xs
xsm
sm
md
lg

หมอทำศัลยกรรม “เฒ่ายุ่น” หนีคดีไม่ผิด แพทยสภาเร่งออกระเบียบตรวจประวัติก่อนผ่าใบหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทยสภา ยัน “หมอ” ทำศัลยกรรมเฒ่ายุ่นหนีคดีไม่ผิด เหตุไม่มีระเบียบบังคับต้องตรวจสอบคดีก่อนทำหน้า เผย อยู่ระหว่างร่างระเบียบต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนผ่าตัดใบหน้า จี้รัฐตรวจสอบม่านตา - ลายนิ้วมือ หลังคนโขกหน้าเพื่อความงามกลับเข้าประเทศไม่ได้ เหตุหน้าตาเปลี่ยน

จากกรณีสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ได้จับกุม นายยาซูโอะ ทะสึบากิ อายุ 62 ปี สัญชาติญี่ปุ่น ที่หนีมากบดานในไทยหลังก่อคดีปั่นหุ้นจนตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท แล้วมีการทำศัลยกรรมใบหน้าเฟซออฟ (Face Off) จนไม่มีใครจำได้นั้น

วันนี้ (1 ส.ค.) ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า จากการที่ตำรวจได้สอบปากคำ ชายชาวญี่ปุ่นรายนี้ได้ให้ข้อมูลว่า ได้ทำศัลยกรรมใบหน้าที่ประเทศไทย แต่ยังไม่ทราบว่าทำสถานบริการใด แต่จากการพิจารณาแล้ว เป็นการทำศัลยกรรมใบหน้าโดยทั่วไป ไม่ใช่เฟซออฟ ส่วนที่ว่าแพทย์ผู้ทำศัลยกรรมให้แก่ผู้ที่มีคดีติดตัวจะมีความผิดหรือไม่นั้น ต้องชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีกฎระเบียบใดที่ระบุชัดว่า ก่อนการทำศัลยกรรม หรือการผ่าตัดใบหน้านั้นจะต้องมีการขออนุญาตใคร ใครสามารถทำได้บ้าง หรือต้องมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนที่จะทำ จึงไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะแพทย์เองก็คงไม่ทราบ ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยเองก็ได้มีการสอบถามมายังแพทยสภาเช่นกัน ว่า ไม่มีระเบียบหรือกฎเกณฑ์ใดในการตรวจสอบก่อนทำศัลยกรรมหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี แต่แพทยสภาอยู่ระหว่างกำลังร่างระเบียบขึ้นมาใหม่ว่าก่อนการทำศัลยกรรมใบหน้านั้นอาจต้องมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนด้วย เพื่อป้องกันในเรื่องของการก่ออาชญากรรมหรือการหนีคดี เป็นต้น

“จริง ๆ แล้วการทำศัลยกรรมใบหน้าเพื่อความสวยงามถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่บุคคลทั่วไปจะทำได้ แต่ในส่วนของแพทย์แล้วอาจจะต้องมีการระเบียบออกมาเพื่อตรวจสอบก่อนการทำศัลยกรรมใบหน้าให้แก่ใครก็ตาม ต้องมีการตรวจสอบประวัติก่อน เพื่อป้องกันเรื่องของอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม อีกส่วนที่ควรมีการแก้ไขคือการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคล เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการทำศัลยกรรมใบหน้าเพื่อความงามแล้วปรากฏว่าใบหน้าเปลี่ยนไป ใบหน้าไม่เหมือนคนเดิม ทำให้มีปัญหาเรื่องการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งการทำศัลยกรรมเพื่อความงามนี้ก็ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ ซึ่งภาครัฐต้องแก้ระเบียบในการรองรับด้วย เพราะต่างประเทศก็มีการตรวจสอบโดยใช้การตรวจม่านตา และลายนิ้วมือทั้งสิบนิ้ว ซึ่งอย่างไรก็สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ ไม่ใช่แค่ตรวจสอบจากใบหน้าเพียงอย่างเดียว” นายกแพทยสภา กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น