ปทุมธานี - รมว.พม. เปิดศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยปทุมธานีโมเดล และยกเสาเอกสร้างบ้านเฟสแรก 28 หลัง แก้ปัญหาชาวบ้านปลูกบ้านรุกล้ำคลองหนึ่ง พร้อมจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยรองรับ 16 ชุมชน 1,433 ครัวเรือน ขณะที่ คสช. ใช้มาตรา 44 เพิกถอนที่ดินสาธารณะคลองเชียงรากใหญ่ 30 ไร่ ให้เป็นที่ดินราชพัสดุเพื่อรองรับชาวบ้านเริ่มดำเนินการได้ต้นปี 2560
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดรุกล้ำลำน้ำสาธารณะในจังหวัดปทุมธานี โดยเฉพาะที่บริเวณคลองหนึ่ง ซึ่งมีชาวบ้านปลูกบ้านเรือนรุกล้ำลำคลองมานานหลายสิบปี จำนวน 16 ชุมชน รวม 1,433 ครัวเรือน โดยมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานหลักจัดทำโครงการ “ปทุมธานีโมเดล” เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากคลองหนึ่งนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. และคณะ ได้เดินทางมาที่เทศบาลเมืองท่าโขลง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อเปิดศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยปทุมธานีโมเดล (ศปก.ทปม.) โดยมี นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการ จ.ปทุมธานี, นายพลากร วงค์กองแก้ว ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ หลังจากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ และคณะ ได้เดินทางไปที่สหกรณ์บ้านมั่นคงไทยมุสลิมสามัคคี จำกัด (ชุมชนแก้วนิมิตร) ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง เพื่อเป็นประธานพิธียกเสาเอกบ้านที่จะสร้างใหม่เฟสแรกจำนวน 28 หลัง
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวว่า ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 24 ล้านครัวเรือน แต่มีประชาชนที่ยังขาดแคลนที่อยู่อาศัยประมาณ 4 ล้านครัวเรือน โดย พม. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำแผนงาน 10 ปี เพื่อรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนประมาณ 2.7 ล้านครัวเรือน ซึ่งโครงการปทุมธานีโมเดลก็เป็นโครงการหนึ่งที่ พม. ได้ดำเนินการ โดยมอบหมายให้ พอช. ร่วมกับจังหวัดปทุมธานีและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ
“การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยปทุมธานีโมเดลขึ้นมาเพื่อทำงานเกาะติดพื้นที่ เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกบ้านเรือนรุกล้ำคลองหนึ่ง ซึ่งทำให้การระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด นอกจากนี้ รัฐบาลก็ได้ใช้มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ เพื่อใช้ที่ดิน 30 ไร่ ของรัฐรองรับเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชนในคลองหนึ่ง ทำให้ชาวบ้านได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง” รมว.พม. กล่าว
นางสาวชญาดา สิงห์ปี ผู้อำนวยการ ศปก.ทปม. กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลในขณะนี้ พบว่า มีชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือนริมคลองหนึ่งซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน จากบริเวณหลังตลาดไทจนถึงหลังห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต รวม 16 ชุมชน จำนวน 1,433 ครัวเรือน โดยบ้านเรือนเหล่านี้ปลูกสร้างมานานหลายสิบปี มีสภาพทรุดโทรม ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งนี้ ศปก.ทปม. มีแผนรองรับเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอยู่ 2 แนวทาง คือ 1. จัดหาที่ดินใกล้ ม.ธรรมศาสตร์รังสิต พื้นที่ 30 ไร่ และ 2. จัดซื้อที่ดินแปลงใหม่เพื่อสร้างบ้าน
“จากการสอบถามความต้องการของชาวบ้านในเบื้องต้น มีชาวบ้านที่มีความสนใจอยากจะเข้าอยู่ในที่ดิน 30 ไร่ จำนวน 275 ครัวเรือน และจัดหาที่ดินแปลงใหม่ จำนวน 126 ครัวเรือน รวมมีชาวบ้านสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการเบื้องต้น 401 ครัวเรือน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,000 ครัวเรือน จะต้องสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านเพื่อให้เข้าร่วมโครงการ” ผอ.ศปก.ทปม. กล่าว
ส่วนมาตรการในการช่วยเหลือชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการปทุมธานีโมเดลนั้น นางสาวชญาดา กล่าวว่า พอช. มีแนวทางช่วยเหลือชาวบ้าน คือ 1. พัฒนาระบบสาธารณูปโภคและอุดหนุนที่อยู่อาศัยไม่เกินครัวเรือนละ 50,000 บาท 2. ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบครัวเรือนละ 25,000 บาท และ 3. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อก่อสร้างบ้านหรือซื้อที่ดิน/ที่อยู่อาศัยไม่เกิน 300,000 บาท ผ่อนชำระคืนภายใน 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือตามข้อ 1 - 2 พอช. ไม่ได้จ่ายให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นเงินสด แต่จะจ่ายผ่านสหกรณ์เคหสถานที่ชาวชุมชนจัดตั้งขึ้นมา เพื่อนำไปบริหารจัดการเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุ ค่าก่อสร้าง หรือซื้อที่ดิน
