xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 พ.ย.2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“ในหลวง” ถุงเนื้อเยื่อบนผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ แพทย์ต้องถวายพระโอสถต่อเนื่องอีกระยะ!
แถลงการณ์สำนักพระราชวังเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับ 8
สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 8 เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา รายงานว่า ตามที่ได้มีแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เมื่อปี พ.ศ. 2542 ว่า การถวายส่องกล้องตรวจทางพระทวารหนัก พบถุงเนื้อเยื่อขนาดเล็กบนผนังพระอันตะ(ลำไส้ใหญ่) และต่อมาทรงมีอาการอักเสบของถุงเนื้อเยื่อบนผนังพระอันตะ(ลำไส้ใหญ่) ในปี พ.ศ. 2550 2554 และ 2555 ตามที่ได้แถลงการณ์ให้ทราบทั่วกันมาแล้ว

ในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอาการแน่น และเจ็บพระนาภี(ท้อง) หายพระหทัยเร็วขึ้นเล็กน้อย และมีพระปรอท(ไข้) ผลการตรวจพระหทัยด้วยเครื่องไฟฟ้าไม่ปรากฏว่ามีการผิดปกติ ผลการตรวจพระโลหิต รวมทั้งการตรวจพระโลหิตด้วยวิธีพิเศษ และเอกซเรย์พระนาภี(ท้อง) แสดงว่ามีการอักเสบของถุงเนื้อเยื่อขนาดเล็กบนผนังพระอันตะ(ลำไส้ใหญ่) คณะแพทย์จึงได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะ ซึ่งทำให้พระปรอท(ไข้) ลดลงแล้ว แต่ต้องถวายพระโอสถต่อเนื่องอีกสักระยะหนึ่ง และถวายพระกระยาหารที่เหมาะสมกับพระโรคนี้ จนกว่าพระอาการอักเสบจะทุเลาลงจนเป็นปกติ

อนึ่ง คณะแพทย์ได้อธิบายว่า การอักเสบของถุงเนื้อเยื่อบนผนังพระอันตะ(ลำไส้ใหญ่) อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ซึ่งเป็นวันลอยกระทง นายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ได้เชิญพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ลงเรือจู่โจมลำน้ำของกองทัพเรือที่ได้มาเทียบรอไว้บริเวณท่าน้ำของโรงพยาบาลศิริราช ก่อนที่จะแล่นไปกลางลำน้ำเจ้าพระยาตรงด้านหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้เชิญพระประทีปลงสู่ท้องน้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางประชาชนที่คอยเฝ้าดูอย่างใจจดใจจ่อ นอกจากนี้พระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และโปรดให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเชิญพระประทีปไปลอยที่ท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราชด้วย

2.กมธ.ยกร่าง รธน.ครบ 36 แล้ว หลัง คสช.-ครม.เคาะ 11 ชื่อสุดท้าย พร้อมตั้ง “บวรศักดิ์” ปธ.ตามคาด!

บรรยากาศขณะนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ นำกรรมาธิการยกร่างฯ เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกต(5 พ.ย.)
ความคืบหน้าการสรรหากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน หลังจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้คัดเลือกกรรมาธิการยกร่างฯ ในส่วนของ สปช.จำนวน 20 คนแล้วเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คัดเลือกกรรมาธิการยกร่างฯ ในส่วนของ สนช.จำนวน 5 คนเมื่อวันที่ 30 ต.ค. จึงยังเหลือกรรมาธิการยกร่างฯ ในส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) 5 คน บวกประธานกรรมาธิการยกร่างฯ อีก 1 คน และกรรมาธิการยกร่างฯ ในส่วนของคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีก 5 คน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้นัดประชุมร่วม คสช.-ครม.เพื่อเลือกกรรมาธิการยกร่างฯ ในวันที่ 4 พ.ย.ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ต้องเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ครบ 36 คนภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ สปช.ประชุมนัดแรกนั้น

