xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสความสำเร็จ “ชะลอไตเสื่อม” ปทุมธานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในไทยมีประมาณ 7.6 ล้านคน ที่น่าห่วงคือ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 70,000 คน ซึ่งจำเป็นต้องบำบัดทดแทนไต เช่น ล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือด ส่งผลกระทบทั้งงบประมาณในการรักษา เฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อคนต่อปี และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเอง เพราะต้องบำบัดทดแทนไตไปตลอดชีวิต

การตรวจคัดกรองประชาชนเพื่อประเมินสมรรถภาพการทำงานของไต และจัดระบบการดูแลรักษาให้เหมาะสมกับระยะเวลาการเจ็บป่วย เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จึงเป็นแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังเร่งดำเนินการ โดยกำหนดให้โรคไตเป็น 1 ใน 13 สาขาหลักที่จะต้องเร่งพัฒนาระบบบริการให้มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการจัดบริการ “คลินิกชะลอไตเสื่อม” ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมด้วยสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และนักโภชนาการ ผลการศึกษาพบว่าช่วยยืดระยะเวลาไตเสื่อมออกไปได้ถึง 7 ปี และจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาได้ประมาณจังหวัดละ 200 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ เครือข่ายคลินิกชะลอไตเสื่อมปทุมธานี ถือเป็นต้นแบบการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จสูงระดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งล่าสุดได้รับรางวัล Best Extra-institutional Research Award จากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งความสำเร็จของการดำเนินงานนั้น รศ.พญ.สิริภา ช้างศิริกุลชัย อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มองว่า เพราะมีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายทั้งจังหวัด โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาร่วมกันดำเนินงานในเรื่องนี้ หลัก ๆ คือ ฝ่ายนโยบาย คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ฝ่ายผู้ให้บริการ คือ โรงพยาบาลทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รวมไปถึงฝ่ายวิชาการที่มาช่วยให้ความรู้ในการดำเนินงาน คือ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มศว

การทำงานเริ่มในปี 2555 โดยมีการประชุมหารือกับทุกหน่วยงาน เพื่อกำหนดแผนงาน บทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน อย่างในส่วนของ สสจ. ก็จะจัดทำระบบในการดำเนินงาน ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะเน้นคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นหลัก เพื่อค้นหาภาวะไตเสื่อม พร้อมให้คำแนะนำและความรู้ผู้ป่วย รวมถึงติดตามดูแลเยี่ยมบ้าน ส่วนโรงพยาบาลชุมชน ก็ดำเนินการคัดกรองและให้การดูแลรักษาตั้งแต่ระยะต้นจนถึงระยะท้าย ๆ ที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน หรือยังไม่ต้องล้างไต โดยการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อลดการฟอกเลือดแบบฉุกเฉินและ ลดผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่ให้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการล้างไต ซึ่งจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายอย่างมาก ซึ่งมีการดูแลทั้งเรื่องของโภชนาการ การใช้ยาต่าง ๆ เพื่อชะลอความเสื่อมของไต

รศ.พญ.สิริภา กล่าวอีกว่า แต่หากต้องบำบัดทดแทนไตก็จะส่งต่อมายังโรงพยาบาลจังหวัด คือ รพ.ปทุมธานี และช่วยดูแล รพ.ชุมชน ว่า มีปัญหาในการดำเนินการหรือไม่ ส่งผู้ป่วยมารวดเร็วหรือไม่ โดยมีระบบฟาสต์แทร็กที่สามารถส่งผู้ป่วยมาได้โดยไม่ต้องรอตามขั้นตอน ซึ่งการทำงานเป็นเครือข่ายเช่นนี้จะช่วยให้ดำเนินงานได้ครอบคลุมและเป็นภาระแก่โรงพยาบาลจังหวัดมากเกินไป ขณะที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็เข้ามามีส่วนร่วมในการอบรมวิชาการให้แก่โรงพยาบาลในแต่ละระดับ การทำสื่อความรู้ต่าง ๆ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยดูว่าเกิดปัญหาอะไรหรือไม่

ทั้งนี้ การดำเนินงานของปทุมธานี ซึ่งมีความพิเศษและทำให้ได้รับรางวัล รศ.พญ.สิริภา มองว่า น่าจะเป็นเพราะดำเนินงานดังกล่าวจนทำให้ฝังเข้าระบบกลายเป็นงานประจำได้ และเป็นการดูแลประชาชนในเขตเมือง ซึ่งบริบทถือว่ามีความยากมากกว่า และการดำเนินงานสามารถทำได้อย่างยั่งยืน ขณะที่อุบัติการณ์ในการมารับการบำบัดทดแทนไต ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากร้อยละ 3.4 ในปี 2557 เหลือเพียงร้อยละ 1.8 ในปี 2558

อีกหน่วยงานหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินงานเครือข่ายคลินิกชะลอไตเสื่อมของ จ.ปทุมธานี จนประสบความสำเร็จ โดย นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช. เขต 4 กล่าวว่า งบประมาณถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงาน ซึ่ง สปสช. เขต 4 จะมีงบให้แต่ละจังหวัดในเขตจังหวัดละ 50,000 บาท เพื่อสนับสุนนการดำเนินงานการจัดทำคลินิกชะลอไตเสื่อม และมีงบจาก สปสช. ส่วนกลางในการสนับสนุนงานด้านวิชาการผ่านศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในการมาช่วยให้อบรม ให้ความรู้แก่บุคลากรด้วยอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งการลงทุนในการทำคลินิกเพื่อชะลอไตเสื่อมนี้ถือว่ามีความคุ้มค่าและคุ้มทุน เพราะหากต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดทดแทนไต ก็จะต้องทำไปตลอดชีวิต ซึ่งงบประมาณในการดูแลรักษาถือว่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากป้องกันและชะลอการเข้าสู่ระยะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายออกไปได้ก็จะช่วยได้เป็นอย่างมาก

“สิ่งสำคัญที่ทำให้เครือข่ายคลินิกชะลอไตเสื่อมปทุมธานีประสบความสำเร็จ มองว่า เพราะผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายยืนหยัดที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะฝ่าย สสจ. ที่ต้องทำงานอย่างเข้มแข็ง รวมไปถึงฝ่ายโรงพยาบาลที่ดำเนินการคัดกรองและดูแลผู้ป่วยอย่างเข้มข้นในการชะลอไตเสื่อมให้แก่ผู้ป่วย” นพ.ชลอ กล่าว

สำหรับการป้องกันไตเสื่อมสำหรับประชาชนทั่วไป รศ.พญ.สิริภา แนะนำว่า บุคคลที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะไตเสื่อม และเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ จึงต้องควบคุมอาการของโรคเบาหวานและความดันให้อยู่ในเกณฑ์ดีก็จะช่วยป้องกันได้ ส่วนคนที่ไตเสื่อมแล้วก็ต้องลดอาหารเค็ม จำกัดการใช้ยาที่ส่งผลกระทบต่อไต รวมถึงต้องดูแลสุขภาพจิตให้เข้มแข็ง พยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด สำหรับคนที่ยังมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง ต้องคอยหมั่นตรวจสุขภาพโดยเฉพาะไต ซึ่งตรงนี้จะมาตามอายุ เพราะยิ่งอายุมากความเสี่ยงก็ยิ่งมาก โดยเฉพาะการป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดัน นอกจากนี้ ก็ควรงดสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารเค็ม การรับประทานยาแก้ปวดที่ส่งผลเสียต่อไตด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น