มีผลแล้ว! กฎหมายใหม่แก้ปัญหาเงินอุดหนุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กทม. ขาดสภาพคล่อง ที่ต้องจ่ายให้ข้าราชการเกษียณที่มีกว่า 1.5 หมื่นคน ตกเดือนละ 220-240 ล้านบาท เผยกฎหมายใหม่ให้ กทม.หักรายได้ปีละ 6.5 หมื่นล้าน สมทบกับงบอุดหนุนจากมหาดไทยประจําปี ร้อยละ 3 สมทบเข้าเป็น “กองทุนบําเหน็จบํานาญฯ” พร้อมให้ตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจําปีของ กทม.ในทุกปีงบประมาณ
วันนี้ (17 ส.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร โดยหลักการของกฎหมายฉบันนี้ อยู่ที่ มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516
โดยกฎหมายเดิมให้ตั้งจ่ายเงินสมทบกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร ในอัตราซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้กําหนดในกฎกระทรวง ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติบําเหน็จบํานาญข้าราชกากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 ในงบประมาณรายจ่ายประจํากรุงเทพมหานคร โดยให้เรียกชื่อว่า “เงินสมทบกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร”
โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 4 “ให้มีกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานครขึ้น เพื่อจ่ายบําเหน็จบํานาญให้แก่ข้าราชการกรุงเทพมหานคร โดยให้กรุงเทพมหานครหักเงินงบประมาณรายได้ประจําปีสมทบเข้าเป็นกองทุนในอัตราซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะได้กําหนดโดยกฎกระทรวงไม่เกินร้อยละ 3 และตั้งประเภทเงินนี้ไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจําปีของกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ หากในปีงบประมาณใดเงินกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานครตามวรรคหนึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายสําหรับบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร ให้กรุงเทพมหานครจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อเพิ่มเติมให้เพียงพอกับการใช้จ่ายสําหรับบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานครที่ยังขาดอยู่ในปีนั้นงบประมาณรายได้ประจําปีตามวรรคหนึ่งและงบประมาณเพื่อเพิ่มเติมตามวรรคสอง ไม่รวมถึงงบประมาณรายได้ประเภทพันธบัตร เงินกู้ เงินที่มีผู้อุทิศให้ หรือเงินอุดหนุน
มีรายงานจากศาลาว่าการ กทม.ด้วยว่า เหตุผลของ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะนำมาแก้ปัญหาที่ผ่านมาโดยที่ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีรายจ่ายสําหรับบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทําให้เงิน “กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร” ไม่เพียงพอต่อการจ่ายบําเหน็จบํานาญให้แก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครและกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานครไม่มีบทบัญญัติที่กําหนดให้กรุงเทพมหานครจัดสรรเงินงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายดังกล่าวได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการบริหารกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร สมควรกําหนดให้กรุงเทพมหานครสามารถจัดสรรเงินงบประมาณเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายสําหรับบําเหน็จบํานาญข้าราชการกรุงเทพมหานครได้
ที่ผ่านมากองทุนฯ จะได้รับเงิน 3 เปอร์เซ็นต์จากงบประมาณประจำปีของ กทม.เพื่อใช้ในการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้กับข้าราชการ กทม.ที่เกษียณอายุ เช่น เมื่อปี 2557 กองทุนฯ ได้รับเงินจาก กทม.จำนวน 1,950 ล้านบาท ส่วนปี 2558 กทม.แก้ปัญหา ด้วยการขอความเห็นชอบจาก สภา กทม. ให้กองบำเหน็จบำนาญ สำนักการคลัง ยืมเงินสะสมกรุงเทพมหานครเพื่อจ่ายบำเหน็จบำนาญให้แก่ข้าราชการบำนาญ กทม. 1,600 ล้านบาท หลังจาก กทม.ได้รับเงินสมทบ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 1,950 ล้านบาท รวม 3,550 บาท และแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการหารายได้ประจำปีเพิ่ม ที่ปัจจุบัน กทม.มีรายได้ประมาณ 65,000 ล้านบาท เพื่อนำรายได้เข้ามาสมทบเงินกองทุน
โดยปัจจุบันเงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกทม.มีเงินคงเหลือประมาณ 453 ล้านบาท ที่ต้องจ่ายเดือนละประมาณ 220-240 ล้านบาท ทั้งหมดไม่เพียงพอต่อการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กทม.ที่มีกว่า 15,000คน และรายการดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่กทม.ต้องจ่ายตามกฎหมายที่จะบรรเทาความเดือดร้อนแก่ข้าราชการ บำนาญ
ทั้งนี้ ผู้บริหาร กทม.เคยระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เงินในกองทุนบำเหน็จบำนาญไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย เนื่องจาก 1. กองทุนบำเหน็จบำนาญ กทม.ต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมร้อยละ 25 ของเงินบำนาญให้กับข้าราชการบำนาญ กทม.ที่รับราชการก่อนปี 2535 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่ออกเมื่อปี 2554 ทำให้กองทุนดังกล่าวจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น 2. มีข้าราชการกทม.จำนวนหนึ่ง ที่ออกนอกระบบ เพื่อไปขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ทำให้ กทม.ต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว และ 3. มีการตรา พ.ร.บ.เงินตกทอด และเงินช่วยเหลือให้แก่ข้าราชการบำเหน็จบำนาญ ทำให้ กทม.มีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมื่อมีเงินในกองทุนไม่เพียงพอ กทม.จึงต้องดำเนินขอยืมเงินจากเงินสะสมของ กทม. เพื่อมาใช้จ่ายให้แก่ข้าราชการ กทม.ที่เกษียณอายุไปแล้ว
มีรายงานว่า กรณีของเงินบำเหน็จบำนาญ กทม.นั้น มีปัญหาจนถึงขั้นมีอดีตข้าราชการ กทม.ไปฟ้องร้องศาลปกครองขอให้ กทม.จ่ายเงินบำนาญเพิ่ม 25% ย้อนหลัง ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นสิทธิที่ข้าราชการ กทม.พึงจะได้รับตามสิทธิมาแล้ว
รายงานระบุอีกว่า กองทุนฯ เริ่มประสบปัญหาจากการที่จะต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้กับข้าราชการที่เข้า รับราชการก่อนปี 2535 เพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์จากเงินเดือนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้มีเงินเพิ่มจากเงินบำนาญ ซึ่งเริ่มจ่ายมาตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 2554 อีกทั้งยังต้องจ่ายเพิ่มให้กับข้าราชการครู กทม.ด้วย ซึ่งปกติแล้วเงินบำเหน็จบำนาญของข้าราชการครู กทม.จะได้รับจากรัฐบาล 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในส่วนของ 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนที่ต้องจ่ายเพิ่มนั้น กทม.ไม่ได้รับจากรัฐบาลเนื่องจากระเบียบดังกล่าวเกิดขึ้นจากกฎหมายของ กทม.ทำให้กองทุนฯ มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีข้าราชการบำเหน็จบำนาญ กทม.ไม่พอใจเงินที่ได้เพิ่มร้อยละ 25 ที่เริ่มจ่ายปี 2554 โดยอยากให้จ่ายย้อนหลังตั้งแต่ที่ตนเองเกษียณ จึงมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ซึ่งหาก กทม.แพ้คดีจะต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังเห็นว่าระเบียบที่ออกมาไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะแก่ข้าราชการรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงานหลังปี 2535 ไม่ได้รับเงินที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องช่วยหารายได้เพื่อมาช่วยอุดหนุนกองทุน