ปรากฏว่า หลังการประชุมร่วมระหว่าง คสช.-ครม.เมื่อวันที่ 4 พ.ย.แล้วเสร็จ พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช.แถลงว่า ที่ประชุมร่วมได้เห็นชอบรายชื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ คสช.และ ครม.ที่จะเสนอต่อ สปช.แล้ว โดยในส่วนของ คสช.ประกอบด้วย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนกรรมาธิการยกร่างฯ อีก 5 คน ประกอบด้วย นายสุจิต บุญบงการ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,นายจรูญ อินทจาร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ,นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภาและอดีตประธานศาลอุทธรณ์ ,นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และนายกฤต ไกรจิตติ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ

ส่วนรายชื่อกรรมาธิการยกร่างฯ ในส่วนของ ครม.5 คน ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ,นายเจษฏ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ,นายปกรณ์ ปรียากร อดีตโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ,นพ.กระแส ชนะวงศ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายวิชัย ทิตตภักดี ประธานคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า รายชื่อกรรมาธิการยกร่างฯ ทั้ง 11 คนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนเลือกด้วยตัวเอง ส่วนตนช่วยทำหน้าที่ตรวจสอบเท่านั้น และว่า ที่ประชุมร่วมมีการสอบถามที่มาของแต่ละบุคคลเท่านั้น ไม่มีเรื่องขัดแย้งอะไร ผู้สื่อข่าวถามว่า มีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังจะยกร่างเป็นฉบับ “บวรศักดิ์” นายวิษณุ บอกว่า ยังไม่เห็นว่ามีการกล่าวหาอะไร แต่มองว่ารัฐธรรมนูญไม่มีสี หรือตาบอดสี ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจถูกตั้งฉายาว่า รัฐธรรมนูญสีชมพู หรือฉบับจุฬาฯ-นิด้า คอนเน็กชั่น นายวิษณุ กล่าวว่า หากไปดูรายชื่อบุคคลจะเห็นว่ามีหลายสี ทั้งเขียว เหลือง แดง ชมพู ยืนยันว่าเมื่อตั้งบุคคลขึ้นมา ไม่ได้นึกเลยว่าใครสีหรือคอนเน็กชั่นอะไร เพราะทุกคนมีด้วยกันทั้งนั้น แต่มีคอนเน็กชั่นไม่เป็นไร ขออย่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดหรือการวางแผนลับก็แล้วกัน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.พูดถึงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 11 คนว่า เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางกฎหมาย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องฟังข้อคิดเห็นจาก สปช.ด้วย และฟังเสียงจากภาคประชาชนว่า จะมีอะไรทำให้ลดความขัดแย้งในอนาคตได้และสร้างธรรมาภิบาลในระบบบริหารราชการแผ่นดินให้ได้ ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลที่เลือกนายบวรศักดิ์เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างฯ พล.อ.ประยุทธ์ ถามกลับว่า “เขาไม่เด่นตรงไหน… ผมก็เห็นจากสื่อ… ผมตั้งตามมติของที่ประชุม ซึ่งเขามีการคัดเลือกคัดสรรกันภายในมาแล้ว… ผมไม่ได้หมายความว่าใครจะเก่ง ไม่เก่ง ทุกคนเก่งกันหมด เป็นได้หมดทุกคน ถามว่าประธานคนเดียวชี้ได้หมดทุกอย่างหรืออย่างไร… เวลามีการประชุมอะไร ประธานก็สั่งไม่ได้หรอก ต้องเป็นเรื่องของมติความเห็นชอบทั้ง 35 คน… ลองให้เวลาท่านทำงาน…”

ทั้งนี้ หลังได้รายชื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญครบทั้ง 36 คนแล้ว วันต่อมา(5 พ.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ได้นำกรรมาธิการจำนวน 30 คน เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตว่า จะจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม เป็นกลาง ปราศจากอคติ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนสูงสุด

3.สนช. มีมติ 87:75 รับถอดถอน “นิคม-สมศักดิ์” ด้าน “พรเพชร” นัดประชุมแถลงเปิดคดีถอดถอน 27 พ.ย.!

