MGR online - รมว.พม. มอบบ้านมั่นคงชุมชนตรอกวังหลังต้นโพธิ์ เขตบางกอกน้อย ยกเป็นตัวอย่างรูปธรรมความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืน พอช. เผยตั้งเป้าแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนจนในชุมชนแออัดทั่วประเทศ 700,000 หน่วย รวม 1,310 เมือง ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (2559 - 2568) สนองนโยบายรัฐบาล พร้อมแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองในเขตกรุงเทพฯ ตามนโยบายการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม แผนงาน 3 ปี รวม 74 ชุมชน 11,004 ครัวเรือน
วันนี้ (18 มกราคม 2559) เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วย นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ได้เดินทางมาที่ชุมชนตรอกวังหลังต้นโพธิ์ เขตบางกอกน้อย เพื่อทำพิธีมอบบ้านมั่นคงจำนวน 33 หลังให้แก่ชาวชุมชนเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2559
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างความสุข โดยการมอบของขวัญให้แก่ประชาชน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงสนับสนุนให้พี่น้องพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มั่นคง และขอชื่นชมที่ชุมชนตรอกวังหลังต้นโพธิ์สามารถสร้างบ้านสร้างชุมชนซึ่งเป็นตัวอย่างรูปธรรมความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่พี่น้องชุมชนตั้งใจทำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเกิดจากการความร่วมแรง ร่วมใจ และร่วมกันลงมือ ในการสร้างชุมชน สร้างสังคมด้วยตนเอง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพดี มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ล้วนแต่ต้องใช้ความรักและความสามัคคีของคนในชุมชนทั้งสิ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ความร่วมมือจากภาคีหลายภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานเจ้าของที่ดิน ส่วนราชการ และภาคีต่าง ๆ ที่ร่วมมือกันพัฒนาชุมชนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
“สิ่งที่พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้นในวันนี้ ผมคิดว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับกระแสการเปลี่ยนแปลงการปฎิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพี่น้องคนไทยทุกคน และเป็นหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่จะร่วมสนับสนุน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรมของคนในสังคมทุกกลุ่ม และเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนในการอยู่อาศัยร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ผมขอแสดงความยินดี และขอมอบบ้านเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ และขอให้รักษาบ้านหลังนี้ให้อยู่ถึงชั่วลูกชั่วหลานต่อไป” รมว.พม. กล่าว
นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า พอช. ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ. 2559 - 2568) ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนจนในชุมชนแออัดทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายภายใน 10 ปีข้างหน้า จำนวน 700,000 หน่วย รวม 1,310 เมือง นอกจากนี้ ยังมีแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองในเขตกรุงเทพฯ ตามนโยบายการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม โดยมีแผนงาน 3 ปี (พ.ศ. 2559 - 2561) รองรับประชาชน รวม 74 ชุมชน จำนวน 11,004 ครัวเรือน มีผู้รับผลประโยชน์ 64,869 คน ใช้งบประมาณรวม 4,061 ล้านบาทเศษ ส่วนโครงการบ้านมั่นคงชุมชนตรอกวังหลังต้นโพธิ์นี้เป็นโครงการที่ทาง พอช.ดำเนินการร่วมกับชาวชุมชนมาตั้งแต่ปี 2554
โดยในปี 2553 มีผู้นำชุมชนบางคนร่วมกับกลุ่มนายทุนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อจะนำที่ดินที่ชาวบ้านเช่าอยู่อาศัยไปทำธุรกิจ เนื่องจากที่ดินอยู่ใกล้ รพ.ศิริราช และแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นย่านค้าขาย ชาวชุมชนจึงรวมตัวกันตั้งกลุ่มชื่อ “ชุมชนกลุ่มชาววังหลังต้นโพธิ์” เพื่อคัดค้านและต่อต้านกลุ่มนายทุนที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์ โดยชาวตรอกวังหลังต้นโพธิ์ ได้เจรจาขอเช่าพื้นที่ดังกล่าวโดยตรงกับกรมธนารักษ์ เนื้อที่ทั้งหมด 1 ไร่ 42 ตารางวา เพื่อจะได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงกับทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยมีรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ในที่ดินเดิม
