xs
xsm
sm
md
lg

ทางการแซมเบีย ยัน ไม่ถอนชื่อ “ทนายแม้ว” โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ออกจาก “บัญชีดำห้ามเข้าประเทศ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม
เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - กระทรวงกิจการภายใน หรือ “กระทรวงมหาดไทย” ของประเทศแซมเบียยังคงยืนกรานไม่เพิกถอนชื่อของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม นักกฏหมายระหว่างประเทศชื่อดังชาวแคนาดา ออกจาก “บัญชีดำ” เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าประเทศ

รายงานข่าวล่าสุดจากกรุงลูซากา ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐแซมเบียระบุว่าเดวีส เอ็มวิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในหรือกระทรวงมหาดไทยของแซมเบีย ออกโรงยืนยันว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันของแซมเบียภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอ็ดการ์ ชากวา ลุงกูไม่มีแนวคิดที่จะถอดรายชื่อของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความระหว่างประเทศชื่อดัง แห่งสำนักงานกฏหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ พาร์ทเนอร์ส ออกจาก “บัญชีดำ” หรือ “รายชื่อบุคคลต้องห้ามเข้าประเทศ”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในของแซมเบียระบุว่า แม้การขึ้นบัญชีดำโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าแซมเบียนั้นจะเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังไม่มีแนวคิดที่จะทบทวนรายชื่อในแบล็คลิสต์ดังกล่าวแต่อย่างใด

“เราเชื่อมั่นในดุลยพินิจของบรรดาผู้มีอำนาจ ในรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ ว่าพวกเขาคงต้องมีเหตุผลที่สมควรและหนักแน่นเพียงพอแล้ว ในการที่จะใส่ชื่อของบุคคลใดบุคคลหนึ่งในแบล็คลิสต์ด้านความมั่นคง และรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังมองไม่เห็นถึงเหตุผลอันสมควร ที่เราจะต้องทบทวนรายชื่อเหล่านั้นใหม่อีกครั้ง” เดวีส เอ็มวิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในของแซมเบียกล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงลูซากาเมื่อวันอังคาร (4 ส.ค.)

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ปี ค.ศ. 2012 นายเคนเนดี ซาเกนี รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของแซมเบียในช่วงเวลานั้น ออกประกาศห้ามนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความชื่อดังซึ่งทำงานให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เดินทางเข้าประเทศ โดยระบุนักกฎหมายชาวแคนาดาผู้นี้เป็นบุคคลที่ไม่เป็นที่ต้อนรับของประชาชาวแซมเบีย และมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ

โดยท่าทีดังกล่าวของเจ้ากระทรวงมหาดไทยแซมเบียเวลานั้น มีขึ้นหลังจากที่ข้าหลวงใหญ่ของสหราชอาณาจักร มีคำสั่งอนุญาตให้อัมสเตอร์ดัมเดินทางเข้ามายังแซมเบีย อดีตอาณานิคมของเมืองผู้ดีได้เป็นกรณีพิเศษโดยใช้วีซ่า “นักท่องเที่ยว” เพื่อเปิดทางให้อัมสเตอร์ดัมสามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่อดีตประธานาธิบดี รูเปียห์ บันดา และบุตรชายคือ เฮนรี บันดา ที่ถูกทางการแซมเบียดำเนินคดีในหลายข้อหา รวมถึงข้อหาทุจริตโกงกิน ซึ่งอัมสเตอร์ดัมยืนยันมาโดยตลอดว่าข้อกล่าวหาที่สองพ่อลูกตระกูลบันดาได้รับนั้นมี “แรงจูงใจทางการเมือง” อยู่เบื้องหลัง

ซาเกนียืนยันในเวลานั้นว่า แม้ข้าหลวงใหญ่อังกฤษจะเห็นชอบให้มีการออกวีซ่านักท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษแก่นายอัมสเตอร์ดัม โดยให้เหตุผลว่าทนายความชื่อดังรายนี้ไม่เคยมีประวัติกระทำผิดกฎหมายของแซมเบียมาก่อน แต่รัฐบาลแซมเบียภายใต้การนำของประธานาธิบดีไมเคิล ชิลุฟยา ซาตาและพรรคแนวร่วมผู้รักชาติ (พีเอฟ) ไม่เห็นด้วยกับทางข้าหลวงใหญ่เมืองผู้ดี เนื่องจากได้พิจารณาแล้วเห็นว่าอัมสเตอร์ดัมไม่สมควรได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในประเทศ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมแทรกแซงกิจการภายในของแซมเบีย และการเข้าประเทศของนายอัมสเตอร์ดัมอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้

“โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ถือเป็นบุคคลที่สร้างผลกระทบต่อการเมืองภายในของเรา นักกฎหมายผู้นี้ไม่เป็นที่ต้อนรับ ชาวแซมเบียไม่ได้ต้องการให้เขาเดินทางเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นฐานะนักท่องเที่ยวหรือฐานะอื่นใด ดินแดนของเราไม่ได้ต้องการนักท่องเที่ยวประเภทนี้ นี่คือจุดยืนของเรา” เคนเนดี ซาเกนี รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของแซมเบียในช่วงเวลานั้น กล่าว

ที่ผ่านมาสื่อท้องถิ่นในแซมเบีย มักรายงานข่าวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม โดยระบุว่า นักกฎหมายซึ่งถือสัญชาติแคนาดา แต่ปักหลักทำงานอยู่ในอังกฤษรายนี้ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจากการรับว่าความ หรือเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้แก่บุคคลสำคัญหลายคน เช่น ดร.ฉี ซุน จวาน นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนชื่อดังของสิงคโปร์, เอลิฆิโอ เซเดนโญ นักโทษการเมืองจากเวเนซุเอลา รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่ถูกกองทัพโค่นอำนาจเมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2006 และถูกทางการไทยดำเนินคดีในหลายข้อหา รวมถึง การทุจริต

ทั้งนี้ แซมเบียเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา และเป็นบ้านของประชากรราว 12.9 ล้านคน โดยแซมเบียได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 24 ตุลาคม ปี 1964
เดวีส เอ็มวิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในหรือกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันของแซมเบีย

กำลังโหลดความคิดเห็น