(บน) บรรยากาศการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 6 พ.ย.(ล่าง) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีต ปธ.รัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีต ปธ.วุฒิสภา
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน โดยมีวาระพิจารณาว่า จะรับหรือไม่รับสำนวนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ไว้พิจารณาถอดถอนหรือไม่ กรณีเสนอและดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เกี่ยวกับที่มา ส.ว.โดยส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ 2550 โดยการประชุมครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 หลังการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ไม่ได้ข้อสรุป

ทั้งนี้ นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.เสนอให้ประชุมลับ แต่สมาชิกบางคนไม่เห็นด้วย นายพรเพชรจึงให้สมาชิกลงมติว่าจะประชุมลับหรือไม่ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติ 96 ต่อ 1 คะแนน ให้ประชุมลับ เป็นที่น่าสังเกตว่า มีสมาชิกงดออกเสียงมากถึง 75 คน

หลังประชุมลับเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง ได้มีการลงมติลับว่าจะรับสำนวนจาก ป.ป.ช.ไว้พิจารณาถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์หรือไม่ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติ 87 ต่อ 75 ให้รับสำนวน ป.ป.ช.ไว้พิจารณา ขณะที่มีผู้งดออกเสียง 15 คน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 177 คน และมีผู้อภิปรายทั้งหมด 24 คน นายพรเพชร แถลงว่า สมาชิกอภิปรายในแง่หลักกฎหมายทุกแง่มุมว่า สนช.มีอำนาจพิจารณาถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์หรือไม่ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นว่ามีอำนาจและฝ่ายที่เห็นว่าไม่มี ก่อนมีมติเสียงข้างมากว่ามีอำนาจ

นายพรเพชร ยังได้นัดประชุม สนช.เพื่อพิจารณาคดีถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ โดยจะเป็นการแถลงเปิดคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐาน และตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาไต่สวนซักถามผู้ถูกกล่าวหา

ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ในฐานะผู้ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด พูดถึงกรณีที่ สนช.มีมติรับสำนวน ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาถอดถอนตนว่า คิดว่าสงครามยังไม่จบ ก็คงต้องสู้ต่อไป และคงต้องไปชี้แจง และว่า การที่ผลมติออกมา คะแนนรับกับไม่รับไว้พิจารณาไม่ห่างกันมากนัก บ่งชี้ถึงนัยยะบางอย่าง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าที่ สนช.จะประชุมเพื่อมีมติรับหรือไม่รับสำนวนของ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาถอดถอนนายนิคม-นายสมศักดิ์ มีกระแสข่าวว่า สนช.เสียงแตก มีทั้งที่เห็นว่ามีอำนาจรับและไม่มีอำนาจรับ ปรากฏว่า นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ได้ออกมาพูดถึงเรื่องดังกล่าวในโอกาสครบรอบ 1 ปีการชุมนุมของ กปปส.เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ว่า “หาก สนช.ไม่รับการถอดถอนนายนิคม-นายสมศักดิ์ไว้พิจารณา โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจ จะต้องเผชิญหน้ากับมวลมหาประชาชนแน่นอน โดยผมจะยื่นเรื่องถอดถอนตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 6 ดังนั้นขอเรียกร้องให้ คสช.เตือนสติไปยัง สนช.ว่าต้องทำหน้าที่ในการกำจัดทุจริต ไม่เช่นนั้นรัฐประหารจะเสียของ”

