xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานำร่อง 3 ชุมชนย้ายขึ้นแฟลต ขส.ทบ.กรกฎาคมนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แผนที่ชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยา
เปิดแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา เผย 3 ชุมชนริมแม่น้ำ เขียวไข่กา ปากคลองบางเขน วัดสร้อยทอง 40 ครัวเรือน รวมทั้งชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ จำนวน 24 ครัวเรือน เตรียมย้ายเข้าอยู่แฟลต ขส.ทบ. ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังการซ่อมแซมแฟลตแล้วเสร็จ ส่วนอีก 9 ชุมชน กำลังจัดหาที่ดิน/ที่อยู่อาศัย คาด ปิดโครงการเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ใช้งบรวม 125 ล้านบาทเศษ รองรับชาวบ้านทั้งหมด 309 ครัวเรือน

ตามที่รัฐบาลมีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เป็นพื้นที่สันทนาการ เช่น ทางเดินและจักรยานเลียบแม่น้ำ ลานกีฬา ฯลฯ โดยให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระยะเวลา 7 เดือน (มีนาคม - กันยายน 2559) และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) จัดทำแผนงานระยะเวลา 1 ปี (มีนาคม 2559 - กุมภาพันธ์ 2560) เพื่อรองรับด้านที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา และ จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้น

นายจีรศักดิ์ พูลสง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ศปก.ทชพ.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า พอช. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาที่อยู่ในแนวโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ถึง สะพานพระราม 7 พบว่า มีชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยารวม 12 ชุมชน จำนวน 309 ครอบครัว นอกจากนี้ พอช. ยังได้จัดประชุมชาวบ้านในแต่ละชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการช่วยเหลือการรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแม่น้ำเจ้าพระยา และจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคง

“จากการสอบถามความต้องการของชาวบ้านและการสำรวจข้อมูล พบว่า มีแนวทางในการรองรับด้านที่อยู่อาศัยอยู่ 6 แนวทาง คือ 1. ย้ายขึ้นแฟลตกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) 2. ขอเช่าที่ดินวัดเพื่อสร้างบ้านใหม่ 3. ขอเช่าที่ดินรัฐ 4. ซื้อที่ดินเอกชน 5. หาที่อยู่อาศัยของการเคะแห่งชาติ เช่น บ้านเอื้ออาทร และ 6. ขอรับเงินเยียวยาและหาที่อยู่อาศัยเอง” นายจีรศักดิ์ กล่าว

สำหรับแฟลต ขส.ทบ. นั้น ตั้งอยู่ใกล้กับรัฐสภาใหม่บริเวณสี่แยกเกียกกาย เป็นแฟลต 5 ชั้น 2 อาคารเชื่อมต่อกัน รวมทั้งหมด 64 ห้อง ขนาดพื้นที่ห้องละ 51 ตารางเมตร เดิมเป็นที่พักอาศัยของข้าราชการ ขส.ทบ. แต่เมื่อมีโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา จึงขอใช้แฟลต ขส.ทบ.เพื่อเป็นที่พักสำหรับข้าราชการรัฐสภา และจัดหาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้แก่ข้าราชการ ขส.ทบ. เมื่อข้าราชการ ขส.ทบ. ย้ายออกไป แฟลตดังกล่าวจึงรอการซ่อมแซม ทั้งนี้ โครงสร้างของอาคารและสภาพภายในห้องยังดูแข็งแรง แต่ชำรุดบางส่วน เช่น บานเกล็ด ประตู หน้าต่าง ห้องน้ำ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลมีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รัฐสภาจึงมอบแฟลตให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถรองรับชาวชุมชนเขียวไข่กา, ปากคลองบางเขน และ วัดสร้อยทอง รวม 40 ห้อง รวมทั้งรองรับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่จำนวน 2 ชุมชน คือ ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า 19 ห้อง และชุมชนริมไทร 5 ห้อง

นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ตนได้นำตัวแทนชาวบ้าน 3 ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา มาดูสภาพแฟลต ขส.ทบ. แล้ว ซึ่งตัวแทนชาวบ้านต่างพอใจ เพราะสามารถรองรับครอบครัวของชาวบ้านได้ โดยแต่ละยูนิตจะมี 2 ห้องนอน 1 ห้องโถง ห้องอาบน้ำ และ ห้องส้วมแยกต่างหาก มีเฉลียงหลังห้องสำหรับตากเสื้อผ้า และใช้ทำครัวได้ รวมเนื้อที่ยูนิตละ 51 ตารางเมตร นอกจากนี้ พื้นที่ชั้นล่างของแฟลตยังเป็นพื้นที่โล่งสามารถใช้เป็นที่พักผ่อน หรือ จัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันได้

ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและสำนักผังเมืองได้ประเมินค่าซ่อมแซมแฟลตทั้ง 64 ห้อง (รวมระบบประปา, ไฟฟ้า และ ซ่อมแซมห้อง) รวมทั้งหมดประมาณ 27 ล้านบาทเศษ หรือเฉลี่ยห้องละ 421,875 บาท ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ศปก.ทชพ.) มีงบประมาณไม่เพียงพอ ศปก.ทชพ. จึงขอความร่วมมือจากการเคะแห่งชาติ ให้ช่วยประเมินราคาซ่อมแซมใหม่ โดยจะซ่อมแซมเฉพาะสิ่งชำรุดที่จำเป็น ซึ่งหากเป็นไปตามแผนงาน การซ่อมแซมจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเศษ และคาดว่าภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 3 ชุมชน และจากรัฐสภา 2 ชุมชน รวม 64 ครัวเรือน จะย้ายเข้าอยู่ที่แฟลตแห่งนี้ได้

นายศักดิ์น้อย พรรณพิจิตร ประธานชุมชนเขียวไข่กา เขตดุสิต กล่าวว่า ชาวบ้านในชุมชนรู้ข่าวว่าทางราชการจะมีโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และ ต้องรื้อย้ายบ้านเรือนที่ปลูกอยู่ในแม่น้ำออกไปในช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา เพราะทางเขตดุสิตส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาบอก ซึ่งในตอนแรกชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างก็รู้สึกตกใจ เพราะอยู่อาศัยกันมานาน ไม่รู้ว่าจะถูกไล่ไปอยู่ที่ไหน ไม่อยากจะรื้อย้าย เพราะอยู่ที่เดิมสะดวกสบาย อยู่ใกล้โรงพยาบาลวชิระ และใกล้โรงเรียนของลูกหลาน

“แต่เมื่อทาง พอช. ลงมาพูดคุยชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และพาไปดูแฟลต ขส.ทบ. ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิมมากนัก ชาวบ้านก็รู้สึกพอใจ เพราะเดิมชาวบ้านก็ปลูกบ้านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามานาน รู้ว่ารุกล้ำแม่น้ำ บ้านเรือนก็ไม่มั่นคงแข็งแรง อีกทั้งเวลาจะเข้าบ้าน หรือ ออกจากบ้านต้องปีนบันไดข้ามเขื่อนทำให้ลำบาก โดยเฉพาะคนแก่และเด็ก ๆ ฉะนั้น เมื่อทางราชการมีแฟลตรองรับ ชาวบ้านก็รู้สึกพอใจเพราะไม่ได้ถูกขับไล่เปล่า ๆ ส่วนการจะรวมตัวกันหาซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านใหม่นั้น คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่หาเช้ากินค่ำ มีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ” นายศักดิ์น้อย กล่าว

ชุมชนเขียวไข่กา มีบ้านเรือนที่ปลูกสร้างอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด 21 ครัวเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ และจับปลาในแม่น้ำ โดย พอช. สนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัวจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีสมาชิก 21 ครัวเรือน กำหนดออมเดือนละ 2 ครั้ง ๆ ละ 1,200 บาท ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานเจ้าของแฟลต ขส.ทบ. จะเก็บค่าเช่าผู้อยู่อาศัยยูนิตละ 1,001 บาทต่อเดือน ไม่รวมค่าน้ำประปาและไฟฟ้า