สำหรับชุมชนที่จัดซื้อที่ดินแปลงใหม่ คือ 1. ชุมชนแก้วนิมิตร ซื้อที่ดินใกล้เคียงชุมชนเดิมเนื้อที่ 5 ไร่ 42 ตารางวา ราคา 12 ล้านบาท รองรับชาวบ้านได้ 100 ครัวเรือน และ 2.ชุมชนหมู่ 6 พัฒนา อยู่ระหว่างจัดซื้อที่ดินใกล้ชุมชนเดิม เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ รองรับชาวบ้าน 26 ครัวเรือน
ทั้งนี้ ชุมชนแก้วนิมิตร เป็นชุมชนแรกที่จะเริ่มก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ โดยมีพิธียกเสาเอกเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผานมา มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ 100 ครัวเรือน จากทั้งหมด 168 ครัวเรือน จัดซื้อที่ดินขนาด 5 ไร่ 42 ตารางวา แบ่งได้ 98 แปลง จำนวน 100 ครัวเรือน ได้รับงบสนับสนุนจาก พอช. แยกเป็น งบด้านสาธารณูปโภค 5 ล้านบาท งบอุดหนุนที่อยู่อาศัย 2,500,000 บาท งบบริหารจัดการ 125,000 บาท และสินเชื่อที่อยู่อาศัย รวม 32,464,192 บาท
นายนรายุทธ เขียนจตุรัส คณะกรรมการสหกรณ์ฯ กล่าวว่า ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยขึ้นมาในปี 2558 เพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน มีสมาชิก 100 ครัวเรือน ออมเงินครัวเรือนละ 2,000 บาท ปัจจุบันมีเงินออมรวมกันประมาณ 1.2 ล้านบาท และได้จัดตั้งเป็นสหกรณ์บ้านมั่นคงไทยมุสลิมสามัคคี จำกัด โดยชาวบ้านจะร่วมกันบริหารโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านก็ได้ร่วมกันออกแบบบ้านและผังชุมชน มีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ในการอยู่อาศัย ทั้งนี้ สหกรณ์ฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ช่างชุมชนเพื่อพัฒนาสังคม จำกัด สร้างบ้านเฟสแรก 28 หลังในเดือนสิงหาคมนี้ เฟสที่ 2 เดือนพฤศจิกายน จำนวน 40 หลัง และเฟสที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 30 หลัง ตามแผนงานการก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2560
ส่วนแบบบ้านมี 2 แบบ คือ บ้านแถว 2 ชั้น และบ้านแฝด 2 ชั้น ขนาด 4X7 ตารางเมตร, 4.5 x 7 ตารางเมตร และขนาด 5.5 x 7 ตารางเมตร ราคาตั้งแต่ 272,454 - 295,428 บาท โดยชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่อนเงินกู้ชำระคืน พอช. ผ่านสหกรณ์ในอัตราเดือนละ 2,5000 - 3,000 บาท ระยะเวลา 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี
สำหรับที่ดินเนื้อที่ 30 ไร่ ที่จะรองรับชาวบ้านจำนวน 275 ครัวเรือน ตั้งอยู่ที่บริเวณคลองเชียงรากใหญ่ ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตนั้น เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการปทุมธานีโมเดล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งให้เพิกถอนสถานภาพที่ดินเดิมเพื่อให้ตกเป็นที่ดินราชพัสดุ สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยรองรับประชาชนตามโครงการปทุมธานีโมเดล ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เสนอ โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ที่ดินแปลงดังกล่าวปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ โดยกรมธนารักษ์จะให้ประชาชนรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์เพื่อทำสัญญาเช่าที่ดินสร้างที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับการเช่าที่ดินริมคลองลาดพร้าวของชาวชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ที่กำลังดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการรุกล้ำลำคลองและการระบายน้ำอยู่ในขณะนี้
ส่วนความคืบหน้าในในการดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยที่ดิน 30 ไร่นั้น ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบ จะมีลักษณะเป็นอาคารสูง ไม่ต่ำกว่า 10 อาคาร เพื่อให้สามารถรองรับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในคลองหนึ่งได้มากกว่า 1,000 ครัวเรือน โดยขณะนี้ เจ้าหน้าที่จาก ศปก. ปทุมธานีโมเดล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังลงพื้นที่เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการที่มีอยู่ประมาณ 1,000 ครัวเรือน คาดว่า ภายในช่วงต้นปี 2560 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้