ทั้งนี้ คำพูดของนายถาวรถูกนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) มองว่า เป็นการขู่ว่าจะนำมวลชน กปปส.ออกมากดดัน สนช.ให้รับสำนวนถอดถอนนายนิคม-นายสมศักดิ์ นายวรชัย จึงออกมาสวนกลับนายถาวรว่า ออกมาข่มขู่เหมือนนักเลงอันธพาลในรูปแบบเดิมๆ ถ้า สนช.ทำตาม เท่ากับสมรู้ร่วมคิด และว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็ถือว่าร่วมด้วย ในฐานะที่เลือก สนช.เข้ามา และอยากถามว่าขณะนี้ยังมีกฎอัยการศึกอยู่ จะไม่ใช้หรืออย่างไร ถ้า กปปส.ออกมา นปช.ก็จะออกมาบ้าง จะนั่งรอให้เขาเอามีดมาปาดคอได้อย่างไร จะวนไปสู่เหตุการณ์ก่อนปฏิวัติ และจะซ้ำรอยปฏิวัติ 2549 ที่ไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่ซ้ำเติมปัญหาให้หนักกว่าเดิม เพราะไม่ได้สร้างความเป็นธรรม แต่มุ่งไล่ล่าทำลายล้าง ขจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ด้านนายถาวร ได้ออกมาโต้นายวรชัย โดยยืนยันว่า ตนไม่ได้ข่มขู่ แต่การที่ตนบอกว่า สนช.มีอำนาจรับสำนวน ป.ป.ช.ไว้พิจารณาถอดถอนนายนิคม-นายสมศักดิ์นั้น เป็นการพูดถึงข้อกฎหมายมหาชนที่ต้องตีความอย่างกว้างเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และว่า นายสมศักดิ์และนายนิคมมีการใช้อำนาจในทางที่ผิดไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศ โดยไม่มีใครหรือชาติใดในโลกทำกัน

ทั้งนี้ การตอบโต้กันไปมาของนายถาวรและนายวรชัย ทำให้รัฐบาลเกรงว่าจะมีการชุมนุมของ กปปส.และ นปช.ขึ้นอีกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จึงได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการนำมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาใช้เพื่อปรามกลุ่มเคลื่อนไหว ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรา 44 ว่า ขั้นตอนการประกาศใช้คือ คสช.ประชุมกันแล้วมีมติให้ใช้ ก็แจ้งให้ ครม.และ คสช.ทราบ โดยหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ซึ่งความเป็นรัฏฐาธิปัตย์จะกลับมา แต่มีเงื่อนไข ต้องมีเหตุกระทบความมั่นคง หรือใช้เพื่อสร้างสรรค์ก็ได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายกฯ พูดถึงมาตรา 44 เป็นการยกกระบองขึ้นมาปรามการเคลื่อนไหวหรือไม่ นายวิษณุ บอกว่า ยังไม่ยก แค่ชี้ให้ดูว่านี่กระบอง มีนะ มีกระบอง

4.อสส.ส่อยื้อสั่งคดี “ยิ่งลักษณ์” ละเลยทุจริตจำนำข้าว ด้าน “ทีดีอาร์ไอ” แฉตัวเลขทุจริตจำนำข้าว 1 แสนล้าน-ขาดทุนยับ 5.4 แสนล้าน!

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี , นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ได้มีการประชุมร่วมกันครั้งที่ 3 ระหว่างคณะทำงานของอัยการสูงสุด(อสส.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาสำนวนคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจาก 2 ครั้งแรกยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากฝ่ายอัยการสูงสุดต้องการให้ ป.ป.ช.สอบเพิ่มในบางประเด็น ทั้งนี้ หลังประชุมร่วมครั้งที่ 3 นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายอัยการสูงสุด เผยว่า ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากคณะทำงานร่วม ป.ป.ช. กับคณะทำงานอัยการสูงสุดยังเห็นแย้งกันในบางประเด็น ซึ่งทางอัยการสูงสุดต้องการให้สอบพยานเพิ่มเติม แต่ทาง ป.ป.ช. ยืนยันว่าสำนวนเดิมมีความสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว

นายวุฒิพงศ์ บอกด้วยว่า สำนวนคดีของ ป.ป.ช. เน้นเรื่องอดีตนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ในทางปฏิบัติของฝ่ายอัยการสูงสุด เมื่อมีสำนวนเข้ามาต้องพิจารณาให้สมบูรณ์ในทุกประเด็น โดยหลังจากนี้ ทางคณะทำงานของอัยการสูงสุดจะนำผลการหารือเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นอย่างไร และจะนัดประชุมครั้งต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้ นายวุฒิพงศ์ ยืนยันว่า ขณะนี้ ยังไม่ถึงกระบวนการที่ ป.ป.ช.จะสามารถฟ้องร้องคดีนี้ต่อศาลด้วยตนเองได้

ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่าย ป.ป.ช. กล่าวยอมรับว่า การประชุมครั้งนี้ยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ เพราะ ป.ป.ช. ทำตามที่ฝ่ายอัยการสูงสุดขอมาทั้งหมดไม่ได้ เนื่องจากยังมีปัญหาข้อกฎหมายที่เห็นต่างกันบางส่วน ทางฝ่ายอัยการสูงสุดจึงบอกว่าจะต้องกลับไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง และจะต้องคุยกันใหม่ ส่วนที่นายวุฒิพงศ์ ระบุว่า คณะทำงานฝ่าย ป.ป.ช. แข็งนั้น นายสรรเสริญ บอกว่า เพราะเราไม่ยอม เนื่องจากเห็นว่าสำนวนหลักฐานในคดี ข้อไต่สวนต่างๆ เป็นหลักฐานที่เพียงพอต่อการดำเนินคดีแล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสอบพยานเพิ่มนั้น ป.ป.ช. รับที่จะไปทำบางส่วนให้ แต่บางส่วนที่เหลือยืนยันว่าทำไม่ได้ นายสรรเสริญ ยังบอกด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ ไม่ได้เรียกว่าจบไม่สวย แต่ยังไม่จบ เพราะต่างคนต่างยืนยันในหลักการของตนเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) และหัวหน้าโครงการ "การคอร์รัปชั่นกรณีการศึกษาโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด" ได้เผยตัวเลขการทุจริตและการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวไว้อย่างน่าสนใจระหว่างงานสัมมนา "สู่แนวคิดใหม่ของนโยบายอุดหนุนภาคเกษตร บทเรียนจากนโยบายจำนำข้าว" ว่า โครงการจำนำข้าวปี 2554-2557 นั้น ถือเป็นโครงการแทรกแซงตลาดข้าวไทยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยรัฐบาลขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวทั้งสิ้น 5.4 แสนล้านบาท ซึ่งใช้เงิน 9.85 แสนล้านบาทไปกับการซื้อข้าวจำนวน 54.4 ล้านตัน โดยหากรวมปัญหาข้าวในสต็อกรัฐบาลกว่า 18 ล้านตัน พบว่าข้าวร้อยละ 85 ไม่ผ่านมาตรฐาน

และหากตีราคาข้าวที่อยู่ในสต็อกรัฐบาลขณะนี้ที่ 7,500 บาทต่อตัน เท่ากับว่ารัฐบาลจะขาดทุน 6.6 แสนล้านบาท ยิ่งถ้าใช้เวลาขายข้าวนาน 10 ปี ภาระขาดทุนจะเพิ่มเป็น 9.6 แสนล้านบาท จากค่าเก็บดูแลรักษาสต็อกข้าว "ต้นตอของการขาดทุนจำนวนมหาศาลเกิดจากการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดถึง 50% แต่ขายข้าวในราคาต่ำ และการทุจริตโดยขายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาดมาก โดยจากการขาดทุน 6.6 แสนล้านบาทพบว่า ขาดทุนจากการอุดหนุนผู้ผลิต 45% ขาดทุนจากการอุดหนุนผู้บริโภค 22% ขาดทุนจากการดำเนินงาน 19% และขาดทุนจากการขายให้พรรคพวกในราคาถูก 14 %"

