xs
xsm
sm
md
lg

11 เคล็ดลับ หุ่นเพรียว ห่างพุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใครๆ ต่างก็ไม่อยากเป็นเจ้าของหน้าท้องหรือพุงโตๆ ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งพุงเกิดจากไขมันช่องท้องที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา

มีผลวิจัยจาก European Society of Cardiology เมื่อปี 2012 ได้เก็บข้อมูลจากผู้ป่วยกว่า 12,785 คน ตลอดระยะเวลา 14 ปี คำนวณหาดัชนีมวลกายหรือค่า BMI ซึ่งเป็นอัตราของไขมันในร่างกายต่อความสูง และอัตราส่วนของเอวต่อสะโพกเพื่อหาอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ แต่มีขนาดรอบเอวมาก มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคต่างๆ มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติและขนาดรอบเอวปกติ 2.1 เท่าเลยทีเดียว

ทั้งนี้ยังมีรายงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดอีกด้วยว่าผู้ชายที่มีรอบเอวไซส์ใหญ่ประมาณ 33.6 นิ้วเป็นต้นไป จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าผู้ชายที่มีรูปร่างปกติ ซึ่งทางทีมงานได้สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างเพศชายทั้งคนอ้วนและคนผอมจาก 8 ประเทศในทวีปยุโรป ที่มีอายุเฉลี่ย 52 ปี และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มตัวอย่าง ก็พบด้วยว่า ผู้ชายที่มีขนาดรอบเอว 37.5 นิ้ว มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่มีรอบเอว 33.6 นิ้ว ถึง 13 เปอร์เซ็นต์ แล้วคนที่มีรอบเอว 41.5 นิ้ว จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และในขณะเดียวกัน คนที่รอบเอวเพิ่มขึ้นทุกๆ 4 นิ้ว จะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นถึง 18 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว เนื่องจากในร่างกายของคนอ้วนนั้นมีไขมันส่วนเกินและระดับของเทสโทสเตอโรนที่สูง จึงทำให้นำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

เราจะรู้ได้ว่าเรามีไขมันอันตรายส่วนนี้มากโดยลองวัดรอบพุง (ผ่านสะดือ) ดูรอบพุงไม่ควรเกินส่วนสูงหารสองนั่นเอง

วิธีวัดเส้นรอบเอว

1. อยู่ในท่ายืน
2. ใช้สายวัดวัดรอบเอว โดยวัดผ่านสะดือ
3. วัดในช่วงหายใจออก (ท้องแฟบ) โดยให้สายวัดแนบ กับลำตัวไม่รัดแน่น และให้ระดับของสายวัดที่วัดรอบเอววางอยู่ในแนวขนานกับพื้น

พุงประกอบไปด้วย 3 ชั้น

1. ชั้นที่ 1 เป็นไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutaneous fat) เป็นชั้นที่เราสามารถจับหรือบีบติดมือเราขึ้นมาได้ ชั้นนี้จะเป็นพลังงานสำรองให้กับร่างกายยามขาดแคลนอาหาร เป็นไขมันที่ “อยู่สุข” คือ ไม่ปล่อยสารก่อการอักเสบเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งสามารถลดได้จากการควบคุมอาหารให้เหมาะสม เพราะหน้าที่มันก็คือแหล่งพลังงานสำรองของร่างกายเรา เมื่อเราควบคุมอาหารร่างกายก็ต้องนำไขมันส่วนนี้มาใช้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่กินให้น้อยกว่าที่ใช้พลังงานน้ำหนักของเราก็ย่อมจะลดลง ฉะนั้นการเพิ่มการออกกำลังกายจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรทำ

2. ชั้นที่ 2 กล้ามเนื้อหน้าท้อง (Abdominal muscles) ชั้นนี้สำหรับผู้ที่น้ำหนักไม่เกิน ผอม หรือ ผู้ที่เช้ามาหน้าท้องก็ปกติดี แต่พอได้กินเท่านั้นแหละ ท้องป่องออกมายังกะคนใกล้คลอด สาเหตุนี้เกิดจากความไม่แข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ต้องพยุงอวัยวะภายใน กล้ามเนื้อหน้าท้องก็เหมือนสเตย์ที่ใช้รัดหน้าท้องตามธรรมชาติของเรา ถ้ามันไม่แข็งแรงก็เหมือนเราใส่สเตย์ย้วยๆ พอมีของกินเข้าไปมันก็ไม่มีแรงจะพยุงให้อยู่ทรงก็ต้องปล่อยให้พุงห้อยออกมาเป็นธรรมดา วิธีแก้ไขให้สเตย์เรากลับมาแน่นแข็งแรงดังเดิม ก็จำเป็นต้องออกกำลังกาย(ไม่ใช่การซิตอัพ) โดยจะมีบางท่าที่จะช่วยเน้นได้โดยเฉพาะ เช่น plank วิดพื้น หรืออาจ ลองทดสอบได้โดย

