โดย... ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล
หนึ่งในของว่างที่ผู้คนนิยมรับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่รักสุขภาพและนักกีฬา คือ อาหารในกลุ่มของถั่วเปลือกแข็ง หรือ นัท ที่เรารู้จักกันทั่วไป เช่น อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ วอลนัท บราซิลนัท ฮาเซลนัท พีแคน และ ถั่วลิสง และจากการศึกษาพบว่าผู้คนที่อายุยืนยาวที่อาศัยอยู่ในเมือง โลมา ลินดา แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากจะมีอายุยืนแล้วยังเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน น้อยกว่าคนทั่วไป 50 เปอร์เซ็นต์ พฤติกรรมอย่างหนึ่งของชาวเมืองนี้ คือ รับประทานถั่ววันละประมาณ 1 กำมือ ซึ่งตรงกับงานวิจัยและข้อมูลสนับสนุน ในปี 2003 องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration; FDA) แนะนำให้บริโภคถั่วเปลือกแข็ง 1.50 ออนซ์ (ประมาณ 42.50 กรัมต่อวัน) อาจจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ต่อมาในปี 2009 European Food Safety Authority ได้ให้คำกล่าวอ้างทางสุขภาพไว้ว่า การกินถั่วเปลือกแข็ง 30 กรัมต่อวัน ร่วมกับการกินอาหารที่เหมาะสม (A balanced diet) จะเป็นผลดีต่อหัวใจ แต่หากกินร่วมกับอาหารจำกัดพลังงาน จะช่วยในการควบคุมน้ำหนัก และเมื่อไม่นานมานี้กระแสของถั่วเปลือกแข็งให้ความสนใจ และทำการศึกษากับถั่วชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและสามารถนำมาทำอาหารและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้หลากหลาย นั่นคือ ถั่วดาวอินคา (Sacha Inchi หรือ Inca Peanuts)
ถั่วดาวอินคามีถิ่นกำเนิด และพบได้ทั่วไปที่ป่าอะเมซอนของชาวเปรู ในทวีปอเมริกาใต้ ถั่วดาวอินคาสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่น หลังจากการเพาะปลูกต้นดาวอินคาเพียงประมาณ 5 เดือน ต้นดาวอินคาก็จะเริ่มออกดอกและผล ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ดาวอินคานั้นเป็นพืชตระกูลไม้เลื้อย มีอายุได้นาน 10 - 50 ปี ดอกลักษณะเป็นกลุ่มขนาดเล็ก มีสีขาว ส่วนผลเป็นรูปดาว 4 - 8 แฉก ผลอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล ในแต่ละแฉกจะมีหนึ่งเมล็ด สามารถนำเมล็ดที่อยู่ด้านในมารับประทานได้ ดาวอินคาเป็นถั่วที่ได้รับฉายานามว่าถั่วมหัศจรรย์จากประชากรแถบป่าอะเมซอน เนื่องจากถั่วดาวอินคาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย เป็นพืชที่สามารถรับประทานได้ทุกส่วน ทั้งยอดอ่อน ใบ ผลอ่อน หรือแม้กระทั้งเมล็ดถั่วดาวอินคา มีการนำเอาน้ำมันมาสกัดเพื่อรับประทาน ปรุงประกอบอาหาร หรือนำเอามาผสมทำเครื่องสำอาง พวกครีมทาตัว สบู่ น้ำมันใส่ผม นำเอาเมล็ดมาคั่วรับประทาน นำเอาใบมาทำสลัดหรือหมักชา เป็นต้น นักวิจัยเริ่มให้ความสนใจกับถั่วดาวอินคาเนื่องจาก มีปริมาณของกรดไขมันจำเป็นโอเมก้า และมีโปรตีนสูง กรดไขมันที่พบได้มากเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acids) โดยเฉพาะโอเมก้า 3 (α-linolenic acid; ALA) และโอเมก้า 6 (Linoleic acid; LA) กรดไขมันโอเมก้า 3 นี้ ร่างกายผลิตไม่ได้ต้องได้รับจากการรับประทานเท่านั่น ซึ่งกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และการอักเสบต่าง ๆ ของร่างกาย เมล็ดถั่วดาวอินคาประกอบด้วย โปรตีนร้อยละ 27 โดยกรดอะมิโนที่พบส่วนใหญ่ในถั่วดาวอินคา ได้แก่ Leucine, Tyrosine, Threonine, Lysine และ Tryptophan ซึ่งถือว่าถั่วดาวอินคามีโปรตีนสูง และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นแก่ร่างกาย ถั่วดาวอินคายังเป็นแหล่งของวิตามินอี (Tocopherols) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและสารไฟโตสเตอรอลที่มีโครงสร้างคล้ายคอเลสเตอรอล และเป็นตัวลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ในปี 2014 นักวิจัยจากประเทศสเปนได้ศึกษาคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันจากถั่วดาวอินคา พบว่า น้ำมันจากถั่วดาวอินคามีค่าการต้านอนุมูลอิสระสูง นอกจากนี้ถั่วดาวอินคา มีแร่ธาตุเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ โพแทสเซียม (3,736.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) แคลเซียม (2,668.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) และ แมกนีเซียม (684.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) รวมทั้งมีใยอาหารคิดเป็นร้อยละ 77.8 อีกด้วย ตามมาด้วยผลการศึกษาหลายการศึกษาที่ยืนยันผลของการรับประทานถั่วดาวอินคา และผลต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานถั่วดาวอินคาคั่วสามารถลดระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ การบริโภคน้ำมันดาวอินคาเป็นเวลา 60 วัน ลดระดับคอเลสเตอรอลรวม ลดความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และในขณะนี้ทางภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลก็กำลังศึกษาอย่างต่อเนื่องถึงผลของการรับประทานถั่วดาวอินคาทั้งแบบเมล็ดคั่ว น้ำมันดาวอินคา เชิงคลินิกต่อการต้านการอักเสบ การควบคุมน้ำหนัก ระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือด
สำหรับความปลอดภัยและความเป็นพิษ Gorriti และคณะในปี 2010 ทดสอบความเป็นพิษที่เวลา 60 วัน และศึกษาระดับความเป็นพิษเฉียบพลัน ผลการศึกษา พบว่า ตัวชี้วัดต่าง ๆ บ่งชี้ว่า ไม่พบความเป็นพิษในการรับประทานน้ำมันดาวอินคา ในปี 2014 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดให้น้ำมันถั่วดาวอินคาเป็น “GRAS” Generally Recognized As Safe ซึ่งหมายถึงสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย สำหรับข้อควรระวังในการบริโภคถั่วดาวอินคา คือ ไม่ควรรับประทานถั่วดาวอินคาดิบ และหากมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือรับประทานยากลุ่มลดระดับไขมัน หรือกลุ่มลดระดับน้ำตาลในเลือด ควรปรึกษาแพทย์ หรือนักกำหนดอาหารก่อนบริโภคถั่วดาวอินคา เพื่อความปลอดภัย
ในประเทศไทยก็เริ่มมีการเพาะปลูกถั่วดาวอินคาเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากปัญหายางพารามีราคาที่ลดลง และปัญหาของน้ำแล้ง จึงทำให้เกษตรกรที่ปลูกยางพาราหันมาปลูกดาวอินคาเพิ่มเติม ดาวอินคาเป็นพืชที่ขึ้นได้ง่าย และไม่ต้องการน้ำมาก หลายจังหวัดมีการสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกกันมากขึ้น เช่น ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แพร่ ชัยนาท เลย ราชบุรี เป็นต้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่