โครงการจัดระเบียบชุมชนริมคลองเดินหน้า “พล.อ.ประวิตร” เป็นประธานพิธียกเสาเอกสร้าง “บ้านประชารัฐริมคลอง” และทำพิธีตอกเสาเข็มสร้างเขื่อนระบายน้ำ ในพื้นที่ชุมชนริมคลอง 64 หลัง รื้อย้ายออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ขณะที่ พม. ปรับแผนเร่งรื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่ 43 ชุมชน 6,606 หลัง ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 6 เดือน ด้านบริษัทรับเหมาเริ่มสร้างเขื่อนเป็นจุดที่ 4 คาดภายในสิ้นปีนี้จะสร้างเขื่อนในพื้นที่ริมคลองที่ชาวบ้านรื้อย้ายออกแล้วได้ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ส่วนชุมชนริมคลองจะทยอยรื้อย้ายหลังสงกรานต์นี้อีก 3 ชุมชน
หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบชุมชนริมคูคลองในเขตกรุงเทพฯ โดยการรื้อย้ายบ้านเรือนที่ปลูกสร้างรุกล้ำคูคลอง และก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในลำคลองสายหลัก เริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวเป็นคลองแรก โดยมีพิธีตอกเสาเข็มสร้างเขื่อนในคลองลาดพร้าวบริเวณคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา เขตวังทองหลาง ไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 4,061 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดหาที่อยู่อาศัยตามแนวทาง “บ้านประชารัฐริมคลอง” รองรับประชาชนที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกแนวก่อสร้างเขื่อนไปแล้วนั้น
ล่าสุด วันนี้ (7 เม.ย.) เวลา 14.00 น. ที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ ซอยพหลโยธิน 54 เขตสายไหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธียกเสาเอกก่อสร้างบ้านใหม่ของชาวชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญที่รื้อบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม พร้อมทั้งเป็นประธานในการตอกเสาเข็มสร้างเขื่อน บริเวณที่ชาวชุมชนรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวเขื่อนแล้วด้วย โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย พลเอก ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ตัวแทนหน่วยราชการต่าง ๆ และชาวชุมชนริมคลองต่าง ๆ กว่า 500 คน ให้การต้อนรับ
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ ซึ่งได้ดำเนินการโครงการนำร่องในพื้นที่คลองลาดพร้าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้จัดทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ. 2559 - 2561) ใช้งบประมาณรวม 4,061 ล้านบาท ซึ่งเป็นแผนงานที่สำคัญตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยบูรณาการร่วมกับกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ และเครือข่ายชุมชน แต่เพื่อให้การดำเนินงานเร็วขึ้นจึงปรับแผนจากเดิม 3 ปี ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 6 เดือน โดยมีเป้าหมายดำเนินการในคลองลาดพร้าว จำนวน 43 ชุมชน รวม 6,606 ครัวเรือน
“ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญได้ทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์แล้ว 30 ปี และเป็นชุมชนนำร่องในการรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ ในเดือนมีนาคม -เมษายนนี้ ส่วนชุมชนอื่น ๆ ที่มีความพร้อมก็จะทยอยรื้อย้ายและก่อสร้างบ้าน โดย พอช. จะให้การสนับสนุนชาวบ้านในเรื่องกระบวนการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหา ตลอดจนเรื่องของสินเชื่อและงบประมาณด้านสาธารณูปโภค ส่วนชุมชนใดที่มีพื้นที่ไม่เพียงพอหรืออยู่ในแนวเขื่อน ไม่สามารถสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้ พอช. ก็จะสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มไปหาซื้อที่ดินแปลงใหม่ เช่น ที่ดินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ในสังกัดของกระทรวงการคลัง หรือที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ พอช. จะดำเนินโครงการบ้านมั่นคงริมคลองในคลองลาดพร้าวจำนวน 17 ชุมชน ส่วนที่เหลือจะดำเนินการในปีต่อไป” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว
สำหรับชุมชนที่จะดำเนินการในปีนี้ เช่น ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ ชุมชนเพิ่มสินร่วมใจ เขตสายไหม, ชุมชนร่วมมิตรแรงศรัทธา เขตดอนเมือง, ชุมชนบางบัวร่วมใจพัฒนา เขตหลักสี่, ชุมชนหลังกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ชุมชนวังหิน เขตจตุจักร ฯลฯ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ เพื่อจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด และพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองไม่ให้มีการรุกล้ำแนวลำคลองและเปิดทางระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและตระหนักดีว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มั่นคง จะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุข มีความมั่นคง ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน จึงจะประสบผลสำเร็จโดยเร็ว และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ผมมาวันนี้เพื่อที่จะให้ประชาชนได้เห็นว่ารัฐบาลโดยการนำของท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีแผนงานที่จะพัฒนาลำคลองให้เกิดประโยชน์ เกิดการคมนาคม ให้ลำน้ำไหลได้สะดวก ให้ลำน้ำใส นอกจากคลองลาดพร้าวแล้วก็มีแผนงานที่จะทำทุกคลอง โดยได้รับการสนับสนุนจากทุกหน่วยงาน เช่น ผู้บัญชาการทหารบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร และหากประชาชนให้ความร่วมมือทุกอย่างก็เดินหน้าไปได้ ที่ผ่านมาผมทราบว่าชุมชนริมคลองได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการต่าง ๆ อย่างดียิ่ง รวมทั้งชุมชนที่ได้ร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัย ด้วยการ ‘คืนความสุขให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง’ เพื่อความสุขอย่างยั่งยืนของทุกคน” พลเอก ประวิตร กล่าว
ทั้งนี้ ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญมีทั้งหมด 64 หลังคาเรือน เป็นชุมชนนำร่องในการรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนในคลองลาดพร้าว โดยชุมชนมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3 ไร่ 245 ตารางวา ได้รับสัญญาเช่าระยะเวลา 30 ปี จากกรมธนารักษ์ ในอัตราตารางวาละ 1.50 บาท/เดือน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม 2559 ชาวชุมชนจึงทยอยรื้อบ้านออกจากแนวเขื่อน และจะเริ่มก่อสร้างบ้านใหม่หลังจากพิธียกเสาเอกในวันนี้
นายอวยชัย สุขประเสริฐ ประธานชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญฯ กล่าวว่า บ้านเฟสแรกจำนวน 20 หลัง จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน หรือประมาณเดือนกันยายนปีนี้ หลังจากนั้นจะทยอยก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยชุมชนได้เริ่มมีการรวมกลุ่มและจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 เช่น มีการสำรวจข้อมูลชุมชน ร่วมกันออกแบบบ้าน ออกแบบผังชุมชน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน จัดตั้งสหกรณ์เคหสถานขึ้นมาเพื่อบริหารโครงการและทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์
สำหรับแบบบ้านจะมีทั้งหมด 3 แบบ คือ บ้านชั้นเดียว ขนาด 4 X 6 ตารางเมตร, บ้าน 2 ชั้น ขนาด 4 X 6 ตารางเมตร และบ้าน 2 ชั้น ขนาด 6 X 6 ตารางเมตร ราคาก่อสร้างประมาณ 186,910-369,142 บาทต่อหลัง ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้านครอบครัวละ 600-800 บาทต่อเดือน ส่วนที่เหลือจะใช้สินเชื่อจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. ผ่อนส่งประมาณ 1,287-2,537 บาทต่อเดือน ระยะเวลาผ่อนส่ง 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี
นอกจากนี้ พอช. ได้สนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภคจำนวน 1,950,000 บาท งบพัฒนาที่อยู่อาศัยรวม 1,625,000 บาท และงบบริหารจัดการ 97,500 บาท ส่วนการก่อสร้างบ้าน ชุมชนจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เข้ามารับผิดชอบและร่วมตรวจสอบ เช่น ฝ่ายช่าง ฝ่ายจัดซื้อวัสดุ ฝ่ายตรวจสอบ ฯลฯ ใช้ช่างก่อสร้างจากในชุมชนและผู้รับเหมา โดยจะแบ่งพื้นที่ส่วนกลางเพื่อจัดทำเป็นสวนหย่อม มีท่าเรือ มีทางเดินเท้าและจักรยานเลียบคลองความกว้างประมาณ 3 เมตร
นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า การดำเนินโครงการบ้านมั่นคงจะทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เปลี่ยนจากผู้ที่บุกรุกเป็นผู้เช่าอาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยังเป็นการคืนคลองให้กับสังคม ซึ่งนอกจากจะมีการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมแล้ว ชาวชุมชนต่างๆ ยังมีแผนในการพัฒนาคลองร่วมกัน เช่น ฟื้นฟูคลองที่เน่าเสียให้มีสภาพดีขึ้น เช่น มีบ่อพักน้ำเสีย มีถังดักไขมันในครัวเรือนก่อนปล่อยน้ำทิ้งลงสู่คลอง มีเส้นทางจักรยานเลียบคลอง มีการจัดตลาดน้ำและท่องเที่ยววิถีชุมชนต่อไปด้วย
นายวิเชียร ศรีแสงนิล ผู้จัดการแผนกโยธา บริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด กล่าวว่า หลังจากพิธีตอกเสาเข็มก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมจุดแรกในคลองลาดพร้าวใกล้กับคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา เขตวังทองหลาง ไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ขณะนี้บริษัทได้ตอกเสาเข็มเพื่อสร้างเขื่อนในจุดต่าง ๆ รวมเป็น 4 จุด คือ 1. คลองลาดพร้าวบริเวณศูนย์แพทย์พัฒนา ระยะทางประมาณ 300 เมตร 2. ลำรางกระบือ 800 เมตร 3. คลองพลับพลา 800 เมตร (ทั้งสองคลองเป็นคลองย่อยจากคลองลาดพร้าวอยู่ในเขตวังทองหลาง) และ 4. ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ เขตสายไหม ระยะทางประมาณ 200 เมตร
“หลังสงกรานต์นี้ ชุมชนที่รื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวเขื่อนแล้ว บริษัทก็จะเริ่มเข้าไปตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างเขื่อน เช่น ชุมชนหลังกรมวิทย์ ชุมชนวังหิน เขตจตุจักร ชุมชนบางบัวร่วมใจพัฒนา เขตหลักสี่ รวมทั้งพื้นที่ริมคลองที่ติดกับรั้วของกองทัพอากาศในเขตดอนเมืองด้วย คาดว่า ภายในสิ้นปีนี้บริษัทจะสามารถก่อสร้างเขื่อนได้ความยาวรวมทั้งหมดประมาณ 8 - 10 กิโลเมตร ซึ่งก็ถือว่าเป็นไปตามแผนงานที่วางเอาไว้” นายวิเชียร กล่าวและว่า ตามแผนงานการก่อสร้างเขื่อนจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2561 ดังนั้น หากชุมชนใดที่รื้อบ้านออกจากแนวเขื่อนแล้ว บริษัทก็จะขนย้ายเครื่องมือเข้าไปก่อสร้างทันที
โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในช่วงแรก (พ.ศ. 2559 - 2561) ประกอบด้วย การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล. และประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว (คลองบางบัว - คลองถนน - คลองสอง) และ คลองบางซื่อ จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 - รามคำแหง (บริเวณกิโลเมตรที่ 9 คลองแสนแสบเชื่อมกับปากคลองลาดพร้าว) ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงสู่อุโมงค์เขื่อนยักษ์ (อุโมงค์พระราม 9 และอุโมงค์บางซื่อ) ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและลงสู่ทะเลต่อไป
รูปแบบการก่อสร้าง เป็นเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.(สมอยึดด้านหลัง) ความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร รวมความยาวเขื่อนทั้งสองฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตรเศษ และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน โดยบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,645 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อนคือ กองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำมีเป้าหมายที่จะก่อสร้างเขื่อนให้มีความกว้างประมาณ 25 - 38 เมตร และจะมีการขุดลอกคลองให้ลึกจากเดิมอีก 3 เมตรด้วย