นอกจากแฟลต ขส.ทบ. ที่รองรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวแล้ว นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีที่ดินว่างเปล่าของกรมธนารักษ์อยู่ติดกับแฟลต ขส.ทบ. เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 17 ตารางวา ซึ่งการเคหะฯ ได้มาสำรวจแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบ หากสร้างเหมือนแฟลต ขส.ทบ. ก็จะรองรับชาวบ้านได้ประมาณ 60 - 80 ครอบครัว

ส่วนที่ดินแปลงอื่น ๆ ที่จะรองรับชาวบ้านริมฝั่งเจ้าพระยาอีก 9 ชุมชน ประมาณ 250 ครัวเรือนนั้น ขณะนี้มีที่ดินของเอกชน 2 แปลง คือ แปลงที่ 1 เนื้อที่ 3 ไร่ อยู่ติดกับชุมชนราชผาทับทิม เขตดุสิต อยู่ระหว่างการติดต่อกับเจ้าของที่ดิน, แปลงที่ 2 เนื้อที่ 5 ไร่ อยู่บริเวณพุทธมณฑลสาย 1 ใกล้สายใต้ใหม่ และที่ดินของบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิทย์ (บบส.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื้อที่ 5 ไร่เศษ อยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 เขตบางกอกน้อย ราคา 39.9 ล้านบาท สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้ประมาณ 240 ครอบครัว และยังมีบ้านเอื้ออาทรนครชัยศรี (ท่าตำหนัก) อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งอยู่ห่างจากสะพานพระปิ่นเกล้า ประมาณ 30 กิโลเมตร ยังมีห้องว่างสามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้หลายสิบครอบครัว

สำหรับงบประมาณสนับสนุนการรองรับที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงนั้น นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า พอช. จะสนับสนุนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่เกินครัวเรือนละ 80,000 บาท โดยแยกเป็น 1. อุดหนุนที่อยู่อาศัยครัวเรือนละ 25,000 บาท และ 2. พัฒนาระบบสาธารณปโภคครัวเรือนละ 50,000 บาท และ 3. งบบริหารจัดการครัวเรือนละ 5,000 บาท ซึ่งทั้ง 3 รายการดังกล่าว พอช. ไม่ได้จ่ายให้ชาวบ้านเป็นเงินสด แต่จะอยู่ในรูปของงบอุดหนุน เช่น หากชาวบ้านจะไปอยู่แฟลต ขส.ทบ. ทาง พอช. ก็จะอุดหนุนงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค (ค่าซ่อมแซมระบบไฟฟ้า, ประปา, ซ่อมห้อง) ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าเป็นระยะเวลา 3 ปี, ค่าประกันล่วงหน้า 3 เดือน ส่วนค่าเช่ารายเดือน เดือนละ 1,001 บาท ชาวบ้านจะต้องจ่ายผ่านสหกรณ์เพื่อนำไปจ่ายค่าเช่าให้แก่กรมธนารักษ์ต่อไป

ส่วนในกรณีที่ชาวบ้านจะรวมกลุ่มจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่เพื่อสร้างบ้าน พอช. จะสนับสนุนสินเชื่อไม่เกินครัวเรือนละ 300,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี ผ่อนชำระคืนภายใน 15 ปี รวมทั้งยังมีงบอุดหนุนที่อยู่อาศัยและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ครัวเรือนละ 80,000 บาท เช่นเดียวกับผู้ที่จะย้ายขึ้นแฟลต ขส.ทบ. และไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด

“การจัดหาที่ดินและที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จแล้วนั้น หากเจรจาตกลงกับเจ้าของที่ดินหรือเจ้าของอาคารในเบื้องต้นได้แล้ว ทาง ศปก.ทชพ. ก็จะประชุมกับชาวบ้านทั้ง 9 ชุมชน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขในการสนับสนุนงบประมาณด้านที่อยู่อาศัย รวมทั้งร่วมกันจัดทำแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อไป ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการอยู่อาศัยตามแนวทางดังกล่าว หรือ อยากจะหาที่อยู่อาศัยเอง ขณะนี้ทาง พอช. กำลังขอความชัดเจนจากทางรัฐบาลว่าจะให้ความช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อย่างไร เช่น รับเงินเยียวยาแล้วย้ายออกจากพื้นที่ไปเลย” นายจีรศักดิ์ กล่าว

