาสำหรับเด็ก ทำให้การมาซื้อยาคราวละหลายขวด เมื่อต้องรายงานซึ่งต้องระบุเป็นปริมาณ คือ ซีซี จึงดูว่ามีการใช้เป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนมีความกังวลว่าจะถูกขึ้นบัญชีดำว่าใช้ยาไม่เหมาะสม เป็นต้น นอกจากนี้ การทำบัญชีดังกล่าวไม่ตอบโจทย์การควบคุมป้องกันการใช้ยาในทางที่ผิดด้วย เพราะการจะจับผู้กระทำผิดไม่สามารถดูได้จากรายงาน และรายงานเป็นเพียงการป้องกันตัวของร้านขายยาเท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภค

มาตรการดังกล่าวส่งผลต่อการเข้าถึงของประชาชน นอกจากนี้ หากเภสัชกรไม่อยากทำรายงาน ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำรายงานเฉลี่ยวันละเกือบ 2 ชั่วโมง ก็สามารถเลี่ยงไปขายยากลุ่มอื่นที่มีฤทธิ์ใกล้เคียงและมีราคาแพงขึ้นได้ หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะส่งผลต่อประชาชนเอง การควบคุมการใช้ยาผิดประเภทจึงไม่ควรเข้มงวดกับยาพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ใช้ แต่ควรแก้ที่ต้นเหตุ คือ กระท่อม ซึ่งภาครัฐทราบดีอยู่แล้วว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยง มีการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อเป็นส่วนผสมของยาเสพติด การควบคุมคนส่วนมากจึงถือว่าไม่ถูกต้อง” ภญ.เนตรนภา กล่าว

ภก.อภิชาติ พิชญ์เสถียร ตัวแทนกลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน กล่าวว่า มาตรการนี้เป็นการหว่านแหมากเกินไป แทนที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่กลับเลือกใช้วิธีที่กระทบต่อสิทธิของประชาชนทุกคน ทั้งนี้ มองว่ากฎหมายที่ อย.มีอยู่ หากบังคับใช้อย่างจริงจังก็สามารถควบคุมป้องกันได้ เช่น การควบคุมการขายด้วยการจัดประเภทยา การควบคุมให้มีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน เป็นต้น ไม่ใช่ควบคุมที่การซื้อยาพื้นฐานของประชาชน ทั้งนี้ ยากลุ่มที่ผู้เสพมักใช้เป็นส่วนผสมนั้น มีอยู่เพียงไม่กี่ตัวและไม่ค่อยได้ขายในร้านขายยา ซึ่ง อย. ทราบดี แต่ อย. กลับเลือกใช้วิธีควบคุมกลุ่มยาทั้งหมด ที่ประชาชนทั่วไปใช้ ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น