ฉะเชิงเทรา - สหวิชาชีพหลายสาขาร่วมตรวจที่พักอาศัย แนะให้ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคลดลง พร้อมตรวจสอบหาแมลงตามร่างกายของหนุ่มผู้ป่วยด้วยโรคตุ่มคันกึ่งเรื้อรัง แต่ยังไม่พบว่ามีแมลงออกมาจากร่างกายอีก ขณะนักกีฏวิทยา เก็บรายละเอียดจากรอยแผลกลับไปตรวจสอบทั้งหมด ด้านแพทย์ระบุอาการผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ ขณะผลการตรวจชิ้นเนื้อคาดทราบผลในสัปดาห์หน้า
วันนี้ (2 มิ.ย.) นพ.สมชาย หาญไชยพิบูลย์กุล รักษาราชการแทน ผอ.รพ.พุทธโสธร กล่าวเปิดเผยถึงการลงพื้นที่เข้าไปติดตามดูอาการของผู้ป่วยโรคผิวหนังกึ่งเรื้อรัง ซึ่งเป็นชายวัย 39 ปี ที่อ้างว่า มีแมลงออกมาจากใต้ผิวหนังตามร่างกาย ยังที่บ้านพักเลขที่ 168/1 ถ.ริมคลองท่าไข่ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยคณะสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องหลายสาขา ประกอบด้วย ดร.วรรณภา ฤทธิสน น.ส.มะลิวัลย์ สุรินทร์ นักกีฏวิทยาจากศูนย์ควบคุมโรค เขต 6 จ.ชลบุรี
น.ส.ปรียาพร เทือกสุบรรณ น.ส.สุริสา แน่นอุดร นักกีฏวิทยาจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง เขต 2 ศรีราชา จ.ชลบุรี พร้อมทีมแพทย์ผู้เกี่ยวข้องจาก รพ.พุทธโสธร ประกอบด้วย นพ.สมชาย หาญไชยพิบูลย์กุล รักษาการ ผอ.รพ. พญ.วัลลียา เมฆะสุวรรณดิษฐ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง นางประภาศรี สังข์ศรีทวงษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ นางปวิตตา ทุยดอย นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ เจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานเวชกรรมสังคม รพ.ชุมชน 5 คน และตัวแทนจากสาธารณสุขจังหวัด 1 คน จากสาธารณสุขอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา 1 คน ว่าได้ลงพื้นที่เข้าไปติดตามดูอาการของผู้ป่วยรายดังกล่าวแล้ว เมื่อวานนี้ (1 มิ.ย.)
โดยดูทั้งสภาพแวดล้อมภายในบริเวณบ้าน และดูอาการที่ปรากฏตามร่างกายของผู้ป่วย โดยนักกีฏวิทยาได้เข้าไปทำการเก็บตัวอย่างทุกชิ้นส่วนที่ผู้ป่วยบอกว่าเป็นสิ่งที่ออกมาจากบาดแผลตุ่มคันตามร่างกายของตนเอง ซึ่งมีด้วยกันหลายลักษณะตามที่ผู้ป่วยบอก แต่ก็ยังไม่พบว่า มีแมลงออกมาจากรอยแผลที่เกิดจากตุ่มคันของผู้ป่วยที่ชัดเจนนัก เป็นเพียงการเก็บชิ้นส่วน และเศษบาดแผลซึ่งมีลักษณะเป็นชิ้นดำๆ ตามที่ผู้ป่วยบอกว่ามีอาการคัน และออกมาจากรอยแผล ในขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าไปทำการตรวจสอบเก็บตัวอย่างนำกลับไปตรวจเท่านั้น แต่ก็ยังไม่เห็นชัดเจนว่ามีแมลงเป็นตัวไต่ออกมา ซึ่งสิ่งที่พบมีเพียงรอยจุดดำๆ ที่ผิวหนังเท่านั้น
และในส่วนที่คนไข้บอกว่า เป็นแมลงนั้น นักกีฏวิทยาทั้ง 4 ท่าน ก็ได้เก็บกลับไปทุกชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนในลักษณะใดๆ ก็ตามที่ออกมาจากรอยแผลเพื่อนำกลับเอาไปพิสูจน์ว่าเป็นตัวแมลง หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของแมลงจริงๆ หรือไม่
ด้าน พญ.วัลลียา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง กล่าวว่า ในส่วนของการเก็บตัวอย่างของแมลงจากผู้ป่วยนั้น ได้ทำการเก็บแมลงภายในบริเวณบ้านของผู้ป่วยที่พบเห็นเกือบทุกชนิดมาด้วย เพื่อนำไปส่งตรวจพร้อมกัน ส่วนอาการของคนไข้นั้น ในส่วนของผื่นคันได้แห้งลง ส่วนอาการติดเชื้อของรอยแผลพุพองที่เคยเป็นหนองก็ได้แห้งลงหมดแล้ว และอาการคันก็ยังลดลงตามไปด้วย ซึ่งคนไข้ยังคงรับประทานยาที่ได้ให้ไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 พ.ค.) อย่างต่อเนื่องดี และพร้อมที่จะมาทำการตรวจรักษาตามนัดอีกครั้งในวันที่ 6 มิ.ย.นี้
ส่วนในเรื่องของการดูแลตัวเองของผู้ป่วยนั้น ทราบว่า ยังไม่ได้กลับไปลงน้ำ หรือหาจับปลาอีก และยังดูแลทำความสะอาดรอยแผลตามคำแนะนำเป็นอย่างดีแล้ว โดยคนไข้ได้พึงพอใจต่ออาการดีขึ้นตามลำดับแล้ว โดยรอยแผลแห้งเกือบทั้งหมด จะมีบางจุดเท่านั้นที่ยังเป็นสะเก็ดแผลอยู่ ส่วนยาที่จ่ายไปให้ใหม่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นยาตัวเดียวกันกับในครั้งแรกที่คนไข้เข้ามาทำการรักษาอาการยัง รพ.พุทธโสธร โดยมีการเพิ่มยาคลายความกังวลให้แก่คนไข้กลับไปอีกหนึ่งชนิดเท่านั้น ซึ่งหากคนไข้ไม่กลับไปลงน้ำสกปรกใหม่ หรือไปอยู่ในภาวะที่มีตัวกระตุ้นใหม่อีกครั้งก็คาดว่าคนไข้จะหายได้ภายในระยะเวลาอันสั้นนี้
โดยในตอนนี้ยังคงยืนยันว่า ผู้ป่วยนั้นป่วยด้วยโรคผื่นคัน และมีการติดเชื้อซ้ำ และยังอยู่ในระหว่างสำรวจหาแมลงที่พบในบริเวณบ้านว่าจะเป็นแมลงที่เกี่ยวข้องต่ออาการคันนี้ด้วยหรือไม่ โดยนักกีฏวิทยาจากทั้ง 2 หน่วยงานที่เข้ามาร่วมตรวจสอบนั้น กำลังสืบสวนในเบื้องต้นอยู่ โดยที่นักกีฏวิทยานั้นยังไม่เห็นว่ามีแมลงออกมาจากบาดแผลชัดเจน จากการเฝ้ารอสังเกตอาการประมาณ 2 ชม. เพื่อจะจับตัวแมลงกลับมาพิสูจน์ และแผลก็ยังแห้งลงหมดแล้วด้วย พญ.วัลลียา กล่าว