3. ชั้นที่ 3 เป็นไขมันในช่องท้อง( Visceral fat) เป็นไขมันอันตรายที่สะสมอยู่ในช่องท้อง เป็นไขมันที่เกิดจากการที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ถ้าเป็นนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำแม้จะมีน้ำหนักเกินจะมีไขมันในส่วนนี้สะสมอยู่น้อย เป็นไขมันที่”อยู่ไม่สุข” โดยจะปล่อยสารก่อการอักเสบเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดการอักเสบที่ผนังหลอดเลือดทั่วร่างกาย และเนื่องจากมันอยู่ติดอวัยวะภายในจึงเหมือนกับอวัยวะภายในเราถูกแช่อิ่มด้วยไขมัน (ข้อมูลจาก facebook : Ez2fit)

โทษของการมีพุง

1.นำไปสู่โรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง, โรคมะเร็ง, ปัญหาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ และโรคต่างๆ อีกมากมาย
2. ส่งผลทำให้บุคลิกภาพเสียเนื่องจากท่าทางการเดินของคุณไม่สง่างาม หรือหลังค่อมกว่าคนปกติ
3.ส่งผลเสียต่อเส้นเลือด กระดูก และข้อได้
4.ส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอด ทำให้ปอดทำงานไม่เต็มที่
5.ส่งผลทำให้เซลล์สมองน้อยกว่าคนปกติ อาจก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

เช็คลิสต์ว่าคุณมีพุงเสี่ยงโรคหรือไม่

1.หากคุณเป็นผู้ชายที่มีเส้นรอบเอวตั้งแต่ 36 นิ้วขึ้นไป หรือเป็นผู้หญิงที่มีเส้นรอบเอวตั้งแต่ 32 นิ้วขึ้นไป
2. ผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
3. ผู้ที่มีความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มม.ปรอท หรือรับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่
4. ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งค่าน้ำตาลในเลือดของคนปกติจะอยู่ที่ 70-99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถ้าเกินจะเริ่มมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเบาหวาน
5. ผู้ที่มีระดับไขมันดี (HDL) คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง

11 เคล็ดวิธีรับประทานอาหารลดพุง ลดโรค

1. ควรรับประทานอาหารทุกมื้อ ห้ามงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง เพราะจะทำให้น้ำหนักจะกลับมาเร็วถ้าคุณไม่สามารถควบคุมอาหารได้ต่อเนื่อง

2. รับประทานทุกมื้อแต่ควรลดปริมาณอาหารทุกมื้อลง เช่น ปกติเคยทานข้าวสองทัพพีก็เปลี่ยนมาเป็นหนึ่งทัพพีแทน

3. งดน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เนื่องจากเครื่องเหล่านี้ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง ทำให้หน้าท้องดูบวมได้นั่นเอง

4. งดอาหารที่มีปริมาณแก๊สมาก ได้แก่ ผักกาดขาว กระหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ ถั่ว บร็อคโคลี หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพด มันเทศ ผลไม้เช่น แอปเปิล แพร์ ฯลฯ แล้วหันมากินผัก ผลไม้ที่รสไม่หวาน และมีกากใยให้มากขึ้น

5. เคี้ยวอาหารให้ช้าลง ประมาณ 30 ครั้งต่อ 1 คำ ควรใช้เวลาในการรับประทานไม่น้อยกว่า 15 นาที

6. ลดการบริโภคเกลือหรืออาหารที่มีปริมาณเกลือหรือโซเดียมค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการบวมน้ำ ยิ่งหากร่างกายได้รับโซเดียมเกินจะทำให้ดูอ้วน ฉุ ซึ่งโซเดียมจะพบมากในขนมกรุบกรอบ อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารหมักดอง อาหารแช่อิ่ม อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ

7. บริโภคโปรตีนที่ไม่มีไขมันหรือไขมันต่ำ ได้แก่ อกไก่ เนื้อปลา ไข่ขาว นมพร่องมันเนย โยเกิร์ตไขมันต่ำ อัลมอนด์ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเร่งเผาผลาญอาหารได้ดี

8. ควบคุมพลังงานแต่ไม่ควรน้อยกว่าวันละ 1,200 กิโลแคลอรีสำหรับผู้หญิง และไม่ควรน้อยกว่าวันละ 1,600 กิโลแคลอรีสำหรับผู้ชาย

9. ลดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตลงและควรเลือกประเภทคาร์โบไฮเดรต ควรหันมารับประทานแป้งไม่ขัดสี เช่น ขนมปังโฮลวีต ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ธัญพืชต่างๆ แทนแป้งขัดสีจำพวกข้าวขาว ขนมปังขาวต่างๆ ซึ่งจำนวนคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายควรได้รับแต่ละวันอยู่ที่ 3 กรัม ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมนั่นเอง

10. ควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละ 8 -12 แก้ว ต่อวัน

11. ควรรับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

นอกจากนี้แล้วนั้นควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพราะการออกกำลังกายสามารถช่วยลดไขมันได้ โดยการออกกำลังกายที่จะลดไขมันได้ดีและเร็วก็คือการออกกำลังกายประเภทแอโรบิค เช่น วิ่ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น และควรหาท่าออกกำลังกายที่ช่วยสร้างกล้ามหน้าท้องด้วยจะยิ่งดี อีกทั้งควรพักผ่อนให้เพียงพอร่วมด้วยเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกับตัวคุณเอง

กำลังโหลดความคิดเห็น