นายนิพนธ์ ยังบอกอีกว่า พฤติกรรมการทุจริตของรัฐบาลคือ 1.รัฐบาลขายข้าวในโกดังให้พรรคพวกในราคาต่ำ โดยโกหกว่าขายข้าวรัฐต่อรัฐ 1.76 ล้านตันในปี 2555 และ 7-8 ล้านตัน ในปี 2555-56 และปิดบังข้อมูล โอนกิจกรรมการออกใบอนุญาตส่งออกข้าวขาวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทำให้ไม่ทราบว่าบริษัทพรรคพวกส่งออกข้าวจำนวนและราคาเท่าไหร่ อีกทั้งยังขายข้าว 5.3 ล้านตันให้พรรคพวกที่เสนอซื้อในราคาต่ำ

2.ลักลอบนำข้าวเปลือกและข้าวสารจากโรงสีของโครงการจำนำไปขายก่อน แล้วซื้อข้าวคุณภาพต่ำซึ่งเป็นข้าวเก่าจากโครงการจำนำในอดีต ข้าวคุณภาพต่ำ ข้าวต่างประเทศมาส่งคืนคลัง โดยมีรายงานข้าวหาย 2.98 ล้านตันในเดือนมกราคม 2556 รวมทั้งความไม่ชอบมาพากลในกรณีข้าวหายนี้คือ หลังตรวจโกดังทั่วประเทศประมาณ 1 วัน รัฐบาลสั่งให้องค์การคลังสินค้า(อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อตก.) ส่งข้าวคืนคลัง และใน 1 เดือนข้าวในคลังจากรอบ 2555/56 เพิ่ม 3 ล้านตัน ผลคือปริมาณข้าวในคลังของ อคส.มีมากกว่าปริมาณรับจำนำรอบ 1 ปี 2555/56 3.การทุจริตขายข้าวถุงของ อคส. "จากการคำนวณ นโยบายจำนำข้าวทำให้เกิดประโยชน์น้อยกว่าต้นทุนและความเสียหายการแทรกแซงการตลาดกว่า 1.23 แสนล้านบาท มูลค่ารวมของการทุจริตในการระบายข้าว 0.94-1.09 แสนล้านบาท เป็นการทุจริตจากการระบาย 7.5 หมื่นล้านบาท การทุจริตสับเปลี่ยนข้าว 3.2 หมื่นล้านบาท และการทุจริตจากข้าวหายอีก 1.9 พันล้านบาท"

นายนิพนธ์ ยังแนะทางแก้ปัญหาด้วยว่า อยากให้ทางรัฐบาลแปลงภาระขาดทุนให้เป็นหนี้การคลัง หลังจากการตรวจสอบสต็อกและจัดทำบัญชีรวมเสร็จสิ้น รัฐบาลควรออกพันธบัตรเพื่อหาเงินชำระหนี้ และจัดทำแผนการชำระเงินทั้งต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน รวมถึงกำหนดแนวทางระบายข้าวในสต็อกให้ชัดเจน เช่น การขจัดข้าวเสื่อมสภาพและการบริจาคข้าวในคลัง 30%-50% ให้ World food program เพื่อมิให้สต็อกข้าวมีผลกดดันราคาข้าวเหมือนตอนนี้ เนื่องจากข้าวเสื่อมสภาพทิ้งยังดีกว่าทำเอทานอลที่จะขาดทุนเพิ่ม รวมทั้งหากรัฐบาลคิดจะนำข้าวในสต็อกมาขายก็ยังยิ่งทำให้ราคาข้าวในตลาดต่ำลง "รัฐบาลชุดปัจจุบันควรร่วมกับ คสช.เริ่มจัดวางระเบียบใหม่ว่าด้วยการแทรกแซงตลาดแบบโปร่งใส กำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดทำบัญชีและบัญชีรวมโครงการเสนอ สนช.และสภาปฏิรูปทุกไตรมาส จัดตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนปัญหาข้าวในโกดังเพื่อหาสาเหตุและผู้รับผิดชอบ”

5.ศาลฎีกา พิพากษาจำคุก “ประชัย” 1 เดือน แต่รอลงอาญา 3 ปี คดีละเมิดศาล ชี้ไม่สั่งจำคุกจริง หวั่นกระทบ ศก.ชาติ!