ส่วนเงื่อนไขการเช่าที่ดิน คือ เช่าเพื่อที่อยู่อาศัยและเชิงธุรกิจ รวม 33 หลังคาเรือน โดยมีแบบบ้าน 1 ขนาด คือ บ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 42 ตารางเมตร ราคาหลังละ 240,580 บาท สหกรณ์ฯ ได้เสนอสินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 เพื่อปลูกสร้างบ้าน จำนวน 6.1 ล้านบาทเศษ และ พอช.สนับสนุนงบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งสิ้น 2 ล้านบาทเศษ และชุมชนได้ก่อสร้างบ้านเสร็จทั้งหมดในช่วงกลางปี 2558 ที่ผ่านมา
“ชุมชนตรอกวังหลังต้นโพธิ์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะแสดงให้คนทั่วไปได้เห็นว่า คนเมืองเมื่อมีการรวมตัวกันได้อย่างเข้มแข็งแล้วนั้น ก็สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้จริง ทำให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีอาชีพที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ และทุกคนได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันพัฒนาชุมชนของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งชุมชนตั้งอยู่ในย่านธุรกิจการค้า แต่ยังอนุรักษ์การออกแบบบ้านให้สอดคล้องกับเมืองเก่า เมืองท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต สิ่งสำคัญนับจากนี้ ชาวบ้านในชุมชนตรอกวังหลังต้นโพธิ์จะต้องมีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่แห่งนี้ และเร่งสร้างจิตสำนึกของความหวงแหนเพื่อรักษาเอาไว้เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานต่อไป” ผอ.พอช. กล่าว
นายทวีชัย เพิ่มพูน แกนนำชุมชน กล่าวว่า ชุมชนตรอกวังหลังฯ เช่าที่ดินอยู่อาศัยจากกรมธนารักษ์มาก่อนปี 2500 ต่อมาในปี 2510 ชุมชนได้เกิดไฟไหม้ หลังจากนั้น กรมธนารักษ์ได้ยกเลิกสัญญาเช่าที่ดิน ทำให้ชาวบ้านบางส่วนได้ย้ายออกไป แต่ก็ยังมีชาวชุมชนปลูกสร้างที่อยู่อาศัยต่อมาเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าอย่างถูกต้อง และต่อมาชุมชนได้กลายสภาพเป็นชุมชนแออัดทรุดโทรม ต่อมาในปี 2553 มีกลุ่มนายทุนจะเข้ามาเช่าพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยเพื่อทำธุรกิจ ชาวชุมชนจึงได้ร่วมกันต่อสู้ โดยมีพี่น้องจากเครือข่ายชุมชนต่างๆ เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงจึงทำให้ชุมชนสามารถเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ได้ในปี 2554
หลังจากนั้น ชาวชุมชนจึงได้จัดตั้งสหกรณ์เคหสถานและได้ร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นกองทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชน โดยมีสมาชิกจำนวน 33 ครัวเรือน แยกเป็นเงินหุ้นจำนวน 147,900 บาท เงินออมเพื่อที่อยู่อาศัย และเงินสวัสดิการชุมชน จำนวน 11,010 บาท รวมมีเงินออมปัจจุบัน 158,910 บาท สามารถเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ได้ ระยะเวลา 30 ปี ปัจจุบันปลูกสร้างบ้านแล้วเสร็จ จำนวน 33 หลังคาเรือน มีที่ทำการสหกรณ์ 1 หลัง โดยชาวบ้านแต่ละหลังจะต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินเดือนละ 590 บาท และผ่อนชำระเงินกู้สร้างบ้านกับ พอช. ประมาณเดือนละ 1,750 บาท ระยะเวลา 15 ปี รวมแล้วชาวบ้านมีภาระในการผ่อนบ้านและเช่าที่ดินเพียงเดือนละ 2,360 บาท ขณะที่ค่าเช่าห้องเพื่อค้าขายในย่านนี้มีราคาไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและสามารถใช้เป็นทำเลค้าขายเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้
“ส่วนแผนงานการพัฒนาชุมชนต่อไปนั้น สหกรณ์ฯ ได้จัดสวัสดิการชุมชนในการดูแลสมาชิก ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย นอกจากนี้ ก็จะส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและอาชีพให้กับสมาชิกเพื่อให้มีรายได้ โดยอยู่ระหว่างการจัดสรรที่ดินในการใช้ประโยชน์เพื่อประกอบอาชีพค้าขายให้กับสมาชิกในชุมชน รวมทั้งอาจจะจัดทำเป็นพื้นที่แสดงศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น และจะส่งเสริมความเข้มแข็งเพื่อรักษาบ้านให้อยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืนตลอดไป” แกนนำชุมชนตรอกวังหลังต้นโพธิ์ กล่าวในตอนท้าย