ศปก.ทชพ. กำหนดแผนการขับเคลื่อนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 - กุมภาพันธ์ 2560 โดยหลังจากจัดหาที่ดินหรือที่อยู่อาศัยได้แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการออกแบบวางผัง - เสนอโครงการ - จัดตั้งสหกรณ์ - ขออนุญาตก่อสร้าง - ปรับพื้นที่ - ยกเสาเอก - ก่อสร้าง - ส่งมอบงานโดยรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ใช้งบประมาณรวม 125 ล้านบาทเศษ ผู้รับผลประโยชน์ 309 ครัวเรือน

ส่วนในกรณีที่ผลการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกมาแล้ว และสรุปว่า โครงนี้ไม่มีความเหมาะสม หรือ จะไม่มีการเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปนั้น นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า ภาระหน้าที่ของ พอช. ก็คือ ทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แม้ว่าจะไม่มีการดำเนินโครงการนี้ต่อ แต่ชาวบ้านก็จะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ว่าจะเช่าห้อง หรือ สร้างบ้านใหม่ เพราะเป็นการอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่รื้ออีกต่อไป และ พอช. ก็ยังมีภารกิจที่จะสนับสนุนชาวบ้านต่อไปนอกเหนือจากเรื่องที่อยู่อาศัย เช่น การสนับสนุนเรื่องอาชีพ เศรษฐกิจ สวัสดิการชุมชน ฯลฯ ซึ่งก็คือการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ให้ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนต่อไปได้ด้วยชาวชุมชนเอง

สำหรับชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา และ จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีจำนวน 12 ชุมชน รวม 309 ครัวเรือน คือ เขตบางซื่อ 1. ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ (12 ครัวเรือน) 2. ชุมชนวัดสร้อยทอง (14 ครัวเรือน) เขตบางพลัด 3. ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลณี (10 ครัวเรือน) เขตดุสิต 4. ชุมชนเขียวไข่กา (21 ครัวเรือน) 5. ชุมชนศรีคราม (10 ครัวเรือน) 6. ราชผาทับทิม (32 ครัวเรือน) 7. ชุมชนศาลเจ้าแม่ทับทิม (32 ครัวเรือน) 8. ชุมชนมิตรคาม 1 (66 ครัวเรือน) 9. ชุมชนมิตรคาม 2 (55 ครัวเรือน) 10. ชุมชนวัดเทวราชกุญชร (33 ครัวเรือน) 11. ชุมชนองค์การทอผ้า (19 ครัวเรือน) และ 12. ชุมชนริมไทร (5 ครัวเรือน)

สำหรับชุมชนวัดเทวราชกุญชร จำนวน 33 ครัวเรือน (เขตดุสิต) ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ทางตัวแทนชุมชนได้ยืนยันว่าชุมชนของตนเดิมปลูกสร้างอยู่บนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีหนังสือการเช่าที่ดินจากวัดเทวราชกุญชรเพื่อปลูกสร้างบ้านเป็นหลักฐานมานานหลายสิบปีแล้ว แต่เนื่องจากพื้นที่ริมฝั่งถูกกระแสน้ำกัดเซาะเป็นเวลานาน จึงทำให้บ้านเรือนกลายสภาพเป็นบ้านที่ปลูกสร้างในแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น จึงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
ชาวบ้านชุมชนเขียวไข่กาต้องปีนแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตรเข้า-ออกบ้าน
ศักดิ์น้อย พรรณพิจิตร
แฟลต ขส.ทบ.ใกล้รัฐสภาใหม่
ชุมชนวัดฉัตรแก้วฯ เขตบางพลัดตรงข้ามรัฐสภาใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น