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย และอดีตประธานบริษัททีพีไอ ขณะเดินทางมาศาล(5 พ.ย.)
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่นายธันว์ บุญยะตุลานนท์ เลขานุการศาลอาญา เป็นโจทก์ฟ้องนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย และอดีตประธานบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย จำกัด(มหาชน) หรือทีพีไอ เป็นจำเลยฐานละเมิดอำนาจศาล

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2550 หลังนายประชัยได้รับการประกันตัวในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องในคดีปั่นหุ้นทีพีไอซึ่งศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกนายประชัย 3 ปี โดยนายประชัยได้ให้สัมภาษสื่อมวลชนทำนองว่า ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมและศาลไม่มีอิสระในการพิจารณา อันมีลักษณะละเมิดอำนาจศาล ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1)

ซึ่งคดีละเมิดศาลดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกนายประชัย 1 เดือน ไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่านายประชัยเป็นผู้มีการศึกษาสูง มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญทางการเมือง มีวุฒิภาวะ แต่กระทำการในลักษณะดูหมิ่นศาล จึงไม่มีเหตุให้รอลงอาญา จากนั้นนายประชัยได้ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการให้สัมภาษณ์ของนายประชัยไม่มีเจตนาให้ศาลได้รับความเสียหาย ต่อมา ศาลอาญาได้ให้พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นผู้ยื่นฎีกา ตาม พ.ร.บ.อัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11(7)

ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์คดีนี้แล้วเห็นว่า การที่นายประชัยซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ปรับ 6,900,300,000 บาท ในคดีปั่นหุ้นทีพีไอ โดยไม่รอลงอาญา แล้วนายประชัยให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกรับไม่ได้แต่ก็เคารพศาล แต่คราวนี้แสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังมีอิทธิพลล้นฟ้า ครอบคลุมทั้งประเทศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ แต่ตนก็หวังว่าจะได้รับความยุติธรรมจากชั้นศาลอุทธรณ์-ฎีกาต่อไป นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำให้สัมภาษณ์ของนายประชัยดังกล่าว ถือเป็นการตำหนิเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทุกฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่ศาล เท่ากับกล่าวหาศาลชั้นต้นด้วยว่า อยู่ภายใต้อิทธิพลและการครอบงำของอดีตนายกรัฐมนตรี ตัดสินชี้ขาดคดีของนายประชัยโดยขาดอิสระ นับเป็นการใส่ความศาลชั้นต้น ทำให้ศาลชั้นต้น องค์คณะผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกเกลียดชัง เพราะมิได้ตัดสินอย่างเป็นกลาง การกระทำของนายประชัยถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล ละเมิดอำนาจศาลจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1)

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าทางธุรกิจของนายประชัยซึ่งสูงนับแสนล้านบาท แสดงว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีพนักงาน ลูกจ้างจำนวนมาก หากผู้ถูกกล่าวหาต้องรับโทษถึงจำคุก อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของชาติ จึงพิพากษากลับ ให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุก ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี

อนึ่ง สำหรับคดีปั่นหุ้นทีพีไอที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายประชัย 3 ปี และปรับ 6,900,300,000 บาทนั้น ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับให้ยกฟ้องนายประชัยกับพวกทั้งหมด ซึ่งคดีถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว เนื่องจากพนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลสูงไม่ยื่นฎีกา
กำลังโหลดความคิดเห็น